Back to home
Beautiful Home, HOME, IDEAS FOR HOME

เสน่ห์ริมน้ำแม่กลอง เรียงร้อยสู่บ้านโมเดิร์นร่วมสมัย เปิดรับวิวเบื้องหน้าอย่างเต็มสายตา



อารยอสนี โมเดิร์นกลิ่นอายพื้นถิ่น

โดดเด่นแต่ไม่แปลกแยก


อารยอสนี บ้านที่เกิดจากการซึมซับวิถีชีวิตผู้คน บ้านเรือน ทิวทัศน์ ต้นไม้ จากเอกลักษณ์ของบริบทพื้นถิ่น ถูกตีความโดยหลอมรวมด้วยวัสดุสมัยใหม่ ถ่ายทอดสู่บ้านโมเดิร์นร่วมสมัย ริมน้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งตะหง่านอวดโฉมความงดงาม สะกดสายตานักท่องท่องเที่ยว และชาวบ้านที่แล่นเรือผ่านไปมา ให้ต้องเหลียวมองทุกครั้งไป ผลงานการออกแบบจากคุณพงศ์ศักดิ์ โตนวม และคุณศุภกิจ ปานสวัสดิ์ สถาปนิกแห่ง D minus plus B ที่เข้ามาเรียงร้อยความต้องการ จวบจนบ้านลังนี้แล้วเสร็จอย่างตรงใจ

สถาปนิกเริ่มต้นบทสนทนา ถึงจุดเริ่มต้นของบ้าน อารยอสนี ให้ผู้เขียนฟังว่า “เจ้าของบ้านตั้งใจสร้างเป็นบ้านหลังหลัก เพื่ออยู่อาศัยกับครอบครัว โดยตัวเจ้าของเอง ก็ไม่ได้มีสไตล์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจง เราจึงได้มีการพัฒนาแนวคิดร่วมกันเรื่อยมา โดยมีบริบทที่ตั้งของแม่กลอง เป็นหัวใจสำคัญ”

สถาปนิกเล่าต่อว่า ครั้งแรกที่เข้าไปดูไซต์ ที่ดินนั้น เจ้าของบ้านได้พาไปนั่งเรือเพื่อซึมซับบรรยากาศ ตั้งแต่ตลาดอัมพวา เส้นทางชมหิ่งห้อย เรื่อยมาตลอดสองฟากฝั่ง จะเห็นถึง วิถีชุมชน บ้านเรือน ตลาด วัด รวมถึงทิวทัศน์ ที่สวยงาม ด้วยความโดดเด่นของทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ติดริมน้ำแม่กลอง เส้นทางที่มีเรือสัญจรผ่านไปมาตลอด จึงอยากให้บ้านมีความโปร่งโล่ง และสามารถมองเห็นวิวแม่น้ำเบื้องหน้าได้เต็มสายตา ก่อนที่เขาจะกลับมาตกผลึกความคิดร่วมกันกับพาร์ทเนอร์อีกครั้ง

ด้วยแนวคิดหลัก คือต้องการให้ตัวอาคารโดดเด่น แต่ยังมีความกลมกลืนกับความเป็นพื้นถิ่น และบริบทรอบข้าง จึงต้องให้ความสำคัญทั้งการใช้วัสดุ ที่ดูลื่นไหล และสเปซที่โปร่งโล่ง หรือแม้แต่ความเป็นไทย สถาปนิกก็ได้หยิบเอารูปแบบใต้ถุนสมัยก่อน มาปรับให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์สมัยใหม่มากขึ้น เขาได้เล่าต่ออีกว่า “ก่อนหน้านี้ เจ้าของบ้านต้องการบ้านโมเดิร์นทรงกล่อง เน้นใช้กระจกเป็นหลัก เรามองว่าภาพรวมที่ออกมากลับดูไม่เป็นบ้าน แต่ให้ความรู้สึกคล้ายโชว์รูมมากเกินไป จึงได้พัฒนารูปแบบและแนวคิดต่อ เพื่อให้ตอบโจทย์การอยู่อาศัยมากที่สุด”

สถาปัตยกรรมสองชั้น ตัวอาคารแบ่งพื้นที่ใช้งานด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งตำแหน่งด้านหลังของบ้าน ที่อยู่ติดกับริมน้ำ ก็เป็นเสมือนด้านหน้าเช่นกัน ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า เมื่อเข้ามาจากฝั่งถนน จะพบกับแนว Drop – off  ทำหน้าที่คล้ายแบ่งกั้นระหว่างพื้นที่ Public ไปสู่พื้นที่ Private ออกจากกัน ด้วยกำแพงหินภูเขา ซึ่งก็มาจากครั้งที่สถาปนิกเคยไปนั่งเรือกับเจ้าของบ้าน สองฟากฝัง ที่เป็นเขื่อนกันคลื่นกันดิน

ฉะนั้น หิน จึงเป็นหนึ่งในวัสดุ ที่ผู้ออกแบบเลือกมาใช้ คล้ายเป็นกำแพงที่เบรก เพื่อแบ่งพื้นที่การใช้งาน และกั้นพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน เพื่อความเป็นส่วนตัว และยังให้ความกลมกลืนไปกับธรรมชาติอีกด้วย

บริเวณนี้ ได้รับการจัดสรรเป็นพื้นที่จอดรถ ห้องแม่บ้าน และห้องเก็บของ เมื่อผ่านกำแพงผืนใหญ่ นำสายตาด้วยประตูไม้บานพลิก พาเข้าสู่พื้นที่ภายใน เซอร์ไพร์ทแรกที่ผู้มาเยือนจะได้พบคือ วิวแม่น้ำ จากนั้นจะเป็นพื้นที่สนามหญ้า มองผ่านสระว่ายน้ำ ที่ดูไหลลื่นต่อเนื่องคล้ายเป็นหนึ่งเดียวกับแม่น้ำผืนกว้างเบื้องหน้า

สถาปนิกเล่าต่อว่า สำหรับพื้นที่ชั้น 1 นั้น ออกแบบเป็นลักษณะ Open Plan เน้นใช้กระจก เพื่อให้เห็นถึงการเชื่อมต่อ พื้นที่ใช้งานต่าง ๆ พร้อมทั้งเปิดมุมมองไปยังวิวแม่น้ำ และรับลมให้พัดผ่านเข้ามาภายในบ้าน

ด้วยความที่เจ้าของบ้านมักมีเพื่อน ๆ มาทานข้าวที่บ้านค่อนข้างบ่อย จึงได้มีการแบ่งโซนหนึ่ง ให้เป็น Game Room ปีกซ้ายมือ จัดสรรเป็นห้องพักสำหรับแขก 1 ห้อง ส่วนขวามือ จัดสรรเป็นครัวไทย แพนทรี่ Dining Area เชื่อมต่อไปยัง Living Area

เมื่อมองทอดสายตา มองออกไปด้านนอก ผ่านกระจกใสบานใหญ่ จะพบกับคอร์ตยาร์ดใจกลางบ้าน ปลูกต้นมั่งมี ที่ให้รูปฟอร์มที่สวยงาม นอกจากนี้ยังมีระเบียงไม้ทอดยาว พาเดินไปยังแม่น้ำเบื้องหน้า ซึ่งมีลักษณะเป็นโป๊ะ ท่าเรือเล็ก ๆ ในตอนเย็น หรือในยามค่ำคืน ก็สามารถออกมารับลม ชมวิว นั่งชิลล์ริมน้ำได้ พักผ่อน หรือทำกิจกรรมสังสรรค์ได้ด้วย

หากถามถึงเรื่องความร้อนที่เข้าสู่ภายในอาคาร สถาปนิกได้เล่าต่ออีกว่า “เนื่องจากไซท์นี้ ฝั่งที่เป็นกระจกจะตั้งอยู่ทางตะวันออก ซึ่งเป็นทิศที่วิวดี ไม่ร้อนเท่ากับฝั่งตะวันตก และในระหว่างวันจะมีลมพัดผ่านตลอด เนื่องจากตัวบ้านติดกับแม่น้ำ จึงไม่มีปัญหาเรื่องของยุง ช่วงกลางวันจึงใช้แทบไม่ต้องเปิดแอร์เลย”

สำหรับพื้นที่ชั้น 2 ของบ้าน วัสดุหลัก ๆ จะเน้นเป็นไม้สัก สถาปนิกเล่าว่า “เหตุผลเดียวกับเมื่อครั้งเราไปนั่งเรือกับเจ้าของบ้าน ระหว่างสองฟากฝั่งที่เรือแล่นไปนั้น สิ่งที่เห็นคือเกิดแพทเทิร์นที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ หรือเขื่อนกั้นคลื่น โดยเฉพาะบ้านเรือนสองฝั่ง โครงสร้างส่วนใหญ่จะเป็นไม้”

“เราจึงดึงภาพของความเป็นพื้นถิ่น นั่นคือวัสดุอย่างหิน และไม้ เชื่อมทุกอย่างใหม่ให้เกิดความร่วมสมัย ด้วยวัสดุที่เป็นกระจก สะท้อนความโมเดิร์นที่หลอมรวมเข้ากันอย่างลงตัว อีกทั้งบานกระจกใส ยังทำหน้าที่เชื่อมต่อกับบริบทโดยรอบ ทั้งธรรมชาติ ผืนน้ำ ลมและแดด ได้อย่างลื่นไหล” สถาปนิกยังเสริมขึ้นอีกว่า หากมองจากอาคารด้านบน มุมมองที่เห็นคล้ายเป็นก้อนแมส ลักษณะเป็นไม้ ที่เหมือนกำลังค่อย ๆ แตกตัวแยกออกจากกัน ซึ่งคล้ายกับทำหน้าที่ห่อหุ้มผนังกระจกไว้นั่นเอง

 

ในส่วนของฟังก์ชันในชั้นนี้ ค่อนข้างเรียบง่าย ได้รับการจัดสรรเป็นห้องนอนทั้งหมด โดยทุกห้องถูกวางผัง ให้หันหน้าเข้าสู่วิวแม่น้ำ ทำให้ไม่ว่าจะอยู่บนเตียง หรือห้องน้ำ ก็สามารถมองเห็นเวิ้งน้ำเบื้องหน้าได้อย่างเต็มสายตา ขณะที่ฝั่งด้านหลัง ออกแบบทางเดินเป็นแนวตรง จัดสรรเป็นห้องเก็บของและห้องซักรีด เป็นอีกก้อนที่ตั้งอยู่เหนือห้องแม่บ้าน

ไฮไลท์ที่ชวนสะกดทุกสายตา อยู่ที่ MASTER BEDROOM ที่ดีไซน์ยื่นยาวออกมา จากตัวบ้านกว่า 5 เมตร สถาปนิกบอกเพิ่มเติมกับผู้เขียนว่า บ้านหลังนี้ จะมีส่วนที่ยื่นออกมา 5 เมตร อยู่ด้วยกัน 3 มุม ซึ่งจะเป็นห้องนอนทั้งหมด

สำหรับห้องมาสเตอร์นี้ ค่อนข้างจะพิเศษขึ้นมา เราอยากให้อารมณ์ก่อนจะเข้าไปใช้งานห้องนี้ คล้ายกับเดินผ่านสะพาน ข้ามน้ำ จึงได้ออกแบบทางเดินเล็ก ๆ ขึ้นมา และเมื่อเปิดประตูเข้ามายังภายใน ยิ่งให้อารมณ์คล้ายกำลังลอยอยู่เหนือน้ำ นอกจากจะสัมผัสกับวิวเบื้องหน้าได้อย่างใกล้ชิดขึ้นแล้ว ส่วนนี้ยังช่วยบดบังแสงแดด ที่ส่องเข้ามากระทบอาคารชั้นล่างได้อีกทางด้วย

ปัจจุบัน เจ้าของบ้านเอง ก็ได้เล่าให้สถาปนิกฟังว่า ”เนื่องจากบริเวณนี้ เป็นเส้นทางที่ล่องเรือชมหิ่งห้อย ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมา ก็มักจะแวะมาถ่ายรูปกันเป็นประจำ” บ้านหลังนี้จึงกลายเป็นจุดสนใจ ด้วยความโดดเด่นของงานสถาปัตยกรรม ที่ดูถ่อมตัวไปกับวิถีแห่งสายน้ำ

ซึ่งหากถามถึงความเป็นส่วนตัวแล้ว สถาปนิกเสริมว่า สำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้อาศัยจะอยู่ชั้นล่าง ที่เปิดโล่งหมด อารมณ์คล้ายใต้ถุนบ้านไทย ที่ใครผ่านไปผ่านมา ก็ต้องทักทายโบกมือ เช่นกันในยามที่นั่งท่องเที่ยวนั่งเรือผ่านก็จะมีโบยมือทักทายกัน ซึ่งก็เป็นภาพที่คุ้นชินไปแล้ว หรือในเวลาที่เจ้าของบ้านต้องการความเป็นส่วนตัว ก็เลือกที่จะปิดม่านได้ในเวลาที่ต้องการ


Project : บ้าน อารยอสนี
Owner : คุณชัยวัฒน์ อารยอสนี
Architect : คุณพงศ์ศักดิ์ โตนวม และคุณศุภกิจ ปานสวัสดิ์ สถาปนิกจาก D minus plus B
Structure : Chanachat Apichartyakul (C-Design)
Photographer : Nattakit Jeerapatmaitree
Facebook Comments
By Oom, 05/06/2023
Leave a Reply
Change language:
Instagram API currently not available.
Instagram API currently not available.