Back to home
Artist, SPOTLIGHT

Reborn the New own สู่ตัวตนที่ระเบิดออกมา

“ความป่วยไข้” แม้จะทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างคาดไม่ถึง สร้างบาดแผล และความเจ็บปวดให้ทั้งผู้ประสบ และผู้ดูแล และในวันที่ก้าวพ้นความป่วยไข้…ชีวิตก็ได้พบกับความหมายใหม่ ที่ไม่ใช่แค่การ “มีชีวิต” แต่เป็นความเข้าใจว่า “จะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร” ต่างหาก

อาจารย์จำนันต์ สาราลักษณ์ หลายคนอาจไม่ค่อยคุ้นชื่อศิลปินท่านนี้เท่าใดนัก แต่ถ้าได้ร่วมติดตามงานประกวดศิลปะในช่วงปี 2530 คงนึกชื่อขึ้นมาได้บ้าง อาจารย์จำนันต์เรียกได้ว่าเป็นตัวเต็งในการประกวดแข่งขันศิลปะในช่วงนั้นเลยทีเดียว เพราะไม่ว่าจะประกวดกี่ครั้งก็ได้รางวัลมาทุกครั้ง โดยรางวัลที่ทำให้อาจารย์จำนันต์เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นก็คือ การประกวดวาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จัดขึ้นโดยธนาคารกสิกรไทย

จุดเริ่มต้นเส้นทางศิลปะของอาจารย์จำนันต์ดำเนินมาตั้งแต่อาจารย์ยังเป็นเด็กที่ชื่นชอบในการวาดภาพ แม้ว่าวัยเด็กจะขัดสน แต่ภาพวาดก็เกิดขึ้นได้ทุกที่ภายในบ้านไม่ว่าจะเป็นพื้นดินที่ถูกขีดเขียน หรือว่าภาพวาดจากถ่านหุงข้าวในคอกวัว จนกระทั่งได้มีโอกาสไปเขียนโปรแกรมหนังซึ่งเป็นคัตเอาท์ขนาดใหญ่ตอนเรียนอยู่ชั้น ป.5 จนทำให้อาจารย์จำนันต์สามารถวาดภาพทั้งสเกลใหญ่ และสเกลเล็กได้ดีทั้ง 2 ขนาด ตัวอย่างรูปภาพภาพวาดพระบาทมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินีฯ ขนาดใหญ่ที่อาจารย์วาดอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ตึกเจ้าฟ้ามหาจักรี และหอประชุมมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ หลังจากนั้นก็ได้ทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่องทั้งงานประกวด งานการเมือง และสะท้อนสังคม

จุดพลิกผันของชีวิตอาจารย์เริ่มต้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว อุบัติเหตุขณะผ่าตัดไส้ติ่งทำให้ลิ่มเลือดอุดตันที่เส้นเลือดในสมอง ส่งผลให้ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาอาจารย์มีอาการเป็นอัมพฤกษ์ โดยลูกสาว และภรรยาของอาจารย์เล่าว่า “การดูแลในช่วงแรกยากมากค่ะ เพราะเริ่มจาก 0 เลย พ่อต้องเริ่มเขียนหัดตั้งแต่ ก.ไก่เลยนะคะ เริ่มต้นบวกเลขเลยค่ะ มันเจ็บปวดมากๆ เลย เพราะเราไม่เคยคิดว่าคุณพ่อที่เป็นอาจารย์จะต้องนอนอยู่โรงพยาบาลถึง 3 เดือนครึ่ง แล้วเราต้องป้อนอาหารทางสายยางอยู่ตลอด เรา 2 คนไม่คิดเลยว่าจะมาอยู่จุดนี้ได้ ตอนแรกไม่คิดเลยว่าคุณพ่อจะกลับมาวาดรูปได้ ขอแค่คุณพ่อมีชีวิตอยู่ก็พอแล้ว” แต่อาจารย์จำนันต์แย้งว่า “จริงๆ ใจผมคิดว่าผมไม่ได้ป่วย กำลังใจมีอยู่เต็มเปี่ยม เพราะว่าสมองมันไม่ได้ถูกทำลาย ส่วนความจำก็จำสีได้ดี เทคนิค ความสามารถ สกิลอะไรต่างๆ ทั้งวาดภาพ การดรออิ้ง ก็อยู่กับตัวผมมาตลอด หลังๆ ก็มีอาศัยแรงบันดาลใจบ้าง แรงบันดาลใจก็คือ ผมศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์ สิ่งสำคัญคือการที่เราไม่คิดว่าเราป่วย” นี่คือสิ่งที่อาจารย์ยึดถือมาโดยตลอด

หลังจากที่สามารถวาดรูปได้แล้วอาจารย์ก็ได้เดินทางไปวาดภาพที่โครงการในพระราชดำริทั้งที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, เพชรบูรณ์ และลพบุรี โดยถือว่าเป็นการวาดภาพ เพื่อบันทึกเรื่องราวความดีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาต่อปวงชนชาวไทยมาตลอดระหว่างเวลาของการครองราชย์

ผลงานของอาจารย์ช่วงก่อนป่วย และหลังป่วยแตกต่างกันมาก ไม่ใช่เรื่องของความงาม หรือความสมจริงเพราะทั้งสองสิ่งนี้เกิดจากผู้ชมที่รับสารจะตีความตามรสนิยมของแต่ละบุคคล แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ คอนเซ็ปต์ของการทำงาน ที่มีความปลดปล่อยความเป็นอิสระของการสร้างสรรค์ผลงาน โดยไม่ยึดติดกับความสมจริงที่เป็นทักษะแบบช่างที่ว่า “ถ้าใครวาดรูปเป็นก็วาดได้” แต่อาจารย์เจาะลึกไปถึงเรื่องเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นอมตะนิรันดร์ และมีภาพหนึ่งชิ้นที่เป็นรอยต่อสำคัญของทั้ง 2 ช่วงเวลาในชีวิตของอาจารย์ คือ งานภาพเขียนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่เป็นงานที่วาดไว้ตั้งแต่ก่อนป่วย แต่ยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี และได้สานต่อ 20% สุดท้ายช่วงหลังจากที่สามารถกลับมาวาดรูปได้แล้ว นับได้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะวาดภาพต่อให้เสร็จสมบูรณ์ในช่วงเวลานั้น แต่ผลงานกลับสื่อสารเรื่องราวของอารมณ์ ความรู้สึกออกมาได้ดียิ่งกว่าก่อนป่วยเสียอีก “รูปนี้มีความซับซ้อนในเรื่องของความคิดศิลปะ คนที่เป็นศิลปินเท่านั้นที่จะเขียนได้…ไม่ใช่ช่าง” นี่เป็นความแตกต่างของการทำงานวาดภาพที่อาจารย์เป็นอยู่

ผลงานชุดล่าสุดของอาจารย์จำนันต์จึงไม่ใช่แค่งาน Realistic อย่างที่เคยเป็นมา หากแต่มีทั้ง Semi-Realistic, Semi-Abstract, Impressionist และ Expressionist การป่วยเมื่อ 8 ปีที่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องน่าเศร้าของความเจ็บปวด และบาดแผลอีกต่อไป หากแต่เป็นการได้ชุบชีวิตขึ้นใหม่จากการค้นพบวิถีทางแห่งศิลปะในความเป็นอิสระของตนเอง “การมีชีวิตอยู่” ในความหมายของอาจารย์จึงไม่เพียงเป็นการมีชีวิตเพื่อการอยู่รอด แต่เป็น “การมีชีวิตอยู่เพื่อศิลปะ” อย่างแท้จริง

 

Story อัญชิสา พ่วงทรัพย์

Photographer รัก ปลัดสิงห์

Artist อาจารย์จำนันต์ สาราลักษณ์

 

Facebook Comments
By Oom, 16/10/2018
Leave a Reply
Change language:
Instagram API currently not available.
Instagram API currently not available.