องศาที่เยื้องกันระหว่างกล่องอาคารสองชั้น เกิดจากระนาบอาคารพาดซ้อนกันแบบเหลื่อมล้ำ มุมไม่แนบบรรจบกัน เป็นการปลดล็อค กรอบของหน้าตาสถาปัตยกรรมเพื่อการอยู่อาศัยแบบเดิมๆ ที่คุ้นเคย แล้วก้าวสู่ความท้าทายทางการออกแบบที่เลือกละทิ้งความสมมาตร เพื่อให้อิสระแก่สถาปัตยกรรมทำหน้าที่สะท้อนรูปทรงไร้กรอบ ไร้กฎเกณฑ์แบบธรรมชาติของทิวเขาที่แวดล้อมตัวมัน ให้ออกมากลมกลืน เป็นหนึ่งเดียวกันมากที่สุด
“Every House has its own site” แนวคิดการออกแบบของคุณวสุ วิรัชศิลป์ สถาปนิกแห่ง VaSLab Architecture ที่บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าเขาให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างอาคารกับพื้นที่เป็นอย่างมาก ทำให้คุณวสุมักดีไซน์รูปทรง และฟังก์ชั่นของบ้านให้แปรผันตามบริบทแวดล้อมเสมอ จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ หากบ้านพักตากอากาศของครอบครัวลีนุตพงษ์ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางทิวเขาหลังนี้ จะมีลักษณะทับซ้อน เหลื่อมกันในแต่ละชั้นของรูปทรงแบบคาดเดาไม่ได้ เพราะมันได้ถอดแบบรูปร่างดังกล่าวมาจากวิวภูเขาที่รายรอบตัวมันได้อย่างแนบเนียน ไม่แปลกแยกจากเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติของภูมิประเทศ ณ จุดที่มันตั้งอยู่
นอกเหนือจากแรงบันดาลใจที่มาจากทิวเขาที่มันซ้อนทับกันแล้ว คุณวสุยังผสานความเป็น Modernism ที่ถูกตีความใหม่ในแบบฉบับของตัวเอง โดยไม่ได้เน้นแต่ฟังก์ชั่นเป็นหลักแล้วปล่อยให้เรื่องรูปทรงภายนอกเป็นเรื่องรองแบบโมเดิร์นยุคเก่า แต่มีการผสม แนวคิดการออกแบบสมัยใหม่ที่ท้าทายรูปทรงแบบเดิมๆ ที่เชื่อว่าแกนของบ้านไม่จำเป็นต้องตั้งฉาก 90 องศาหรือขนานเสมอไป เลยเกิดการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดูซับซ้อนขึ้น น่าค้นหา และแปลกใหม่กว่าไปอีกขั้น ทั้งยังสามารถตอบสนองเรื่องดีไซน์ และฟังก์ชั่นไปด้วยพร้อมๆ กัน
“ โดยส่วนตัวผมชอบความซับซ้อนอยู่แล้วครับ ชอบประติมากรรมที่มีความเป็น Abstract สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลในการทำงานสถาปัตยกรรมของผม บ้านหลังนี้ผมเลยได้รับแรงบันดาลใจจาก Deconstruction มาช่วยทำลายกรอบเรื่องแกนสมมาตรให้เป็น Free plan ไม่ยึดติดว่ามันจะต้องเป็นแกน x แกน y เท่านั้น จึงเห็นได้ว่าแกนของบ้านเบี่ยง และเยื้องกันระหว่างชั้น ทุกอย่างให้ความรู้สึก Free form เหมือนทำสถาปัตยกรรมที่คล้ายกับการทำประติมากรรม ”
ผลลัพธ์จากระนาบของแปลนบ้านที่ซ้อนทับกันโดยไม่ขนานกันทั้งหมดทำให้เกิดพื้นที่ Semi-outdoor Terrace และ พื้นที่ Outdoor ที่ตอบโจทย์ชีวิตในการใช้งานพื้นที่ภายนอกบ้านของเจ้าของบ้านให้แตกต่างกันทั้งรูปแบบกิจกรรมและสามารถเปลี่ยนทัศนียภาพได้หลายบรรยากาศตามแต่ละช่วงเวลา เช่นพื้นที่ Terrace ฝั่งทิศเหนือด้านหน้าบ้าน ก็เป็นพื้นที่กึ่งร่ม กึ่งแสงแดด เหมาะสำหรับพื้นที่กินกาแฟนั่งชมวิวยามเช้า หรือพื้นที่ ที่เปิดกลางแจ้ง อย่างเช่น Rooftop ขึ้นไปดื่มไวน์ยามเย็นพร้อมชมวิวเขาใหญ่แบบพาโนรามา หรือลานด้านล่างที่เป็นลักษณะ Open air ก็มักถูกใช้เป็นลานสำหรับปาร์ตี้ หรือทำบาร์บีคิว
เส้นสายของระนาบอาคารภายนอกที่ล้อไปตามทิวเขาอย่างอิสระ เป็นตัวกำหนดรูปร่างของห้องต่างๆ ภายในบ้านให้มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า แตกต่างจากห้องทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบบ้านหลังอื่นๆ ที่เราคุ้นเคย บวกกับเพดานที่ออกแบบให้มีระดับสูง ต่ำไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ ทำให้สเกลบางพื้นที่ถูกบีบทอน บางพื้นที่ถูกขยาย ซึ่งทั้งหมดเป็นความตั้งใจของสถาปนิก ที่ต้องการสร้างท่วงทำนองทางสถาปัตยกรรม ให้มีจังหวะเร้าความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยให้ตื่นเต้น ไม่รู้สึกเบื่อซึ่งก็สอดคล้องกับ สิ่งที่คิดไว้ตั้งแต่แรกว่าการเอาแปลนมาซ้อนทับกันจะช่วยให้เกิด Volume และ Dynamic ของสเปซที่แตกต่างกันได้ทั้งภายนอก และภายใน
ตำแหน่งของห้องต่างๆ ถูกวางให้สอดคล้องกับทิศทางแสงอาทิตย์ เพื่อสร้างการอยู่อาศัยที่สบายที่สุด โดยหลังบ้านหันหน้าออกในฝั่งทิศใต้ วางฟังก์ชั่นให้เป็น Single corridor ที่คอยรับความร้อนก่อนที่จะเข้ามาสู่ส่วนอื่นๆ ของบ้าน ด้านนี้จึงเป็นเหมือนกันชนป้องกันแสงแดดจากทิศใต้ไม่ให้เข้าห้องนอนโดยตรง เพราะห้องนอน ห้องนั่งเล่น ที่สมาชิกในบ้านใช้อยู่อาศัยกัน จะอยู่ฝั่งด้านหน้าบ้านที่หันเข้าทิศเหนือ ด้วยที่ว่าทิศเหนือเป็นทิศที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดไม่สาดลงมาแรงในทิศนี้เท่าทิศอื่น
Overlapping House งานสถาปัตยกรรมที่มากกว่าแค่สร้างเพื่อฟังก์ชั่นแต่ยังมีเรื่องราว และรูปทรงในแบบของตัวเองที่ถอดแบบมาจากธรรมชาติรอบตัว ช่วยสะท้อนภาพลักษณ์ของงานออกแบบสมัยใหม่ และวางตัวเองเหมือนเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่เต็มไปด้วยอิสระแห่งจินตนาการ สามารถปรับ บิด ย่อ ขยายได้โดยไม่ยึดติดกับแบบแผนหรือกรอบเดิมๆ L&H