Back to home
Beautiful Home, GARDEN, HOME, Home Garden, IDEAS FOR HOME, Material

บ้านพักตากอากาศ กลางป่าแม่ริม วิวทิวเขา และบ่อน้ำ


บ้านชั้นเดียว ตอบโจทย์วัยเกษียณ

เน้นออกแบบให้ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติมากที่สุด


บ้านพักตากอากาศชั้นเดียว สไตล์รีสอร์ท ตั้งอยู่อย่างเรียบง่าย อ่อนน้อมกลางป่าแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ กับการออกแบบที่เน้นเปิดรับความสุนทรีย์ เพื่อดื่มด่ำกับธรรมชาติเบื้องหน้าแบบส่วนตัว ผ่อนคลายไปกับวิวทิวเขา และบ่อน้ำกว้าง ในทุก ๆ กิจกรรม คล้ายพักผ่อนในรีสอร์ท โดยมีคุณณัฐศรุต มะแส สถาปนิกจาก NM Design Studio เข้ามาสร้างสรรค์บ้านหลังนี้ ให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้อยู่อาศัย ผ่านแนวคิดที่ยังคงเคารพต่อบริบทโดยรอบของพื้นที่ ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์หลักของโปรเจกต์แห่งนี้

สถาปนิกหนุ่ม เริ่มต้นบทสนทนาถึงโจทย์หลักในการออกแบบ พร้อมการวางผังอาคาร ให้ผู้เขียนฟังว่า “บ้านหลังนี้ ตั้งอยู่ที่แม่ริม ลักษณะที่ดินเป็นเนินเขา มีวิวภูเขา และนาขั้นบันได พร้อมกับบ่อสระน้ำ จะเห็นว่าตำแหน่งที่ตั้งของบ้าน ถูกรายล้อมไปด้วยธรรมชาติอันเงียบสงบ จากโจทย์ที่ได้รับ เจ้าของบ้านต้องการสร้างบ้านพักตากอากาศ สำหรับใช้เวลาในช่วงวันหยุดกับครอบครัว และวางแผนเป็นบ้านพักหลังเกษียณ และเนื่องจากเจ้าของบ้านค่อนข้างมีอายุ จึงออกแบบเป็นบ้านชั้นเดียว มีหัวใจสำคัญ คือต้องการให้ทุกส่วนภายในบ้าน ได้รับประโยชน์จากวิวโดยรอบได้มากที่สุด โดยที่การใช้งานในแต่ละส่วนก็ยังคงความเป็นส่วนตัวเช่นกัน”

ฉะนั้นการออกแบบจึงให้ความสำคัญกับการพักผ่อน ที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ตามใจความหลัก ที่อาจกล่าวได้ว่า พื้นที่เดียวกัน วิวเดียวกัน ทุกห้องได้รับประโยชน์เหมือนกัน ซึ่งในแต่ละห้องก็จะมีความเป็นส่วนตัว ไม่ยุ่งเกี่ยวซึ่งกันและกัน สถาปนิกจึงใช้วิธีการ เลือกตำแหน่งที่วิวดีที่สุดของไซท์งาน นั่นคือส่วนที่มองเข้าไปภายในพื้นที่ มีบ่อสระน้ำธรรมชาติของเดิมที่ถูกขุดไว้ วิวภูเขา ผืนป่า และนาขั้นบันได วางผังโดยแผ่พื้นที่การใช้งานหลัก กระจายในแนวราบ วางเป็นแนวยาวขนานไปกับวิวเบื้องหน้า ทำให้ทุกห้องได้รับประโยชน์จากวิวเดียวกันในแบบส่วนตัว โดยไม่รบกวนกันและกัน อันเป็นแนวความคิดที่สถาปนิกได้วางไว้

จากนั้นเรื่อง ความเป็นส่วนตัว สถาปนิกใช้วิธีการวางอาคารซึ่งมีห้องค่อนข้างเยอะแยกจากกัน หลัก ๆ ประกอบด้วย 4 ห้องนอน 1 ห้องนั่งเล่น ห้องพระ ห้องแม่บ้าน พร้อมทั้งส่วนเซอร์วิส ห้องซักล้าง เพื่อเพิ่มสเปซความเป็นส่วนตัวของกันและกันให้มากที่สุด ในเรื่องของการจัดวาง เขาจึงเลือกวางพื้นที่ใช้งานหลัก ให้อยู่ฝั่งที่ติดกับวิว โดยให้ส่วนเซอร์วิสวางตัวอยู่ด้านหลังของบ้าน ซึ่งเป็นฝั่งที่อยู่ติดถนน เป็นส่วนที่เจ้าของบ้านไม่ได้เข้าไปใช้งาน อย่างห้องแม่บ้าน ห้องครัวไทย และห้องซักล้าง นั่นเอง

สถาปนิกเล่าเพิ่มเติมให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า “หากมีคนขับรถผ่านไปผ่านมา เมื่อมองเข้าจะเห็นเพียงด้านหลังบ้าน ทำหน้าที่ช่วยบล็อก ให้คนที่อยู่ภายนอกไม่สามารถมองเข้ามาเห็น ส่วนที่มีการใช้งานหลักขณะนั้น อย่างห้องนอน หรือห้องนั่งเล่น ทำให้ผู้อาศัยสามารถใช้งานในบ้านได้ทั้งวัน มองเห็นวิวทั้งวัน และมีความเป็นเป็นสว่นตัวทั้งวัน เช่นกัน”

เมื่อถามถึงการใช้งานแต่ละส่วนภายในบ้าน สถาปนิกได้เล่าต่อว่า “บ้านหลังนี้หลัก ๆ แล้ว ศูนย์กลางของบ้าน คืออาคารหลักก้อนใหญ่ ซึ่งจัดสรรเป็นพื้นที่ Living Space ประกอบด้วยห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ครัวแพนทรี เมื่อผู้อาศัยเดินเข้าสู่ตัวบ้าน จะต้องผ่านส่วนนี้ ซึ่งก็เป็นเหมือนจุดเริ่มต้น ก่อนที่จะกระจายไปปีกซ้าย หรือปีกขวาก็ตาม โดยจุดที่กระจายไปนั้น ปีกขวาจะเป็นอาคารกลุ่มเล็ก จัดสรรเป็น Master Bedroom ลักษณะเป็นอาคารหน่วยเดียว อันเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเจ้าของบ้าน ส่วนห้องเล็ก ของลูก ๆ ก็จะอยู่ก้อนเดียวกับอาคารหลัก”

อาจกล่าวได้ว่า การวางพื้นที่การใช้งานของบ้าน สถาปนิกจัดวางแยกก้อนอาคาร แบ่งฟังก์ชันอย่างชัดเจน ทั้งพื้นที่ครอบครัว และพื้นที่ส่วนตัว และส่วนเซอร์วิส โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อาคารหลัก เป็นจุดเชื่อมโยงอาคารปีกซ้ายและขวา มีระเบียงทางเดินทำหน้าที่เชื่อมทุกสเปซเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งก็เป็นการสร้างความเป็นส่วนตัวในแต่ละห้อง ความเรียบร้อยในการใช้งาน และได้รับวิวแบบส่วนตัว การโฟลว์ของลม ในทุก ๆ ห้อง ที่ไม่รบกวนกันและกันด้วย

สถาปนิก ยังเล่าต่อว่า “ภาพลักษณ์อาคาร ออกแบบมาในแนวโมเดิร์นทรอปิคอล ผสมผสานกับกลิ่นอายเส้นสายของความเป็นบ้านสวนท้องถิ่น ด้วยหลังคาทรงจั่ว และแมททีเรียลที่ใช้ เพื่อให้อาคาร มีความอ่อนน้อม กลมกลืนไปกับธรรมชาติ เน้นให้อาคารจัดวางแบบเป็นโซน แบบมีระยะ ไม่อัดแน่นเป็นก้อน ทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นส่วนตัว การโอบรับธรรมชาติ และความโปร่งโล่งสบายให้กับตัวบ้าน”

โครงสร้างหลักของบ้าน เลือกใช้ปูนเปลือยและไม้ สถาปนิกเล่าเพิ่มว่า “กว่า 90% ที่เห็นนั้น เลือกใช้เป็นไม้เทียมทั้งสิ้น ด้วยโจทย์ของเจ้าของบ้านที่ชอบงานไม้ แต่ก็กลับมาพักอาศัยเป็นครั้งคราวเท่านั้น ก็เลยไม่อยากซ่อมบำรุงเยอะ เช่นเฟรมหน้าต่างทุกจุด วัสดุที่เป็นไม้ประกบตกแต่งตามเสา จะใช้เป็นอลูมิเนียมลายไม้ทั้งหมด

หรือแม้กระทั้งพื้นระเบียง ก็ใช้เป็นไม้เทียมไฟเบอร์ซีเมนต์ นอกจากจะดูแลง่าย ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องปลวกและแมลงด้วย ซึ่งบ้านหลังนี้จะมีไม้จริงแค่ประตูบานทึบเท่านั้น” ภาพรวมที่ออกมา บ้านหลังนี้จึงดูเป็นบ้านสวน ที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ แต่จริง ๆ แล้ว สถาปนิกเลือกใช้วัสดุทดแทนที่ดูแลง่าย สามารถอยู่ได้ในระยะยาว ไม่ต้องซ่อมบำรุงบ่อยครั้ง ซึ่งก็ลงตัวเข้ากับความต้องการของเจ้าของบ้านเป็นอย่างดี

การตกแต่งภายในเป็นไปอย่างเรียบง่าย เพื่อให้การมาพักผ่อนเต็มไปด้วยความผ่อนคลาย และด้วยลักษณะเป็นบ้านชั้นเดียว มีพื้นที่แผ่กว้าง ทำให้หลังคา จำเป็นต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างเยอะ สถาปนิกจึงเลือกวัสดุที่มีน้ำหนักเบา อย่างหลังคาชิงเกิ้ลรูฟ รองด้วยไม้อัด OSB ปิดทับด้วยแผ่นยิปซัม เพื่อความเรียบร้อย

ในส่วนชายคาที่ยื่นยาวตรงระเบียง ผู้ออกแบบก็ได้ปล่อยเปลือย เพราะเนื้อ OSB ลักษณะเป็นเสี้ยนไม้มาอัดกัน จึงให้อารมณ์ของวัสดุธรรมชาติ ดูกลมกลืนไปกับธรรมชาติโดยรอบ ทั้งยังให้คุณสมบัติกันชื้น กันแดด กันความร้อน กันฝน ได้อยู่แล้ว

ไฮไลท์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ ห้องพระ ด้วยความที่เจ้าของบ้านชอบสวดมนต์ ไหว้พระ จึงต้องการห้องทำสมาธิที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัว จากโจทย์ที่ได้รับคือต้องการห้องที่สามารถนั่งสมาธิ และปฏิบัติธรรมได้ ดังนั้นแล้วห้องพระของบ้านหลังนี้ จึงดีไซน์แยกออกมาเป็นหนึ่งอาคาร สถาปนิกเสริมว่า “สำหรับห้องพระ เจ้าของต้องการให้มีความพิเศษ ทำให้ต้องแยกเดี่ยวออกมา พร้อมการออกแบบที่เปิดโล่ง ด้วยหน้าต่างบานกระทุ้งโดยรอบ ทำให้สามารถรับวิวได้รอบด้าน ทั้งยังเปิดรับลมโฟลว์ได้เต็มที่ เมื่อเข้ามาใช้งาน ก็ยิ่งเกิดความสงบร่มเย็น ไม่มีใครมารบกวน สามารถทำกิจกรรมส่วนตัวได้เต็มที่ มีระยะสเปซแยกออกมาจากส่วนที่ใช้งานอื่น ๆ

บ้านหลังนี้ พยายามที่จะออกแบบให้ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติมากที่สุด สังเกตว่าห้องพระ ไม่ได้มีการติดเครื่องปรับอากาศ หากต้องการรับลมในวันที่อากาศดี ก็สามาถเปิดหน้าต่างทั้งหมดพร้อมกัน แต่ถ้าวันไหนอยากปิด ก็ยังสามารถมองเห็นวิว รับบรรยากาศโดยรอบได้เช่นกัน

สำหรับการวางผังอาคาร มีการคำนึงถึงแดดและลมหรือไม่นั้น สถาปนิกเล่าต่อว่า “ด้วยความที่ตั้งของไซท์งานนั้น ทิศอาจไม่เอื้อ 100% ในการวางอาคาร เนื่องจากด้านที่บ้านหันหน้าไปทางวิวนั้น เป็นตำแหน่งทิศตะวันออก หลังบ้านเป็นทิศตะวันตก จุดที่เป็นห้องพระคือทิศเหนือ ก็คือหากวางตามทิศจริง ๆ อาจจะไม่ได้เป๊ะ แต่ว่าการออกแบบนั้น เราจะใช้วิธีแก้ปัญหาโดยการวางสเปซบ้าน แต่ละกลุ่ม ให้แยกออกจากกัน

“ฉะนั้นต่อให้เราหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ลมตะวันออกฉียงเหนือ ก็ยังพัดผ่านเข้ามาได้ โดยที่ไม่มีสิ่งใดขวาง มองกลับกันหากบ้านหลังนี้วางติดกันเป็นหลังเดียว ปัญหาที่ตามมาคือ ห้องนี้อาจไม่ได้รับลม ห้องนี้ลมไม่โฟลว์ เพราะมีอีกห้องขวาง การแก้ปัญหา พอเราแยกห้องออกเป็นหน่วย ทำให้บ้านทุกก้อน ทุกหลัง ลมก็ยังพัดผ่าน อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่มีด้านไหน ที่เป็นด้านตายหรือด้ายทึบ”

หากสังเกตก็คือ ตัวบ้านโดยรอบ จะมีหน้าต่างบานใหญ่ในทุกฝั่ง เพื่อเปิดกว้างรับลมได้ทุกทิศทาง ส่วนเรื่องของแดด สถาปนิกใช้วิธีออกแบบโดยยื่นชายคาออกมาจากตัวบ้าน ภาพรวมที่ออกมานั้น บ้านจึงดูครอบไปด้วยระเบียงตลอดแนว ทำให้ช่วงที่แดดเช้า แดดบ่ายจัด หรือมีแสงแดดทแยง ก็จะไม่เข้ามากระทบในตัวบ้าน ทำให้บ้านหลังนี้อยู่ได้ทั้งวัน สว่างทั้งวัน ลมโฟลว์ได้ทั้งวัน

บรรยากาศของความผ่อนคลายท่ามกลางบริบทของธรรมชาติ และความร่มรื่นของพรรณไม้สีเขียว กับกลิ่นอายคอตเทจ ที่เจ้าของบ้านชื่นชอบ ถูกเติมเต็ม โดยทีมแลนด์สเคปที่เข้ามาตกผนึกความคิดร่วมกันกับสถาปนิกและเจ้าของบ้าน ภายใต้แพลนหลัก ๆ ด้วยความที่เนื้อที่มีขนาดใหญ่ แต่บ้านจะตั้งอยู่แค่ส่วนหนึ่ง การออกแบบสวนจึงวางคอนเซ็ปต์ให้พื้นที่ทั้งผืน มีการเคลื่อนไหวของกิจกรรมร่วมกับตัวบ้าน โดยใช้วิธีวางทางเดิน ปูด้วยแสตมป์คอนกรีต โดยรอบของไซท์ ตั้งแต่ตัวบ้าน ไปจนถึงด้านล่างสุด ที่สามารถเดินลงไปชมวิว ออกกำลังกาย วิ่งจ็อกกิงโดยรอบบ้านได้ ซึ่งก็เป็นไปตามโจทย์ที่ต้องการให้พื้นที่ทั้งผืน มีการใช้งานร่วมไปกับกิจกรรมของเจ้าของบ้านได้อย่างตรงใจ


Project : Maerim House
Location : Maerim, Chiangmai
Architect : NM Design Studio
Photographer : Ratita studio
Facebook Comments
By Oom, 03/05/2023
Leave a Reply
Change language:
Instagram API currently not available.
Instagram API currently not available.