เพื่อต้อนรับการกลับบ้านของชาวศิลปากร หลังจากที่วังท่าพระได้ปิดเพื่อรีโนเวทมหาลัยเป็นเวลากว่าสามปี วันนี้ทางคณะสถาปัตยกรรมจึงได้จัดงาน Arch SU Fest “เข้าท่า” รับขวัญศิษย์ปัจจุบัน โดยได้ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมอย่างคุณบิว มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา จาก Hypothesis, คุณตั๊บ ธนพัฒน์ บุญสนาน จาก ธ.ไก่ชน และคุณวิทย์ พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล จาก PHTAA Living Design มาพูดคุยในฐานะศิษย์เก่าจากรั้วเขียวเวอร์ริเดียน ที่เคยถูกบ่มเพาะอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน มาดูกันว่าในวันนี้พวกเขาได้เติมโตไปเป็นไม้ใหญ่ที่เลือกดีไซน์ลำต้นกิ่งก้านสาขาของตัวเอง มาในวันนี้ที่ได้กลับมาเจอกันอีกครั้งทั้ง 3 คน มีอะไรอยากจะเล่าถึงชีวิตสถาปนิกและบอกอะไรกับน้องๆบ้าง
บิว: สำหรับผม Hypothesis การทำงานสะท้อนอยู่ในชื่อแล้ว นั่นก็คือการ ”ตั้งสมมติฐาน” ไม่ได้ยึดติดกับตัวตน ชื่อไม่มีเราต่อสร้อย ที่นิยามตัวเอง ว่าเป็น Architect, Interior, อะไร เรามอง ว่าเราคือการตั้งสมมติฐานใหม่ให้กับทุกสิ่ง ไร้กรอบ ไม่มีข้อจำกัด เพราะเราไม่ได้เป็นแค่ Architecture หรือ Interior Design แต่ยังเข้าไปเป็น Consult สร้างสมมติฐานใหม่ๆ ให้กับที่อยู่อาศัยและสังคม ว่าสังคมต้องการอะไร ขาดอะไร เพื่อที่เราจะสร้างงานออกแบบที่ช่วยให้ชีวิตของผู้คนและสังคมดีขึ้นได้ แต่ละโปรเจ็ค การตั้งสมมุติฐานและการทดลอง เพื่อหาคำตอบ โดยที่ผมจะใช้เรื่องของประวัติศาสตร์ เข้ามาเพื่อเป็นฐานในการออกแบบ และแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น
ตั๊บ: สำหรับ ธ.ไก่ชน ผมเชื่อในความงามตามธรรมชาติอย่างไม้ไผ่ สวยมาก่อนไม่ต้องคิดมาก ชอบเท็กเจอร์ ชอบสี ถึงมันจะเกิดความไม่สมบูรณ์แบบแบบเป๊ะๆ นั่นก็ถือเป็นเสน่ห์ของวัสดุธรรมชาติ ผมเน้นที่ Visual เป็นอันกับแรก เหมือนเราเจอผู้หญิงแล้วเราเข้าไปคุย ถ้าเขาเป็นคนดี เข้ากับเราได้ ก็คบกันนานหน่อย ซึ่งผมกับไม้ไผ่นี่ก็คบกันนานมาก ซึ่งเราพบว่านอกจากความสวยเราก็พบว่าเขามีข้อดีต่างๆมากมายทั้ง sustainable ปลูกขึ้นเร็ว ระหว่างการก่อสร้างไม่ปล่อยคาร์บอร์นไดออกไซด์ออกมาเลย เข้าเทรนด์เรื่องโลกร้อน แถมยังสนับสนุนชุมชนอีกด้วย วัสดุชนิดนี้ถือว่าตอบโจทย์ในสภาวะที่โลกกำลังเผชิญปัญหาทางสิ่งแวดล้อมในขณะนี้ ซึ่งไม้ไผ่เป็นวัสดุทดแทนและจะคงอยู่ในอนาคตแน่นอน วัสดุที่ทำลายสิ่งแวดล้อมจะค่อยๆตายไป ในอนาคตวัสดุอย่างไผ่จะเข้าไปอยู่ในทุกอย่างทั้ง Product design หรือ เสื้อผ้า อยู่ในชีวิตจนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ได้
วิทย์: ผมเชื่อในวัสดุที่ธรรมดาว่ามันสามารถกลายเป็นงานที่ทุกคนต้องจ้องมองได้ ผมเลยเน้นการทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมด้วยการทดลองกับวัสดุที่หลากหลาย และรู้สึกความตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อวัสดุธรรมดาไม่ว่าจะเป็นอิฐมอญ เศษเหล็กหรือโฟม เหล่านั้นมันเกิดขึ้นเป็นงานสถาปัตยกรรมได้จริง ทั้งยังโดดเด่นและน่าตื่นตาโดยใช้วัสดุธรรมดาที่หาได้จากท้องถิ่นเท่านั้นเอง
วิทย์: เราต้องดัดแปลงวัสดุที่หาได้ตามท้องตลาดให้ใช้อย่างฉลาดขึ้น หมายถึงว่า ทำยังไงก็ได้ให้สิ่งที่เราสร้างเกิดขึ้นได้จริง ลองคิดถึงอะไรหลายๆอย่างที่มันไม่น่าจะเป็นไปได้ ทดลองดู อย่างเช่นจะมีหลายงานของพี่ที่ใช้บัวเป็นฝาผนัง เอาบัวมาทำเป็น structure และ decoration มันไม่ได้เป็นภาพที่เราไม่ค่อยได้เห็น ล่าสุดมีร้าน H dining คือเอาอิฐมอญที่ใช้ปูพื้นมาก่อเป็นผนัง เราก็สร้างความต่างได้โดยที่ไม่ต้องใช้อะไรที่หรูหราอลังการ ใช้ของที่เราเห็นอยู่ทุกวัน ในชีวิตจริงมา Adapt แต่เอาจริงๆมันก็ไม่ได้ง่ายขนาดที่แค่พูดแล้วก็จะทำได้เลย มันต้องผ่านการ proof มาหลายอย่าง เป็นที่มาของคำว่า re-appropriate หรือว่าปรับใหม่ให้เหมาะสม เราก็ปรับวิธีการใช้วัสดุต่างๆที่เคยเป็นมาในอดีต ให้ใช้ ได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เหมาะสมเหมือนกันเหละ แต่เป็นความเหมาะสมที่เรายังไม่เคยเห็นมาก่อน
ถามว่ามันมีความเสี่ยงไหม มันก็มีความเสี่ยงที่ดีไซน์มันจะพัง ต้องรื้อ ต้องซ่อม แต่เรื่องพวกนี้มันจะทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน .ในขณะเดียวกันเราก็ต้องบริหารความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด เพราะเราเป็นนักออกแบบ
ตั๊บ ความท้าทายคงเป็นภาพลักษณ์ของไผ่ ที่หลายคนมักมีภาพว่าเป็นวัสดุที่ไม่ยั่งยืน และมีปัญหาเรื่องแมลง ซึ่งก็ถูกต้องในบางส่วน ซึ่งในความจริงไผ่มันจะผุพังไปในไม่กี่วัน หรือจะอยู่คงทนไปเป็นหลายสิบปีก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานและการดูแล ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีการทรีตเม้นท์ไผ่เพื่อให้สามารถเป็นโครงสร้างที่อยู่ได้นานขึ้น ซึ่งผมเองก็จะใช้วิธีที่ทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่ามอดจะไม่มากวน โดยใช้สารเคมีที่ชื่อว่าโบรอน ซึ่งไม่มีพิษ เพียงแต่วิธีการทำงานจะเปลี่ยนแป้งในเนื้อไผ่ให้เป็นสิ่งที่มอดไม่กิน
บิว: ผมว่าปัจจุบันนี้เราอยู่ในยุคที่ควรจะต้องส่งต่อสิ่งที่เราเคยได้รับมาคืนสู่น้องๆรุ่นใหม่ ทุกวันนี้ถ้าผมได้รับเชิญให้ไปพูดตามที่ต่างๆ ผมไม่เคยปฏิเสธที่ไหนเลย แม้จะต้องไปต่างจังหวัดไปเช้าเย็นกลับ เพราะผมรู้สึกว่าผมอยู่ในจุดที่อยากจะคืนให้ เพราะการให้คือสิ่งสำคัญ วันนี้น้องๆอาจจะยังไม่ถึงเวลา แต่ตอนนี้ก็ให้ได้ในสิ่งที่น้องมีคือกำลัง และความคิดที่เป็นวัยรุ่น ถ้าวันหนึ่งน้องอยู่ในจุดที่น้องให้กลับคืนได้ก็อยากจะให้กลับคืนไม่ว่าจะคืนสู่โรงเรียนที่น้องเรียนมาหรือสังคมที่น้องใช้ชีวิตอยู่
วิทย์: ถึงน้องๆบางคน ในเรื่องของการทำงาน ผมเสียดายที่เห็นเขาออกแบบแนวคิดมาได้ดีแล้ว แต่มันสร้างไม่ได้ด้วยเหตุผลการก่อสร้าง อยากบอกน้องทุกคนว่าเรามีอีโก้ได้ แต่บางครั้งก็ต้องรู้จักผ่อนบ้าง ในบางครั้งการชีวิตทำงานจริงแล้ว เราไปเจอผู้รับเหมา โอนเนอร์ เรากลับมาคิดนิดนึงว่าถ้าเรามีอีโก้ไปมันได้อะไรไหม ถ้าไม่ได้ก็ลองกลับมาคิดดูว่าอยากให้งานเกิดขึ้นไหม การยอมถอยหรือปรับเปลี่ยนบางสิ่งที่เราคิดไว้ อย่างการใช้วัสดุทดแทน ไม่ใช่เรื่องเสียหายหรือน่าอาย ตอนเด็กๆเราอาจเคยได้ยินอาจารย์สอนว่าต้องให้ความสำคัญกับสัจจะวัสดุนะ โอเคถ้าได้ใช้มันก็ดีอยู่แล้ว แต่ในชีวิตการทำงานจริงเราจะถูกเรื่องเงินทุน จากลูกค้ามาเป็นเงื่อนไขในการก่อสร้าง ดังนั้นมันก็เป็นการท้าทายตัวเองว่าแล้วจะทำอย่างไรให้งานเราได้สร้างขึ้นจริงนั่นต่างหากที่สำคัญ
ตั๊บ: สำหรับน้องๆที่กำลังเรียนอยู่ พี่อยากบอกว่าอะไรที่เป็นสิ่งใหม่เราคิดใหม่ได้ กล้าที่จะปรับอะไรบางอย่างที่ไม่ถูกต้องในยุคของรุ่นพี่ น้องสามารถคิดใหม่ได้เลย ไม่จำเป็นต้องมองว่าแต่ก่อนรุ่นพี่เป็นแบบนี้แล้วเราต้องทำตามทุกอย่าง ไม่จำเป็นเลย เราเป็นตัวของเราในแบบเจเนอเรชั่นของเราได้ครับ