ด้วยความแตกต่างทางลักษณะภูมิศาสตร์ ได้แก่ ดิน น้ำ สภาพภูมิอากาศ ในแต่ละภูมิภาคในประเทศไทย ทำให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรม ข้าวของเครื่องใช้ อาหาร ผสานภูมิปัญญาของผู้คนก่อให้เกิดเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ในท้องถิ่นนั้น ๆ อาจกล่าวได้ว่าสินค้า GI เป็นเรื่องราวที่ผู้คนในพื้นที่ได้นำเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นทั้งทางตรงและทางอ้อม สร้างสรรค์เป็นสินค้าจากคนในพื้นที่เพื่อถ่ายทอดออกสู่ผู้คนภายนอก กรมทรัพย์สินทางปัญญาเล็งเห็นถึงความสำคัญในลักษณะพิเศษของสินค้าดังกล่าว ซึ่งจัดเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง จึงมีการคิดริเริ่มให้ขึ้นทะเบียนและการใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย เพื่อยกระดับให้เป็นสินค้าชุมชนระดับพรีเมี่ยม และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication (GI)) คือ เครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้น ๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว GI จึงเปรียบเสมือนเป็นแบรนด์ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า
ปัญหาภาพลักษณ์ความล้าสมัยของสินค้า GI ที่เคยมีมาในอดีต ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่คอยขัดขวางไม่ให้สินค้าเติบโตเท่าที่ควร โดยเฉพาะโลกยุคโมเดิร์นในปัจจุบัน ที่ทุกอย่างเคลื่อนตัวไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปลักษณ์ภายนอก ก็เป็นสิ่งแรกที่ผู้บริโภคใช้ตัดสินสิ่งต่าง ๆ ภายในไม่กี่นาที หากบรรจุภัณฑ์ของสินค้าขาดความเชื่อมโยงกับโลกในปัจจุบัน ก็อาจจะถูกมองเป็นสิ่งล้าหลัง ไม่ได้รับความสนใจแม้ภายในจะเป็นสินค้าที่มีคุณภาพก็ตาม ด้วยปัญหาที่กล่าวมาจึงทำให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาจัดทำ “โครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” เพื่อใช้ Packaging Design เข้ามายกระดับสินค้าให้โดดเด่น ทันสมัย สมกับสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ มีคุณภาพดี และมีชื่อเสียง เป็นสินค้าชุมชนระดับพรีเมี่ยม สร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้แก่สินค้าที่มีตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทย (GI) พร้อมทลายกำแพงภาพจำเก่า ๆ ลดระยะห่างระว่างสินค้าชุมชนกับโลกภายนอกด้วยโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
โครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 และ ปี 2561 และปี 2562 นี้เป็นครั้งที่ 3 โดยแผนการดำเนินงานเริ่มจากตั้งคณะกรรมการเพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการสินค้า จำนวน 10 ราย และได้เชิญนักออกแบบมืออาชีพที่มีประสบการณ์ในด้าน Packaging Design ไม่น้อยกว่า 5 ปี เข้ามาพูดคุยกับผู้ประกอบการถึงความต้องการ ปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจ โดยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจ ชูเอกลักษณ์ของสินค้า และเหมาะสมกับการใช้งาน ให้สินค้าเป็นที่ยอมรับและเข้าถึงประชาชน สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ยกระดับสินค้าให้มีความพรีเมี่ยม เพิ่มมูลค่าและยอดการจำหน่าย ซึ่งเป็นการผลักดันเศรษฐกิจภายในระดับภูมิภาคให้แข็งแรง นอกเหนือจากการออกแบบบรรจุภัณฑ์แล้ว ยังได้ผลิตบรรจุภัณฑ์เริ่มต้นให้ผู้ประกอบการแต่ละรายภายในวงเงินไม่น้อยกว่า 30,000 บาท
โดยในปี 2562 มีสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ดังนี้
“ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง” ข้าวเปลือกมีสีฟาง หากเป็นข้าวกล้อง จะมีสีแดงจนถึงแดงเข้มในเมล็ดเดียวกัน สำหรับข้าวสาร เมล็ดข้าวจะมีสีขาวปนแดงแกมชมพู รูปร่างเรียวเล็ก อ่อนนุ่ม มีสีชมพูแดงเป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร เพาะปลูกในจังหวัดพัทลุง
“ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้” ปลูกครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร ใช้พันธุ์ข้าว “ขาวดอกมะลิ 105” และ “กข15” เท่านั้น มาปลูกในทุ่งกุลาร้องไห้ เมล็ดข้าวหอม ยาว เรียว เลื่อมมัน เมื่อหุงสุกจะมีกลิ่นหอมธรรมชาติ และนุ่ม
“ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์” เป็นผ้าทอที่ประดิษฐ์ลายด้วยการขิด และการจก ใช้เส้นไหมตีเกลียวเป็นทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง รวมทั้งเส้นไหมเพิ่มพิเศษ ทำให้เกิดลวดลายตามกรรมวิธีของชาวผู้ไทย จังหวัดกาฬสินธุ์
“เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง” ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตในตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีรูปทรงการปั้นและเขียนลาย เส้นโค้ง ลายเชือกทาบ ลายก้านขด ก้นหอยลาย รูปเรขาคณิต ลักษณะเดียวกับภาชนะเครื่องปั้นโบราณที่ขุดค้นพบดังกล่าว
“เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด” เป็นเครื่องปั้นดินเผาชนิดไม่เคลือบ มีสีส้มอ่อนจนถึงแดงอมส้ม มีการตกแต่งลวดลายจากการกดด้วยแม่พิมพ์ แกะสลัก ขีด รวมทั้งฉลุโปร่ง เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่มีความงดงาม แข็งแกร่งคงรูป และทนทาน ผลิตในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
“สับปะรดห้วยมุ่น” สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย ที่มีผิวบาง ตาตื้น เนื้อหนานิ่ม สีเหมือนน้ำผึ้ง รสชาติหวานหอม ฉ่ำน้ำ ไม่ระคายลิ้น ซึ่งปลูกในพื้นที่ตำบลห้วยมุ่นและตำบลน้ำไผ่ ของอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์
“น้ำหมากเม่าสกลนคร” เครื่องดื่มน้ำผลไม้ที่มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว เจือฝาด ได้จากการบีบ อัด ผลหมากเม่าหลวงสุก และผ่านกระบวนการเพื่อให้ได้น้ำหมากเม่าแท้ น้ำหมากเม่าพร้อมดื่ม และน้ำหมากเม่าเข้มข้น
ซึ่งผลิตในพื้นที่จังหวัดสกลนคร
“มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี” มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์เตี้ยสีเขียว ที่เรียกว่า หมูสีเขียว มีเปลือกสีเขียวสด ก้นจีบ ตรงกลางผลป่องกลม เนื้อหนาสองชั้น น้ำมะพร้าวมีรสหวาน กลิ่นหอม คล้ายใบเตย ซึ่งปลูกครอบคลุมพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอดำเนินสะดวก อำเภอวัดเพลง อำเภอบ้านโป่ง อำเภอเมืองราชบุรี อำเภอบางแพ อำเภอปากท่อ และอำเภอโพธาราม ของจังหวัดราชบุรี
“แห้วสุพรรณ” แห้วพันธุ์จีน ผลลักษณะกลมคล้ายหอมหัวใหญ่ มีรสชาติหวาน มัน เนื้อแน่นกรอบสีขาว ซึ่งผลิตในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
“ผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ” และหมักโคลนตามภูมิปัญญาของชาวผู้ไทเมืองหนองสูง ผ้าหมักโคลนมีสีเข้ม เนื้อผ้านุ่ม มีความมันวาว สีไม่ตก ไม่ซีดจาง มีกลิ่นหอมละมุนของดิน ที่ผลิตในจังหวัดมุกดาหาร
นอกจากการออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้า GI แล้ว กรมฯ ยังต่อยอดโดยการออกแบบชุดถุงของขวัญและการ์ดอวยพรสำหรับเทศกาลต่าง ๆ ที่สื่อถึงเอกลักษณ์พิเศษของสินค้า GI ที่มีความเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยเอาความเป็นธรรมชาติ เช่น ผืนดิน แม่น้ำลำธาร ความเป็นเกษตรกรรม วัฒนะธรรมของท้องถิ่น มาผสมผสานกับรูปแบบของสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย สร้างสรรค์เป็นลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดดเด่น สวยงาม ใช้บรรจุสินค้า GI มอบเป็นของขวัญในเทศกาลต่าง ๆ สร้างความประทับใจให้กับผู้รับได้เป็นอย่างดี
โครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ได้ดำเนินการมาตลอด 3 ปี ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการเป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ให้มีความเหมาะสมกับสินค้า มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น สวยงาม และส่งเสริมภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ให้ดีมีมูลค่ามากขึ้น ผู้ประกอบการสามารถจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น และตั้งราคาขายสินค้าได้สูงขึ้น 20 – 100%
จะเห็นได้ว่าสินค้า GI ไม่เพียงแต่มีคุณภาพดี แต่ยังบอกเล่าเรื่องราวเฉพาะของชุมชน รวมไปถึงรักษาเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นไม่ให้หายไปตามเวลา ทั้งหมดคือความสำคัญที่กรมทรัพย์สินทางปัญญามองเห็นและต้องการสร้างมูลค่าทางการตลาดให้สินค้า GI ให้มีมูลค่าสูงขึ้นด้วยดีไซน์สมัยใหม่โดยไม่ทิ้งอัตลักษณ์เดิม เพื่อที่จะได้สามารถเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคทั้งระดับชาติและนานาชาติ ตามแนวคิด “Local to Global” ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมการขายในระดับสากล สร้างภาพจำให้ผู้บริโภครับรู้ว่าสินค้ามาจากพื้นที่ใด มีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไร เกิดการสานต่อทางการค้าการลงทุน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
สายด่วน:1368
FACEBOOK: GI Thailand
YouTube: GI Thailand Official Channel
Instagram: githailand