ความงามของสถาปัตยกรรมที่เผยให้เห็นเนื้อแท้แห่งสัจจะวัสดุ อัตลักษณ์แห่งตัวตน ในการสร้างผลงานของทาดาโอะ อันโดะ (Tadao Ando) สถาปนิกชาวญี่ปุ่นผู้มีชื่อเสียงระดับโลก สัมพันธ์สอดคล้องกับวิธีคิดในรากวัฒนธรรมญี่ปุ่น คือคำว่า วะบิ – ซะบิ ซึ่งหมายถึงความงามของสรรพสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบ กระทั่งร่องรอยของกาลเวลาที่เผยให้เห็นความงามในความไม่จีรัง
จากแนวคิดนี้ผู้เขียนยิ่งเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อมีโอกาสได้มาเยือนโฮมออฟฟิศ ภายใต้ชื่อบริษัท มินิมี แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด ที่เจ้าของและสถาปนิกได้ดึงเอาความ ไม่สมบูรณ์ของของเนื้อแท้แห่งวัสดุเป็นแนวคิดหลักในงานออกแบบ ซึ่งเจ้าของคือคุณตุ้ย โกญจนาท โขมศิริ และคุณรุ่ง รุ่งพร มีศิลป์ ภาพความจอแจวุ่นวายใจกลางเมือง ถูกเปลี่ยนไปทันทีเมื่อเราก้าวพ้นผ่านกำแพงอิฐสีดำ ความร่มรื่นของต้นนางกวักสูงใหญ่กว่า 3 ต้น แผ่กิ่งก้านปกคลุมให้ร่มเงา จนแทบไม่น่าเชื่อว่าจะมีบรรยากาศ เช่นนี้ให้เห็นใจกลางเมือง
เจ้าของบ้านต้อนรับเราด้วยกาแฟดำส่งกลิ่นกรุ่น ก่อนที่คุณตุ้ยจะเล่าย้อนถึงเรื่องราวของบ้านให้เราฟังว่า “แต่เดิมบริษัทฯ เราตั้งอยู่หน้าปากซอยทางเข้า ซึ่งตอนนั้นก็เริ่มรู้สึกถึงความคับแคบจึงมีความคิดที่อยากจะขยับขยาย จนมาเจอบ้านหลังนี้เห็นครั้งแรกก็รู้สึกชอบประตูเพราะเป็นไม้ที่สวย ทีแรกเราเพียงอยากได้ประตูแบบนี้โดยที่ยังไม่คิดจะซื้อ จนเมื่อทราบว่าเจ้าของเดิมซึ่งอยู่ในแวดวงโฆษณาเหมือนกัน เขาประกาศขายจึงได้ตั้งสินใจซื้อไว้ จากโครงสร้างบ้านหลังเดิมลักษณะสองชั้นที่เก่ามาก เราจึงคิดที่จะทุบทิ้งและสร้างใหม่ ตอนนั้นผมก็ได้คุยกับคุณรุ่งว่าอยากได้บ้านกับออฟฟิศอยู่ที่เดียวกัน”
ในระหว่างนั้นบังเอิญว่าคุณตุ้ยมีเพื่อนที่รู้จักกับคุณหนึ่ง ภานุพล ศีลแดนจันทน์ สถาปนิกบริษัท Inchantree Architect จึงได้มีการติดต่อพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติกันจนลงตัว ด้วยโจทย์ความต้องการของผู้เป็นเจ้าของที่อยากให้บ้านและออฟฟิศอยู่ที่เดียวกัน บนที่ดินเพียง 67 ตารางวา สถาปนิกตีโจทย์ความต้องการดังกล่าวออกมาภายใต้แนวคิดความสุขต้องอยู่ในบ้าน
ด้วยโครงสร้างหลักคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมที่โชว์ให้เห็นเนื้อแท้ของวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก อิฐ กระจก และไม้ ให้ความรู้สึกลึกลับน่าค้นหา ขัดแย้งแปลกตาจากบริบทรอบข้างอย่างสิ้นเชิง เมื่อกิจกรรมทั้งหมดต้องอยู่ภายในบ้านจึงต้องมีความเป็นส่วนตัวสูง ผนังอาคารส่วนที่หันหน้าออกสู่ถนนจึงถูกปิดทับด้วยฟาซาดระแนงเหล็กสีดำเข้าสู่ภายในจากทางเดินที่ถูกบีบให้เล็กตามลักษณะแปลน
ก่อนจะพาไปสู่พื้นที่สวนด้านข้าง คอร์ตยาร์ดขนาดเล็กที่ Urban House ขาดไม่ได้ ส่วนนี้โปร่งโล่งด้วยใต้ถุนตามแบบเรือนไทยเป็นส่วนที่ให้พนักงานได้ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน
เมื่อขึ้นสู่ชั้น 1 และชั้น 2 ถูกจัดสรรให้เป็นออฟฟิศ ขณะที่ชั้น 3 จัดสรรให้เป็นส่วนที่อยู่อาศัยของเจ้าของบ้าน เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่จะเน้นเป็นไม้และเหล็กเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นส่วนออฟฟิศหรือส่วนอยู่อาศัยก็ตามบางชิ้นได้สั่งทำขึ้นใหม่ และบางชิ้นก็เป็นของชิ้นเก่า
คุณตุ้ยเล่าเสริมว่า “ผมกับคุณหนึ่งชอบสถาปนิกคนเดียวกัน คืออันโดะ ชอบแนวคิดตามแบบวะบิ – ซะบิ ที่ตรงกับเราทุกอย่าง เราก็ปล่อยให้เป็นไปอย่างนั้นโดยที่ไม่ลุกขึ้นไปปรุงแต่งใดๆ”
การได้มาเยือนสถานที่แห่งนี้ทำให้ผู้เขียนเข้าใจอย่างถ่องแท้ของความงามในความจริงร่องรอยของวัสดุที่โชว์ให้เห็นถึงแก่นแท้ไม่ว่าจะเรียบ หรือด้าน แม้แต่เนื้อไม้ที่โดนแสงแดดโลมเลียจนซีดจาง กระทั้งความดิบกระด้างของเหล็กสีดำแซมสนิมก็ตามหากมองให้ลึก ใช้ความรู้สึกสัมผัส จะพบว่าเหล่านี้คือเสน่ห์งามตามธรรมชาติเติมให้บ้านหลังนี้ดูสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง