กรมทรัพย์สินทางปัญญา ใช้การออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยกระดับสินค้า GI สร้างภาพลักษณ์ใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (GI) ระดับชาติและสากล
กรมทรัพย์สินทางปัญญาจัดทำโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นปีที่ 4 เพื่อยกระดับสินค้าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI ที่เป็นสินค้าชุมชนในระดับพรีเมี่ยม ด้วยการปรับภาพลักษณ์สินค้าด้วยการดีไซน์บรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย แต่ยังคงอัตลักษณ์ของความเป็นสินค้าคุณภาพดีประจำท้องถิ่นนั้น ๆ ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ยกระดับสินค้า GI ให้มีความทันสมัย ทำให้สินค้า GI ก้าวไปสู่ตลาดผู้บริโภคระดับประเทศและนานาชาติได้อย่างภาคภูมิ โดยในปี 2563 มีผู้ประกอบการสินค้า GI เข้าร่วมโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จำนวน 10 ราย ได้แก่
“กล้วยตากบางกระทุ่ม พิษณุโลก” กล้วยตากที่มีเนื้อแห้งเนียนละเอียด เหนียวนุ่ม ไม่มีเมล็ด รสชาติหวานเป็นธรรมชาติ ผลิตจากกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง พันธุ์นวลจันทร์ พันธุ์ปากช่อง 50 หรือ พันธุ์พื้นเมือง ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และตำบลท่าฬ่อ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร
“ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี” ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาว ที่แปรรูปมาจากข้าวหอมมะลิพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ กข15 ซึ่งปลูกในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ในฤดูนาปี ข้าวมีเมล็ดเรียวยาว ถ้าเป็นข้าวขาวจะมีสีขาวใส เป็นเงา มันวาว เมื่อนำมาหุงสุกจะมีกลิ่นหอมและมีความเหนียวนุ่ม มียางข้าวเหนียวปนเล็กน้อย เนื่องจากมีพันธุ์ข้าวเหนียวเจือปนอยู่ตั้งแต่ในแปลงนา
“ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี” เป็นข้าวกล้องที่ได้จากการแปรรูปข้าวเปลือกเหนียวพันธุ์ กข6 หรือ ข้าวเปลือกเจ้าพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เมล็ดมีสีเหลืองทอง เรียว แกร่ง ใส และมีกลิ่นหอม โดยผ่านกรรมวิธีเฉพาะตามหลักประเพณีการทำข้าวฮาง ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร
“ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์” ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล มีผลทรงกลม หรือกลมรี ขนาดเล็ก เปลือกบาง เนื้อเยอะสีเหลืองเข้ม เนื้อแห้งละเอียดเหนียว มีกลิ่นอ่อน รสชาติหวานมัน เมล็ดลีบเล็ก ปลูกในเขตพื้นที่อำเภอลับแล อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และอำเภอท่าปลา ของจังหวัดอุตรดิตถ์
“ทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์” ทุเรียนพันธุ์หลินลับแล มีผลทรงกระบอก เปลือกบาง เนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อละเอียดเหนียวแห้ง รสชาติหวานมัน กลิ่นอ่อน เนื้อมาก เส้นใยน้อย เก็บไว้ได้นานโดยไม่แฉะ เมล็ดลีบเล็ก ปลูกในเขตพื้นที่อำเภอลับแล อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และอำเภอท่าปลา ของจังหวัดอุตรดิตถ์
“ปลากุเลาเค็มตากใบ” เป็นปลาเค็มรสชาติไม่เค็มจัด เนื้อแน่น เนียนละเอียด ผิวเรียบ ตึงสวย เมื่อทอดสุกจะฟู มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ผลิตจากปลากุเลาสดตามกรรมวิธีที่สืบทอดกันมาในพื้นที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
“ผ้าไหมยกดอกลำพูน” การทอยกลวดลายให้สูงกว่าผ้า โดยการยกบางเส้นข่มบางเส้นให้เกิดลวดลาย รวมทั้งมีเส้นไหมเพิ่มพิเศษในการทอตามกรรมวิธีที่ประณีต เป็นมรดกทางหัตถกรรมที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา ผลิตขึ้นในจังหวัดลำพูน
“มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว” มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ต้นเตี้ย ผลกลมรีเหมือนหัวลิง ก้นมีจีบเป็นพู 3 พูชัดเจน เปลือกสีเขียว เนื้อมะพร้าวเหนียวนุ่ม น้ำมะพร้าวมีรสหวาน มีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย ปลูกครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านแพ้ว อำเภอกระทุ่มแบน และอำเภอเมืองสมุทรสาคร ของจังหวัดสมุทรสาคร
“สังคโลกสุโขทัย” เครื่องปั้นดินเผาเนื้อดินหรือเนื้อแกร่ง ประเภทเคลือบและไม่เคลือบ มีลักษณะแตกลายงา มีสีตามลักษณะการเคลือบแต่ละประเภท เช่น สีขาว สีน้ำตาล สีเขียว เป็นต้น มีการตกแต่งลวดลายที่วิจิตรบรรจง ผลิตตามกรรมวิธีที่เป็นภูมิปัญญาสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
“เนื้อโคขุนโพนยางคำ” เป็นเนื้อโคขุนคุณภาพสูง ผลิตจากโคเนื้อลูกผสมระหว่างโคสายพันธุ์ยุโรปกับโคสายพันธุ์พื้นเมือง เนื้อมีสีแดงสดใส มีไขมันแทรกในเนื้อ เนื้อนุ่ม ไม่มีกลิ่นสาบ และมีรสชาติดี มีคะแนนไขมันแทรกที่ 3.5 ขึ้นไปตามมาตรฐานเนื้อโค เพาะเลี้ยงในพื้นที่จังหวัดสกลนคร จังหวัดนครพนมใน 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาแก อำเภอวังยาง อำเภอปลาปาก อำเภอเรณูนคร อำเภอธาตุพนม อำเภอนาหว้า อำเภอโพนสวรรค์ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดมุกดาหารใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอดงหลวง อำเภอคำชะอี อำเภอหนองสูง และ จังหวัดบึงกาฬ 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเซกา
“แห้วสุพรรณ” แห้วพันธุ์จีน ผลมีลักษณะกลมคล้ายหอมหัวใหญ่ มีรสชาติหวาน มัน เนื้อแน่นกรอบสีขาว ผลิตในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
ชุดของขวัญ GI และบรรจุภัณฑ์ GI จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการกระตุ้นการขายสินค้า GI และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ประกอบด้วย ผ้าพันคอที่ออกแบบลวดลายแสดงถึงเอกลักษณ์สินค้า GI สติกเกอร์สีทองปั๊มนูน ที่แสดงสัญลักษณ์ GI Thailand ป้ายชุดของขวัญที่มีข้อมูลความรู้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และมีพื้นที่สำหรับเขียนคำอวยพร และถุงของขวัญสำหรับบรรจุผ้าพันคอ มีข้อมูลสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ชุดของขวัญ และบรรจุภัณฑ์ GI ออกแบบผลิตออกมาอย่างสวยงาม มอบเป็นของขวัญในเทศกาลต่าง ๆ เป็นการเผยแพร่ข้อมูล GI และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้รับ
กรมทรัพย์สินทางปัญญามองเห็นและต้องการสร้างมูลค่าทางการตลาดให้สินค้า GI ให้มีมูลค่าสูงขึ้นด้วยดีไซน์สมัยใหม่โดยไม่ทิ้งอัตลักษณ์เดิม จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง และ ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ให้มีความเหมาะสมกับสินค้า มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น สวยงาม และส่งเสริมภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เป็นการสร้างโอกาสในการแข่งขันทางการตลาด สร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชน เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการระดับท้องถิ่น โดยสามารถจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น และตั้งราคาขายสินค้าได้สูงขึ้น 20 – 100% เกิดการสานต่อทางการค้าการลงทุน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน