ความสมดุลระหว่างงานสถาปัตยกรรม กับความเชื่อตามหลักฮวงจุ้ย คือจุดเริ่มต้นของการออกแบบบ้าน และวางรากฐานการสร้างชีวิตครอบครัวอย่างมั่นคงไปด้วยกัน โดยคุณโดนัท-ภคภาคพงษ์ พนาพุฒิกุล เจ้าของบ้าน ได้วางโจทย์การออกแบบบ้านให้ดูสบายตา โล่งโปร่ง เข้าถึงง่าย บวกกับมีฟังก์ชั่นที่เหมาะสมกับการเริ่มต้นการใช้ชีวิตครอบครัว และการ ตกแต่งจะต้องสอดคล้องไปกับหลักฮวงจุ้ยบ้านที่ถูกต้อง ไม่ขัดแย้งหรือสุดโต่งไม่ทางใดทางหนึ่ง ซึ่งได้รับการออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรม โดยคุณกอล์ฟ-ณัฐพงค์ วิเศษรัตน์ สถาปนิก แห่ง NAAD studio มาเป็นผู้สานต่อแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นจริงบ้านทรงกล่องหลังนี้
“การทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมต้องควบคู่ไปกับหลักฮวงจุ้ยบ้านตามคำแนะนำของซินแส เราจึงต้องพูดคุย และทำงานไปด้วยกันระหว่าง เจ้าของบ้าน สถาปนิก และซินแส เพื่อให้ทุกส่วนทำออกมาได้ดีที่สุด จะไม่สุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่งที่มากเกินไป จึงเป็นหน้าที่ของสถาปนิกที่เป็นเสมือนตัวเชื่อมระหว่างความต้องการของเจ้าบ้าน ที่ต้องการออกแบบบ้าน และการสร้างบ้านให้ถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ยให้ประกอบเข้าไว้ด้วยกันอย่างพอดี เราจึงต้องเริ่มคุย ปรึกษา และปรับความเข้าใจให้ตรงกันตั้งแต่แรก เพื่อความราบรื่นในการทำงานทุกขั้นต้อน” คุณกอล์ฟ-ณัฐพงค์ วิเศษรัตน์ สถาปนิก แห่ง NAAD studio เล่าถึงการออกแบบบ้าน
บนพื้นที่ใช้สอยกว่า 600 ตร.ม. ถูกออกแบบให้ตรงกับที่วางแปลนไว้เบื้องต้น จากโจทย์ของเจ้าของบ้านที่อยากได้บ้านสไตล์โมเดิร์น ดูเรียบง่าย ในโทนสีขาวสะอาดตา ผสานการเลือกใช้สัจจะวัสดุที่มีผิวสัมผัสเป็นธรรมชาติทุกส่วน คุณโดนัทเจ้าของบ้านเล่าว่า “บ้านหลังนี้ต้องการสร้างเป็นบ้านของครอบครัวอย่างแท้จริง และมีฟังก์ชั่นที่รองรับสมาชิกในบ้าน หรือ ลูกๆที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต และที่เน้นให้สถาปนิกออกแบบบ้าน คือบ้านจะต้องมีเหลี่ยมมุม และซอกที่น้อย เพื่อให้ทำ ความสะอาดได้ง่ายทุกส่วน อีกทั้งการวางตำแหล่งบ้านต้องเหมาะสมกับทิศทางแสง ลม และไม่ขัดกับหลักฮวงจุ้ย และเพื่อแสดงให้เห็นว่าการสร้างบ้านในแบบที่เราชอบ และยังยึดตามหลักฮวงจุ้ยก็สามารถทำควบคู่ไปด้วยกันได้อย่างลงตัว”
จากกระบวนความคิดที่เกิดจากการตกผนึกจากพื้นฐานการออกแบบบ้านสไตล์โมเดิร์นทรงเรขาคณิตในแบบที่คุ้นตาของบ้านทรงกล่องสี่เหลี่ยม คุณกอล์ฟ สถาปนิกมืออาชีพได้สร้างสรรค์ตัวอาคารส่วนหน้ากากบ้านให้ดูน่าสนใจ จากการลดทอนเหลี่ยมมุมให้ดูนุ่มนวลขึ้น แต่ยังคงสัดส่วนไว้อย่างครบถ้วน เสริม texture ให้ชวนมองด้วยการสร้างกำแพงหินภูเขาให้ดูเป็นธรรมชาติ จับคู่กับประตูไม้สักสูงถึง 2.80 ม. มาช่วยลดความแข็งกระด้างของบ้านทรงกล่องให้ชวนผ่อนคลายที่สร้างจุดรับรู้ของการเข้าบ้านมาพักผ่อน เพื่อก้าวออกจากบ้านอย่างมีพลังในวันใหม่
สเต็ปทางเข้าบ้านสูงขึ้นตามลำดับตั้งแต่พื้นยกระดับทางเข้าบ้าน ต่อเนื่องสู่ Living Space และบันไดสู่ชั้นสอง ซึ่งการออกแบบทางเดินยกระดับเหล่านี้สะท้อนสู่หลักฮวงจุ้ยในด้านการเงิน และชีวิตการงานที่เจริญก้าวหน้า รวมทั้งการสร้างบ้านให้เต็มเนื้อที่โดยไม่ให้มีส่วนเว้า ส่วนโค้งภายในบ้าน เสริมในเรื่องสัมพันธ์ของสมาชิกในบ้านให้กลมเกลียว ในทำนองเดียวกันกับให้บ้านเปรียบเสมือนร่างกาย หากมีอวัยวะหายไป หรือเสียหายก็ทำให้ร่างกายทำงานได้ไม่สมบูรณ์แบบเช่นกัน
จึงเป็นโจทย์ให้กับสถาปนิกในการออกแบบบ้านทรงเหลี่ยมหลังนี้ให้ดูโปร่ง ไม่อึดอัด คับแคบ และเป็นไปตามคำแนะนำของซินแส โดยการสร้างมิติให้บ้านดูปลอดโปร่ง อาศัยช่องแสง และหน้าต่างทรงสูงบ้านติดตั้งรอบตัวบ้าน เพื่อดึงแสงสว่างจากธรรมชาติมาช่วยกระจายแสงให้บ้านโทนสีขาวดูน่ามองยิ่งขึ้น ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้กลายเป็นอีกตัวแปรสำคัญของสร้างบ้านให้ไปในทิศทางเดียวกันกับงานออกแบบบ้านที่ต้องวางน้ำหนักให้ลงตัวไปพร้อมๆกัน
“เหมือนบ้านหลังนี้จะดูตกแต่งน้อยมาก แต่ทุกอย่างมีรายละเอียดซ่อนอยู่ โดยเฉพาะการเลือกใช้วัสดุที่เป็นเนื้อแท้ของธรรมชาติจริง อย่างไม้ที่เห็นในบ้านจะเป็นไม้สักเคลือบเงา และย้อมสีให้ดูเป็นสีทองสว่าง เพื่อให้บ้านดูอบอุ่น เรียบง่าย และสบายตาแล้ว คุณสมบัติของไม้สักยังแข็งแรง ทนทาน และป้องกันปลวกเป็นอย่างดี นอกจากนี้วัสดุธรรมชาติที่ใช้หิน อย่างหินอ่อนสีดำ หรือลายแบล็ก ฟอร์เรส ถูกเลือกนำมากรุผนังในส่วนมุมนั่ง และใช้เป็นท็อปโต๊ะ และชั้นวางตามมุมต่างๆ เพื่อเพิ่มสีสันให้บ้าน และดูเรียบร้อยไปในทางเดียวกัน” เจ้าของบ้านกล่าวสะท้อนถึงการตกแต่งบ้านที่ใส่ใจในทุกรายละเอียด
บ้านโทนสีขาว ตัดกับสีไม้สัก และเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงตกแต่งบ้านในโทนสีเทา สร้าง Mood and Tone ในแบบอบอุ่นได้อย่างกลมกลืนในทุกมุมบ้าน อีกทั้งการวางตำแหน่งพื้นที่การเข้าไปยังส่วนต่างๆภายในบ้าน แต่ละลำดับจะบ่งบอกถึงระดับความสนิทสนมกับสมาชิกในบ้าน ผ่านการจัดวางฟังก์ชั่นได้อย่างมีชั้นเชิง โดยเฉพาะโถงทางเข้าบ้านจะแบ่งแยกเป็นสองฝั่งโดยทำเป็นห้องรับแขก หรือผู้มาติดต่อธุระเพียงไม่นาน หรือห้องทำงานศิลปะซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เจ้าของบ้านชื่นชอบ อีกห้องหนึ่งสร้างว่างที่จะใช้สตูดิโอถ่ายภาพในอนาคต โดยถูกกั้นพื้นที่ด้วยประตูกระจกใสแต่งลายฝ้าเพื่อไม่ให้โปร่งใสมองทะลุเข้าไปรบกวนความเป็นส่วนตัวในส่วน Living และทางขึ้นสู่ชั้นบนที่เป็นห้องพระ และนอนของครอบครัว
ภายใต้ความเรียบง่าย ได้ซ่อนความละเอียดอ่อนในการออกแบบอยู่ในทุกองค์ประกอบ ทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มพูดคุย ออกแปลน ปรับแก้ เปลี่ยนแปลง ตรวจเช็คจากภาพสามมิติ สู่การก่อสร้างลงเสาเข็มบนพื้นที่จริงได้ผ่านการตกตะกอนความคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วน
บ้านหลังนี้จึงไม่ใช่แค่ความบังเอิญที่เกิดขึ้นได้เอง แต่ทุกสิ่งเกิดขึ้นจากการคิดสร้างสรรค์ พร้อมใส่ใจทุกบริบท เพื่อให้เกิดขึ้น และใช้งานได้จริงทุกประการ