ความเรียบง่ายแต่แฝงด้วยความพิถีพิถันของวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่แทรกซึมอยู่ในทุกบริบทของชีวิตลูกพระอาทิตย์ ตั้งแต่บ้าน อาหาร ตลอดจนสวนก็ได้มีการนำแนวคิดแบบเซน แนวคิดที่เต็มไปด้วยพลังแห่งธรรมชาติ และปรัชญา ทำให้สวนที่เราเห็นอยู่ตรงหน้า แม้จะเกิดจากการจัดเรียงตัวกันของสิ่งละอันพันละน้อย แต่ก็ซ่อนความหมายแทนภาพธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ไว้ในทุกจังหวะการจัดวาง
คุณกล้วย กานต์พนธ์ เลาหพรทรัพย์ Interior designers หนุ่ม ผู้หลงรักวัฒนธรรมญี่ปุ่นเข้าไปแบบจริงจัง เขาไปใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นเพื่อซึมซับ อิริยาบถต่างๆของวัฒนธรรมแดนอาทิตย์อุทัย จนกระทั่งกลับมาต่อยอดธุรกิจออนเซนย่านสุขุมวิท 49 ของเขาเองให้เป็นที่พักแบบเรียวกังในชื่อว่า Mayu Hotel เพื่อให้คนญี่ปุ่นในย่านนี้ หรือใครก็ตามที่รักความเป็นญี่ปุ่นเหมือนกันได้มาพักผ่อน และซึมซับบรรยากาศในแบบใกล้ชิดธรรมชาติ เพราะพื้นที่สวนทั้งหมดออกแบบให้เป็นรูปแบบของสวนญี่ปุ่น ที่ดึงแนวคิดธรรมชาติ สงบนิ่งแบบเซน และความสวยงามแบบเอเชียตะวันออกมาผสมผสานกัน โดยได้คุณมัช วิละรัตน์ นักจัดสวนญี่ปุ่นฝีมือดีมาออกแบบในส่วนของพื้นที่สีเขียวแห่งนี้ให้
“ ที่พักแห่งนี้เป็นสิ่งที่ต่อยอดมาจากธุรกิจออนเซนครับ ในทุกห้องพักจึงมีออนเซนในตัว ทำให้เราเข้าใกล้ความเป็นโรงแรมเรียวกังมากขึ้นไปอีก ผมอยากให้ที่นี่มีความพิเศษ แตกต่างจากแบบแผนของโรงแรมทั่วไป จึงดึงธรรมชาติจากสวนที่จัดสไตล์ญี่ปุ่น เข้ามาอยู่ในทุกจุดของที่พัก ซึ่งรวมไปถึงในห้องนอนด้วย ให้บรรยากาศเปลี่ยนไปในแต่ละวัน วันนี้มาพักอาจจะเจอบรรยากาศแบบนี้ แต่วันหน้ามาก็อาจเจอบรรยากาศอีกแบบหนึ่ง แม้มาห้องเดิมก็ตาม เพราะแขกก็จะสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงของสวนที่มันโตขึ้น เล็กๆน้อยๆ ครับ ” คุณกล้วยเล่า
พื้นที่สวนแทรกตัวอยู่ตามพื้นที่ใช้สอยส่วนต่างตั้งแต่ซุ้มญี่ปุ่นตั้งแต่เดินเข้ามา เพื่อต้องการให้สวนด้านหน้าเป็นตัวเชื่อมในส่วนของรีเซปชั่น ต่อจากรีเซ็ปชั่นก็จะมีสวนเล็กๆในแต่ละห้อง และออกไปสู่สวนส่วนกลาง เป็นแนวคิดการจัดโฟกัสที่เน้นอยู่ที่จุด กลาง แล้วกระจายองค์ประกอบไปรอบๆ เพื่อเชื่อมภายนอกจากภายใน ให้สวนทำหน้าที่เชื่อมพื้นที่ ใช้สอยต่างๆ เช่น ไดนิ่งรูม ลิฟวิ่งรูม และห้องอื่นๆ ทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน
คุณมัชเล่าถึงแนวคิดว่าการทำสวนญี่ปุ่น ว่าเขาจะมองจากบนพื้น มองไปที่ทะเล แล้วจัดวางจินตนาการออกมาเป็นเนินมอส แทนภูเขา โรยกรวดหินแทนสายน้ำ เพื่อสะท้อนการอาศัยอยู่ที่เป็นเกาะ ทั้งยังเน้นในเรื่องของสเต็ป การเล่นระดับของพื้นที่ให้ดูมีมิติ ลึก-สูง อยู่ทุกจุด ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพื้นที่จะมีการยกระดับให้สูงต่ำ เหลื่อมกันในบางจุดเพื่อมุมมองทางสายตา เพื่อสะท้อนถึงภูมิประเทศของญี่ปุ่นที่เป็นภูเขา
“ แนวคิดการจัดสวนญี่ปุ่นเป็นเรื่องของจินตนาการ ปรัชญา และศิลปะ ที่ไม่ต้องปรุงแต่งมากนัก เอาธรรมชาติมาเรียงร้อย ซึ่งในความเรียบง่ายก็มีความท้าทายซ่อนอยู่เหมือนกัน เพราะต้องมาจัดวางองค์ประกอบเล็กๆ เหล่านี้ให้เกิดภาพที่ลงตัว นี่จึงเป็นเหมือนการฝึกให้เรามองเห็นความลึก ละเอียดมากยิ่งขึ้น จากนั้นก็ใส่จินตนาการเข้าไป เพราะจัดสวนก็เหมือนทำงานศิลปะ ไม่มีถูกผิด แต่มีคำว่าลงตัว ซึ่งเรา กับเจ้าของบ้านจะรู้ว่าอะไรที่ลงตัวสำหรับตัวเอง ”
สำหรับ Hardscape อย่างทางเดิน นักจัดสวนพยายามทำให้ดูคลาสสิคเหมือนผ่านเวลามาหลายปี โดยการใช้สีจีนย้อมทั้งหมด จากนั้นโรยกรวดแกรนิต ผสมกับหินกรวดแม่น้ำผสมกันระหว่างเบอร์ 2, 3 ให้มันดูเป็นธรรมชาติตลอดแนวทางเดิน ส่วนพรรณไม้จะเน้นที่มีใบละเอียดเล็กไม่ หนา เช่นต้นตีนเป็ดฝรั่ง ที่สังเกตได้ว่ามีใบเล็กจนแสงแดดสามารถส่องลงมามีเงาตกกระทบลงพื้น แม้ความสูงไม่ถึง 10 เมตร แต่กิ่งก้านสามารถ ปกคลุมพื้นที่ได้เป็นอย่างดี นอกนั้นก็เป็นต้นสนใบพาย ต้นนี้มีอายุประมาณ 10-15 ปี สำหรับไม้พุ่มก็เน้นลักษณะที่โตช้า และมีสีแดง เพื่อเติมสีสันลงไปให้สวนดูไม่น่าเบื่อ นอกจากนั้นแล้วทางนักจัดสวนยังแนะนำเพิ่มเติมว่าสวนญี่ปุ่นควรหลีกเลี่ยงทิศตะวันออก เพราะแสงแดดแรงเกินไป จะทำให้มอสแห้ง และต้นไม้โตเร็วเกินไป
คุณกล้วยกล่าวทิ้งท้ายกับเราว่าสวนเป็นสิ่งมีค่าทางด้านจิตใจของผู้อยู่อาศัย เป็นความผูกพัน เมื่อพูดถึงสวนเราอาจนึกถึงความร่มรื่น แต่สำหรับตัวเขานั้นมองหาอะไรที่มากกว่าความร่มรื่น นั่นก็คือความเรียบง่ายแต่มากด้วยรายละเอียดแบบญี่ปุ่น ในแบบที่ว่าถ้าเราขาดก้อนนี้ไปมันก็ไม่ลงตัว ขาดชิ้นใดชิ้นหนึ่งไปไม่ได้ สิ่งนี้เองที่เป็นเสน่ห์ของสวนญี่ปุ่นที่เขาหลงรักแบบถอนตัวไม่ขึ้น
Story : ธนภัทร อีสา
Photography : นพพร ยรรยง
Host : คุณกล้วย กานต์พน เลาหพรทรัพย์
Garden Designer : คุณมัช วิละรัตน์