สถาปัตยกรรมคือสัญลักษณ์ของประวัติศาสตร์ แนวคิด ความเชื่อ และศิลปะของผู้คนในยุคสมัยที่มันถูกสร้างขึ้น เป็นเช่นนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หากคนรุ่นใหม่ต้องการศึกษาวัฒนธรรมของคนรุ่นก่อนหน้า ก็มักใช้แนวคิดการก่อสร้างอาคารของคนรุ่นนั้นเป็นภาพสะท้อนเพื่อให้สามารถมองวิถีของสังคมในอดีตได้อย่างชัดเจน แต่ในยุคที่การขยายเมืองใหม่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างทุกวันนี้ ทำให้สถาปัตยกรรมเก่าที่สำคัญต่อสังคมและประวัติศาสตร์โดนทำลายไปบางส่วน ซึ่งก็น่าห่วงว่าหากสถานการณ์นี้ยังเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ อาจจะทำให้ภาพวัฒนธรรมของเราเว้าแหว่ง เหมือนจิ๊กซอลที่ไม่สามารถเป็นภาพที่สมบูรณ์ได้เพราะบางชิ้นส่วนได้หายไป สิ่งที่เกิดขึ้นทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ มีการเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง มาฟังมุมมองของ ดร.กมล จิราพงษ์ ผู้บริหารฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมสถาปนิกสยามฯกัน
การเติบโตของเมืองใหม่ ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง
กรุงเทพฯเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์นะครับ นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาที่นี่เยอะ ซึ่งองค์ประกอบในเสน่ห์เหล่านั้นคือวัฒนธรรม เป็นเสน่ห์ที่ชาวโลกอยากเข้าถึง และในคำว่าวัฒนธรรมมีสถาปัตยกรรมก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในนั้น แต่โลกปัจจุบันนี้ อะไรเก่ามักจะโดนทำลายหรือล้มหายไปเป็นธรรมดา ซึ่งถ้าวันนี้ก็คงไม่มีสิ่งเหล่านี้เหลืออยู่ ก็คงไม่มีเรื่องราวที่คนทั้งโลกจะหันมามองเรา นี่จึงเป็นความสำคัญที่ต้องคิดดีๆ ว่าการเติบโตของเมืองควรดำเนินไปในทิศทางใด แล้วก็ต้องเข้ามาคิดกันไม่ใช่แค่ว่า ใครอย่าไปเตะต้องมัน อนุรักษ์เก็บไว้บนหิ้ง สร้างไว้อย่างไรก็ให้มันอยู่อย่างนั้น ทำแบบนี้ก็จะมีข้อเสีย เพราะบริบทชีวิตคนเรามันเปลี่ยนไป มันก็มีบางสิ่งที่ต้องเก็บไว้ดู แต่มันก็มีหลายสิ่งที่เราเอามาใช้ในชีวิตประจำวันเราได้ ชีวิตของคนรุ่นใหม่อยู่ร่วมกันได้กับสถาปัตยกรรมเก่า
มีอะไรบ้างที่จะสามารถช่วยชีวิตเมืองเก่าที่กำลังสูญหายได้ในตอนนี้
ตอนนี้เรากำลังใช้ชีวิตอยู่เมืองที่ไม่ต่างกับโรงงานที่มีสายพานวิ่งไปทั่วเมือง เสารถไฟฟ้า ตึกสูงกำลังค่อยกลืนเมืองเก่าไปเรื่อยๆ วัดวาอาราม ตึกเก่าที่มีคุณค่าทางศิลปะ บ้าน เรือนในอดีต บางทีการขยายเมืองทำให้พื้นที่ตรงนั้นหายไปเลย อย่างสถานีรถไฟที่เคยมีอยู่ทั่วประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ในสมัยนี้พอไม่ได้ใช้แล้วก็รื้อไป มันก็น่าเสียดายที่รื้อไปโดยไม่คิดอะไรเลย ทำให้วัฒนธรรมเราหายไป บางอย่างก่อนทำลาย เราควรคิดก่อนว่าเราอยู่ด้วยกันได้ไหม เก่ากับใหม่ ตอนนี้เลยต้องแก้ปัญหาท่าที่ทำได้ ซึ่งน่าจะดีกว่าการนิ่งเฉย หรือปล่อยให้ทุกอย่างแย่ลงไปกว่านี้ ด้วยแนวคิด Refocus Heritage เพื่อดึงสถาปัตยกรรมเก่าที่มีอยู่ทั่วเมืองให้ร่วมสมัยมีชีวิตต่อไปได้ ไม่โดนทุบโดนทำลาย เพราะนี่คือจุดแข็งทางวัฒนธรรมของเรา ไม่อยากให้มันหายไปในคนรุ่นใหม่ที่เขากำลังเติบโต
ทำไมต้อง Refocus Heritage
ความรู้สึกของคำนี้ มันจะแบบ เฮ้ย ชวนให้เรามองดูดีๆมันน่าจะมีอะไรมากกว่านั้นนะ ความเป็น Heritage หรือแปลเป็นไทยว่า มรดกทางวัฒนธรรม ประเทศไทยมีจุดแข็งในเรื่องนี้ เป็นการประชุมกันระหว่างสมาคมสถาปนิกในภูมิเดียวกับเราทั้ง มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดเนเชีย ได้กำหนดธีมร่วมกันให้แต่ละประเทศ โดยในไทยจะโฟกัสไปในเรื่องของ Heritage โดย Refocus หรือหันกลับไปมองสิ่งเหล่านี้อีกที ด้วยมุมมองใหม่ที่ไม่ได้มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นแค่ของเก่าที่ต้องเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งทางสมาคมสถาปนิกสยามฯจะใช้แนวคิดนี้ในการจัดงานสถาปนิกในปีหน้าด้วย เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมให้หันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น
อนาคตของสถาปัตยกรรมเก่าจะเป็นอย่างไร
อาคารเก่าทั้งหลายเขามีชีวิต มีเรื่องเล่า มีที่มาร่วมกับสังคมเป็นร้อยปี มีรากเหง้า คงน่าเสียดายถ้าปล่อยให้เป็นแค่ Background ไว้ถ่ายรูป ที่ผู้คนเข้ามาแล้วยกมือถือ เก็บภาพไม่กี่นาทีแล้วก็จากไป ไม่ได้ซึมซับวิถีชีวิต หรือประวัติศาสตร์ เพราะอาคารเก่าเหล่านั้นไม่ได้มีฟังก์ชั่นที่เอื้อผู้คนไม่สามารถไปทำอะไรได้มากกว่านั้น เรื่องนี้เราเลยต้องมา Refocus มาเขย่าให้คนคิด มันอาจจะต้องทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้มากกว่านี้ ต่อเติม ปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นใหม่ให้สถาปัตยกรรมเก่า เพื่อที่จะมีชีวิตต่อไปได้โดยที่ มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่นำมาจัดการมรดก เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างสูงสุด
จะช่วยให้ทุกฝ่ายหันมาสนใจในเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง
เราตั้งใจที่จะนำเสนอประเด็นนี้ให้สังคมผ่านงานสถาปนิก 63 โดยปีนั้จะใช้ชื่อธีม Refocus Heritage เลยครับ ซึ่งในทีมก็มีคนมาร่วมกันหลายท่าน ทั้งสถาปนิกและวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนะที่ทุกคนจะมารวมตัวกันแบบนี้ ซึ่งทุกคนมาด้วยใจ ไม่มีเรื่องเงินหรือผลตอบแทนอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องเลย โดยแต่ละคนคือตัวพ่อตัวแม่ของวงการ แน่นอนว่ามีความคาดหวังว่างานในปีนี้จะต้องดีกว่าเดิมแน่นอน ซึ่งตอนนี้บอกได้ว่างานปีนี้จะมีเทคโนโลยีเข้าไปผสมผสานเพื่อเปิดมุมมองใหม่ของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่าแบบนอกกรอบ และอีกหนึ่งความพิเศษของปีนี้คือพื้นที่การจัดงานของเราจะอยู่ใจกลาง Challenger Hall เลย โอบล้อมด้วยบูทส์ของร้านค้าต่างๆ เพื่อให้ทุกคนที่เข้ามาสามารถมาเจอเราได้จากทุกมุม ทุกทิศทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนที่สนใจเดิน อัพเดตสินค้า นวัตกรรมใหม่ทางสถาปัตยกรรมของบริษัทต่าง พร้อมไม่พลาดพื้นที่กิจกรรมและนิทรรศการที่ทางสมาคมจัดไว้
ทั้งยังมีนิทรรศการ ผลงานที่ได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์ และผลงานที่น่าจับตามองที่กำลังเคลื่อนไหวด้าน Heritage อยู่ในขณะนี้ นอกจากนั้นยังมี Talk พูดคุยเสวานาเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างลึกซึ่ง ครบถ้วน โดยเรามีเวทีสองแห่ง เวทีแรกให้สถาปนิกตัวท๊อปทั้งไทยและต่างชาติได้พูดเกี่ยวกับธีมให้คนทั่วไปได้อัพเดต ซึ่งรับรองว่าหาฟังไม่ได้ง่ายๆ แน่นอนครับ สำหรับอีกเวทีหนึ่งคือเป็นพื้นที่ให้ทาง Supplier ได้เข้ามาพูด เพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการสถาปัตยกรรมในอนาคต โดยจะเลือกเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อประชาชนและวงการสถาปนิกเป็นหลัก
คาดหวังว่าจะเปลี่ยนความคิด ปรับมุมมองให้สังคมได้มากน้อยแค่ไหน
หวังว่าจะปลุกกระแสให้ทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ได้ฉุกคิด กับสิ่งที่มีวัฒนธรรมอย่างสถาปัตยกรรมเก่า เขย่าให้คนคิดว่าของเก่ามันมีค่า การที่บ้านเมืองเรากำลังเจริญขึ้น ถ้าเราไม่คิดถึงมุมนี้ คิดถึงเพียงแค่ความง่ายไว้ก่อน โดยทุบอะไรเก่าๆ ทิ้งไปเพื่อสร้างสิ่งใหม่ แต่ถ้าเราทำไปสักพักเราจะรู้ว่า เรากำลังเสียจุดแข็งและเสน่ห์ของเมืองเราไปอย่างไม่มีวันย้อนกลับคืนได้ นอกจากนั้นยังหวังว่าจะเปลี่ยนมุมมองว่าการอนุรักษ์ ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้เอาไว้ดูอย่างเดียว เพราะดูไม่นานก็เบื่อ ลองคิดดูสิว่าเราจะเข้าไปใช้ชีวิต เป็นหนึ่งเดียวกับสถาปัตยกรรมเก่าได้ มันจะก็คงจะเป็นเรื่องที่ดีทั้งต่ออดีต ปัจจุบันและอนาคต
มาร่วมหาคำตอบ ว่าเมืองของเรากำลังจะเดินไปในทิศทางไหน เมืองที่คนรุ่นต่อไปจะอาศัยอยู่จะหน้าตาเป็นอย่างไร ในงานสถาปนิก 63(Architect 20) ธีม: Refocus Heritage ณ อาคาร Challenger Hall เมืองทองธานี โดยมีประธานการจัดงานคือ ดร.วสุ โปษยะนันทน์ สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน ในวันที่ 28 เมษายน-3 พฤษภาคม 2563