ใต้ร่มเงาต้นมะเดื่อสูงใหญ่ แม้จะมีอายุกว่าสองชั่วคน ผลัดใบครั้งแล้วครั้งเล่าเกินกว่าที่จะนับถึงฤดูกาลที่ล่วงเลยมา แต่ก็ยังคงยืนต้นให้ร่มเงาเป็นส่วนหนึ่งบนอาณาเขตวังเทเวศร์ ผืนดินที่บันทึกเรื่องราวในประวัติศาสตร์ตลอด 5 แผ่นดินที่ผ่านมา นับตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 6 จวบจนปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม วรรณกรรม รวมไปถึงตำรับก้นครัวชาววังที่รสสัมผัส และกรุ่นกลิ่นแบบได้อดีตที่ยังคงหอมอบอวน อยู่ภายในพื้นที่แห่งนี้ แม้เวลาจะผ่านมากว่า 162 ปีแล้วก็ตาม
ภายใต้กิ่งก้านสาขาของต้นมะเดื่อที่เรากล่าวถึงคือเรือนหมู่ตัวอาคารสีเขียวไข่กา ที่ในปัจจุบันคือเดอะ ระวีกัลยา ไดนิ่ง ห้องอาหารไทยใน เดอะ ระวีกัลยา แบงค็อก พื้นที่บางส่วนของวังเทเวศร์ ที่ปัจจุบันได้เปิดต้อนรับผู้คนให้ได้เข้ามาดื่มด่ำประสบการณ์วัฒนธรรมการรับประทานอาหารแบบชาววังแบบดั้งเดิมกันได้แบบ All Day Dining
เดิมทีหมู่เรือนสีเขียวไข่กาหลังนี้ สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเรือนของพระนมทัต พึ่งบุญ ณ อยุธยา พระนมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยสร้างในช่วง พ.ศ. 2400 ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านของเวลาที่เปิดประตูเพื่อเปิดรับกระแสวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาจนหลอมรวม ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย สถาปัตยกรรม แน่นอนว่าได้ส่งอิทธิพลมายังหมูเรือนของแห่งนี้มีรูปทรงแบบสถาปัตยกรรมยุคโคโลเนียล
ภายนอกยังคงคาแรกเตอร์ของตัวอาคารสีพาสเทล หลังคาว่าวทรงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด เชิงชายที่ได้รับการฉลุอย่างวิจิตร เป็นลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมยุคนั้นไว้อย่างครบถ้วน สำหรับภายในเน้นการเก็บรักษาโครงสร้างของอาคารไว้อย่างเดิม ไม่ว่าจะเป็นงานไม้สัก และโทนสีเขียวไข่กาที่อ่อนลงตามอายุ ผสานการนำเฟอร์นิเจอร์สไตล์คลาสสิกสีอ่อนมาจัดวางยิ่งช่วยให้ขับบรรยากาศของวันเก่าๆได้อย่างละมุนละไม
โดยมีคุณรัชนี หนูอ่อน หัวหน้าเชฟประจำห้องอาหารรวีกัลยา ผู้ที่เป็นคนคัดเลือกรายการอาหารคาวหวานทั้งหมดเข้ามาในเมนูประจำห้องอาหาร โดยเธอเล่าว่าส่วนใหญ่เป็นอาหารไทยในช่วงต้นรัชกาลที่4 ถึงต้นรัชกาลที่6 เพื่อต้องการให้เมนูมีความสอดคล้องกับบรรยากาศของที่แห่งนี้ อันเป็นเรือนโบราณที่มีกลิ่นอายความวินเทจ
เธอเล่าที่มาของสำรับสูตรของเธอให้เราฟังว่า เป็นตำราที่ถ่ายทอดมาตั้งแต่สมัยต้นรัชกาลที่ 5 บางส่วนได้รับการถ่ายทอดมาจากอาจารย์ ผู้ที่เคยเป็นก้นครัวของวังเทวะเวศ บางสูตรมาจาก หม่อมหลวงเติบ ชุมสาย ผสมผสานกันจนออกมาเป็นส่วนผสมที่ลงตัวที่สุดสำหรับห้องอาหารรวีกัลยาแห่งนี้ โดยให้ความสำคัญที่การคงรสชาติที่นุ่มลิ้น ไม่จัดจ้านจนเกินไปดังในอดีต วัตถุดิบที่มีคุณภาพเพราะเป็นผักสดใหม่ และปลอดภัยจากแปลงผักเล็กๆที่ปลูกเองในพื้นที่ของโรงแรมอย่าง ใบพลู ใบกะเพรา ใบเตย อัญชัน มาผสานกรรมวิธีการทำครัวที่ประณีต ละเมียดละไม
อาทิ ข้าวตัง จากข้าวก้อนหม้อสมัยโบราณ ที่หุงข้าวแบบเช็ดน้ำ ข้าวก้อนหม้อที่ตากแห้งไว้ให้ลูกหลาน เด็กแดงที่ไปวิ่งเล่นได้รับประทานเป็นอาหารว่าง ข้าวตังในสมัยต้นกำเนิดจึงมีลักษณะเป็นแผ่นบาง บวกกับว่าครัวของคนในอดีตจะเต็มไปด้วยเครื่องคั่ว เครื่องเคี่ยว อย่างพวกถั่ว ก็นำมาเคี่ยวผสมกันกับน้ำตาลและเครื่องเทศอื่นๆ ก็จะได้ออกมาเป็นน้ำข้าวตัง ที่ใช้รับประทานกับข้าวตัง หรือเมี่ยงคำที่ในปัจจุบันก็มีการปรับสูตรกันไปตามพื้นที่และความชอบส่วนตัว ก็จะมีการใส่แบะแซบ้าง หรือถั่วบ้าง แต่น้ำเมี่ยงคำของที่นี่ยังคงสูตรดั้งเดิมที่มีแค่ หอมแดง ข่า น้ำตาลปีป และกะปิเพียง และใช้พริกขี้หนูสวนที่มีความหอมอร่อย นอกจากนั้นอีกเมนูแนะนำคือ ข้าวมันส้มตำ ที่นำข้าวไปหุงกับกะทิ ใช้กุ้งป่นและพริกแห้งทอดโขกให้เข้ากัน จะออกสามรสคือ เปรี้ยว หวาน และรสเค็มที่ท้ายการรสสัมผัส สุดท้ายเมื่อสำรับคาวเสร็จแล้วก็ต้องล้างปากด้วยของหวาน โดยที่นี่จะมีเมนูหวานที่เราไม่ค่อยได้เห็นทั่วไปอย่างขนมเหนี่ยว แป้งข้าวเหนี่ยวคลุกมะพร้าว รับประทานกับข้างพอง และน้ำตาลทรายแดง ที่มาปิดท้ายสำรับนี้ได้อย่างครบรส
“ อาหารไทยจะจัดสำรับ ตามผักจำประฤดู และสภาพอากาศของฤดูนั้นๆ อย่างหน้าร้อน ข้าวแช่ มะยงชิดลอยแก้ว ฤดูฝนก็เป็นต้มกะทิสายบัว ฤดูหนาว น้ำพริกมะขาม แกงกะทิ ทำให้ร่างกายอบอุ่น ”
เมื่อพูดคำว่า”อาหารชาววัง” อาจจะฟังดูไกลตัว ไม่คุ้นลิ้นคนทั่วไป สักเท่าไร ด้วยที่ว่าในอดีตอาหารตำรับนี้แพร่หลายอยู่ในเฉพาะเขตรั้วเขตวังตามชื่อเท่านั้น แต่ที่เดอะ รวีกัลยา ได้นำภูมิปัญญาด้านอาหารในราชสำนักได้แพร่หลายออกสู่นอกรั้ววัง เพื่อเล่าเรื่องวิถีชีวิตของคนไทยในอดีตไปพร้อมกับอิ่มเอมในรสชาติของสำรับที่วางอยู่ข้างหน้าอย่างละมุนลิ้น
Story : ธนภัทร อีสา
Photography : วลีวัลย์ ขำคม
Place : The Raweekanlaya Dining