Back to home
Beautiful Home, HOME, IDEAS FOR HOME, Makeover

รีโนเวทบ้านปูนสองชั้นสุดทึบตัน ให้โปร่งโล่งเข้ากับยุคสมัย ผสานความเป็นพื้นถิ่นอีสาน อย่างลงตัว


เชื่อมสถาปัตยกรรมและที่ว่างสู่ RW House

 โดดเด่นด้วยฟังก์ชันที่เพิ่มขึ้น เพื่อตอบโจทย์สมาชิกในบ้าน


จากบ้านหลังเก่าที่อยู่อาศัยมาหลายสิบปี เมื่อกาลเวลาล่วงเลยผ่าน ความต้องการก็ย่อมเปลี่ยนผันไป ผู้เป็นเจ้าของจึงเลือกปรับปรุงดีไซน์บ้านให้สวยงามน่าอยู่ พร้อมขยับขยายต่อเติมเพิ่มฟังก์ชันการใช้งาน ให้ลงตัวเข้ากับรูปแบบการใช้ชีวิต รองรับการพักผ่อนและพื้นที่ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันของสมาชิกในครอบครัว สู่บ้าน RW House ที่ได้รับการปรับโฉมใหม่ในสไตล์ Modern Nordic ผสานความเป็นพื้นถิ่นอีสานร่วมสมัย ในจังหวัดขอนแก่น ด้วยผลงานของทีมสถาปนิก จาก D compose architect ที่เข้ามารับหน้าที่สานต่อความต้องการของเจ้าของบ้าน ได้อย่างสมบูรณ์ตรงใจ

ด้วยรูปแบบเดิมก่อนได้รับการรีโนเวต ลักษณะเป็นบ้านปูนสองชั้น หลังคาปั้นหยา ค่อนข้างดูทึบตัน แสงสว่างและลมธรรมชาติเข้าถึงได้น้อย ทำให้สเปซภายในอึดอัดไม่โปร่งโล่ง ตัวอาคารดูขาดมิติไม่มีความโดดเด่น มุมมองจากภายนอกเข้ามายังภายในแทบมองไม่เห็นตัวบ้าน เนื่องจากตั้งอยู่ลึกห่างจากถนนหน้าบ้าน ดังนั้นการรีโนเวตครั้งนี้ ทีมสถาปนิกจึงต้องออกแบบโดยคำนึงถึงลักษณะเด่นเป็นสำคัญ โดยมีโจทย์อยู่ว่าจะเพิ่มจุดสนใจให้กับตัวอาคารได้อย่างไร!?

เมื่อเก็บข้อมูลของเจ้าของบ้านจนทราบถึงความต้องการ บวกกับพื้นที่ว่างภายในบริเวณบ้านที่มีอยู่ ทีมสถาปนิกจึงได้วางผังแบ่งสัดส่วนมุมมองต่างๆ ให้ยังคงมีความสัมพันธ์กับบ้านเดิม โดยยึดแนวโครงสร้างเดิมเป็นตัวเชื่อมกับไอเดียใหม่ จากนั้นผสานดีไซน์สไตล์ Modern และ Nordic เข้าไปเพื่อให้ภาพลักษณ์ของบ้านดูทันสมัยขึ้น

สถาปนิกได้ถ่ายทอดเรื่องราวของบ้านปูนหลังเก่า ตีความใหม่สู่บ้านสไตล์โมเดิร์นให้ความเรียบเท่ ผสมผสานด้วยเอกลักษณ์สไตล์นอร์ดิก บนพื้นที่ใช้สอยรวมต่อเติมอาคารและพื้นทางเดินทั้งหมด 350 ต.ร.ม. กับความโดดเด่นของรูปทรงอาคารภายนอก ที่ผู้ออกแบบตกผลึกออกมาได้อย่างมีเสน่ห์  ผ่านวัสดุที่ผสมผสานระหว่างผนังก่ออิฐฉาบเรียบเซาะร่อง ไม้ตกแต่งผนังโมดิน่า จาก SCG ระแนงเหล็กกล่องขนาด 1×1 นิ้ว แนวตั้ง ทำสีพ่น เพื่อให้ได้โทนสีเข้ากับตัวบ้าน โดย Mood & Tone ให้ความผ่อนคลายด้วยเฉดสีเทา จากสว่างไปถึงเข้ม เพื่อให้การมองเข้ามายังตัวอาคารไม่แสบตาจนเกินไป เนื่องจากหน้าบ้านหันไปทางทิศใต้ทำให้โดนแดดส่องตลอดเวลา

มุมมองทางเข้าหลัก คืออีกส่วนสำคัญที่ต้องเปลี่ยนโฉมใหม่ ให้เกิดความน่าสนใจ เน้นเปิดมุมมองให้บ้าน ไปพร้อมกับการสร้างความเป็นส่วนตัว ซึ่งแมสและฟอร์มอาคารเดิมลักษณะหลังคาทรงปั้นหยา ดูไม่เข้ากับรูปแบบบ้านสมัยใหม่ สถาปนิกจึงมีแนวคิดที่จะปรับรูปทรงให้สอดคล้องกับความทันสมัย แต่ยังต้องมีข้อกำหนดจากโครงสร้างเดิม ดังนั้นจึงนำรูปแบบของหลังคาทรงจั่วสไตล์นอร์ดิกมาผสมผสาน เพื่อแก้ไขทรงหลังคาเดิม เสริมด้วยช่องเปิดที่ดีไซน์ด้วยแผ่นเหล็กบาง เปลี่ยนภาพลักษณ์ของบ้านปูนหลังเดิม ให้กลายเป็นบ้านหลังใหม่ที่สวยทันสมัย

ขณะเดียวกันชายคาที่ยื่นลอยตัวออกมาบริเวณทางเข้าหลัก ก็ให้ความรู้สึกคล้ายกำลังรอต้อนรับผู้มาเยือน ในส่วนนี้ได้ถูกคิดขึ้นมาจากการเว้นร่องของฝ้าไม้ ที่ต้องการให้เส้นสายดูมีความต่อเนื่องกัน สถาปนิกยังบอกไว้ว่า เป็นเหมือนกับงานทดลองตกแต่งชายคาในรูปแบบใหม่ที่แปลกตาไปจากเดิมด้วย

ภายใต้โจทย์การเพิ่มพื้นที่ใช้สอย กับความต้องการของเจ้าของบ้านที่อยากต่อเติมห้องนอนใหญ่บริเวณชั้น 2 พร้อมเพิ่มพื้นที่นั่งเล่นพักผ่อน พื้นที่รับแขก รวมถึงปรับพื้นที่จอดรถเดิมให้เป็นห้องออกกำลังกาย และขยายโรงจอดรถให้กว้างขึ้นเพื่อให้จอดรถได้มากขึ้น ทั้งหมดคือหัวใจหลักที่เจ้าของบ้านต้องการ ด้วยพื้นทีว่างที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์ จึงสามารถเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานได้อย่างคุ้มค่า

สำหรับแนวคิดการจัดวางองค์ประกอบ เชื่อมสถาปัตยกรรมและพื้นที่ว่าง ให้สอดสัมพันธ์กันนั้น สถาปนิกเล่าว่า “เริ่มด้วยการเพิ่มฟังก์ชันห้องนอนขนาดใหญ่ ที่ยังคงเชื่อมจากตัวบ้านเดิม ด้วยข้อกำหนดบ้านเดิมที่มีทางเดินเชื่อมแต่ละห้องอยู่ที่ชั้น 2 เพื่อเป็นการเพิ่มมิติให้ตัวอาคารโดดเด่นขึ้น ผู้ออกแบบจึงยกห้องนอนขึ้นไว้บนชั้น 2 ฉะนั้นประโยชน์ใช้สอยที่ตามมาคือ ที่ว่างอย่าง ใต้ถุนบ้าน โดยมีแนวคิดการออกแบบที่ยังคงกลิ่นอายของบ้านอีสานสมัยก่อน ปรับให้มีความโมเดิร์นร่วมสมัยขึ้น แต่ยังคงใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์ ตามวิถีเดิมที่มีมา ไม่ว่าจะนั่งเล่น ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่รับแขกผู้มาเยือนด้วย”

การจัดสรรฟังก์ใช้งานเป็นไปอย่างชัดเจนและลงตัว โดยมีการก่อม้านั่งปูนกรุหินกรวดล้างสีดำ ปูด้วยไม้จริงให้อารมณ์คล้ายนั่งบนแคร่ อยู่ใต้ถุนบ้าน เมื่อมองขึ้นไปยังฝ้าด้านบน ดูมีมิติด้วยระแนงไม้จริง อบอุ่นคล้ายกับท้องพื้นในบ้านสมัยก่อน พร้อมตกแต่งด้วยโคมไฟรางสีวอร์มไวท์เสริมเข้าไปบริเวณช่องว่าง ยิ่งให้ความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน อีกทั้งโทนสีของฝ้าเพดานก็เลือกสีเทาสว่างไปถึงเข้มเช่นกัน ซึ่งผู้ออกแบบต้องการให้ฝ้าระแนงไม้จริงเป็นสีธรรมชาติมากที่สุด จึงเลือกใช้ฝ้าสีเข้มมาตัดกับโทนของงานไม้จริงที่ฝ้าและผนังนั่นเอง ทำให้การมองเข้ามาดูซอฟต์และไม่แสบตาจนเกินไป

จะเห็นว่าพื้นที่ใต้ถุน ถูกเชื่อมโยงเข้ากับห้องนั่งเล่นภายในบ้านเดิมทั้ง 2 ส่วน อย่างลื่นไหล ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธ์ระหว่างคนในบ้านและนอกบ้าน ไม่ว่าอยู่มุมไหนก็สามารถมองเห็นกันได้

ขณะที่ห้องนั่งเล่นภายในบ้าน ได้รับการปรับเปลี่ยนจากหลังคาและฝ้าเพดานยกสูง ด้วยการยกหลังคาให้เป็นรูปทรงนอร์ดิกและปรับฝ้าเพดานด้านในจากเรียบๆ ให้มีลักษณะเป็นทรงจั่ว พร้อมทั้งเปลี่ยนโทนสีห้องและปูพื้นใหม่ให้ดูอบอุ่นมากขึ้น โดยเจาะช่องเปิด เพื่อเชื่อมพื้นที่ภายในกับบริเวณใต้ถุนให้ต่อเนื่องถึงกัน อีกทั้งยังได้ขยายช่องกระจก เพื่อให้สามารถมองเห็นทัศนียภาพภายนอกได้อย่างเต็มตา สำหรับการตกแต่งยังคงเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่เป็นของเดิม

เชื่อมจากใต้ถุนบ้าน เป็นพื้นที่กลางแจ้ง ส่วนนี้จะพบกับมุมสระว่ายน้ำขนาดกะทัดรัด สถาปนิกเล่าว่า เป็นความตั้งใจจากเจ้าของบ้านที่อยากมีมุมนี้ให้ลูกชายวัย 5-6 ขวบได้เล่นน้ำที่บ้านด้วยกันกับคุณพ่อ โดยไม่ต้องออกไปเล่นที่อื่นไกล ข้างกันนั้นก็ได้จัดสรรเป็นโซนอาบน้ำ วางอ่างอาบน้ำ ได้อย่างพอเหมาะพอดี

ซึ่งมุมนี้ก็เป็นความความต้องการของเจ้าของบ้านเช่นกัน สำหรับนอนแช่กายเพลินๆ ในวันว่างหรือวันที่อากาศดีๆ ที่จะได้พักผ่อนบางช่วงเวลา อีกทั้งยังมีต้นแคนาที่เป็นของเดิมอยู่แล้ว ยิ่งช่วยให้ร่มเงา และสร้างบรรยากาศดีๆ ผู้ออกแบบจึงเลือกตำแหน่งนี้ ให้กับเจ้าของบ้าน ทั้งยังเป็นมุมที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัวจากสายตาคนภายนอกที่มองเข้ามา โดยได้ดีไซน์ผนังกั้นที่ช่วยพรางสายตาอีกขั้น ด้วยอิฐมวลเบา ทาสีเทา เพื่อให้ล้อไปในทิศทางเดียวกับตัวบ้าน

เนื่องจากเจ้าของบ้านชื่นชอบการออกกำลังกายและซบซาวหน้าเป็นอย่างมาก ฉะนั้นอีกหนึ่งความต้องการของเขาคือ การปรับโฉมพื้นที่โรงจอดรถเดิม ต่อเติมเพื่อให้เป็นห้องออกกำลังกาย โดยยังคงต้องการใช้โครงสร้างอาคารเดิม สถาปนิกได้ออกแบบให้อาคารจอดรถเก่าต่อเนื่องเข้ากับอาคารจอดรถใหม่ กับภาพที่ดูกลมกลืนไปด้วยกันเสมือนออกแบบขึ้นใหม่ยังไงยังงั้น โดยมีขนาดอยู่ที่ 5×17 เมตร (รวมแนวหลังคา 7×20 เมตร)

ลักษณะเป็นอาคารแนวยาวนำสายตาเข้าสู่อาคารชั้น 2 ระหว่างทางสัญจรนั้น ได้เพิ่มมิติและความสวยงาม เสริมให้ส่วนนี้ดูโดดเด่นด้วยระแนงเหล็กกล่อง วางในแนวเฉียง ที่ช่วยบังสายตาจากคนภายนอก ที่จะมองทะลุเข้ามาภายในห้องออกกำลังกาย  และพื้นที่กิจกรรมอื่นๆ ของสมาชิกในบ้าน ได้อีกทาง ทั้งนี้ยังช่วยลดทอนความยาวของอาคารที่อาจดูยาวเกินไป เพิ่มลูกเล่นระหว่างทางเดินเพื่อไม่ให้ดูเหมือนเดินไกล พร้อมทั้งเพิ่มความน่าสนใจให้กับแมสอาคาร ในยามสายแสงแดดสาดส่อง เกิดเป็นเงาตกกระทบอาคารอย่างมีมิติ อีกทั้งในยามค่ำคืน เมื่อเปิดไฟยังวัสดุยังดูโปร่งแสงสวยงามมีสไตล์ไม่น้อย

หลังจากจัดวางองค์ประกอบตัวอาคารแล้ว ผู้ออกแบบก็ได้เพิ่มความสดชื่นมีชีวิตชีวาให้บ้าน และเบรกความแข็งกระด้างของอาคาร ด้วยการสอดแทรกต้นไม้ลงไปในพื้นที่ อย่างต้นกันเกลาในกระถางหินล้างดำกลางบ้าน และต้นจิกน้ำ ระหว่างหน้าจั่วและทางเข้าบ้านหลัก ยิ่งเพิ่มมุมมองความเป็นธรรมชาติ สร้างความสบายตา ให้สมาชิกในบ้านได้เป็นอย่างดี

จากบ้านปูนหน้าตาธรรมตาทั่วไป ที่ค่อนข้างทึบตัน ได้รับการแปลงโฉมใหม่ จนแทบไม่หลงเหลือเค้าโครงเดิมให้เห็น ถูกแทนที่ด้วยมุมมองที่ทันสมัย สอดแทรกความเป็นพื้นถิ่นอีสาน พร้อมดีเทลของงานดีไซน์ ที่สร้างเอกลักษณ์ให้บ้านหลังนี้ดูโดดเด่นมากขึ้น พร้อมการดีไซน์เพื่อแก้ปัญหาบ้านหลังเดิมที่ค่อนข้างอึดอัด ให้เกิดความโปร่งโล่ง อยู่สบายมากที่สุด ที่สำคัญคือฟังก์ชันการใช้งานที่เพิ่มขึ้น สอดรับกับความต้องการของสมาชิกภายในบ้านได้อย่างลงตัวเลยทีเดียวกับ RW House หลังนี้


Renovation project : RW House
Location : Khon Kaen Thailand
Area : 350 sq.m.
Design : 2020
Completion : 2022
Architect Designer : D compose architect
Interior Designer : D compose architect
Construction : D compose architect
Structural Design : Pilawan Piriyaphokai
Photo : Pongthawat Panthong
Facebook Comments
By Oom, 16/10/2022
Leave a Reply
Change language:
Instagram API currently not available.
Instagram API currently not available.