Back to home
Beautiful Home, HOME

Outside in ต่อเนื่อง และ เชื่อมโยง

หากการก้าวข้าม Comfort Zone ของตัวเองได้นั้น เสมือนความท้าทายในชีวิตครั้งยิ่งใหญ่ ที่จะทำให้ได้เรียนรู้ และลองทำสิ่งใหม่ๆ ไปพร้อมๆกับการสั่งสมประสบการณ์ที่ไม่สามารถค้นคว้าได้ในตำรา การออกแบบสถาปัตยกรรมที่มีสภาพแวดล้อม สังคม และบริบทโดยรอบเป็นโจทย์ให้กับสถาปนิกได้ลงมือรังสรรค์ผลงานก็เช่นเดียวกัน อย่างบ้านที่มาจากภาพสมมุติสร้างให้เกิดขึ้น และอยู่อาศัยได้จริง เฉกเช่นบ้านสไตล์โมเดิร์นเซนหลังนี้ เจ้าของคือคุณต้า-ชยุตม์ หลีหเจริญกุล คุณพิมณภัทร์ พงศ์เลิศโภคิน และน้องจีน-พิมพ์ชญา หลีหเจริญกุล ที่ให้ความสำคัญกับการนำธรรมชาติภายนอก มีส่วนเชื่อมโยงกับการออกแบบภายใน ให้สอดคล้องไปกับการใช้ชีวิตบนพื้นฐานความเรียบง่าย

“ให้บริบท และสภาพแวดล้อมเป็นโจทย์หลักสำหรับการออกแบบบ้านหลังนี้ และนำไลฟ์สไตล์ของทุกคนในบ้านเป็นส่วนเติมเต็มทุกองค์ประกอบสร้างความสมบูรณ์ให้กับบ้าน” คุณหนึ่ง-เอกภาพ ดวงแก้ว สถาปนิก แห่ง Ekar Architects เล่าถึงที่มาของการออกแบบ และฉายภาพให้เห็นถึงการออกแบบบ้านหลังนี้ที่นำธรรมชาติ และความสงบนิ่ง มาร้อยเรียงทุกองค์ประกอบให้ต่อเนื่อง ตกผลึกเป็นบ้านสไตล์โมเดิร์นเซน ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจ และใส่ใจในทุกรายละเอียดของการออกแบบ

More detail

ฝ้าเพดานไม้สักออกแบบให้มีส่วนเว้า และโค้ง เพื่อเพิ่มมิติให้กับพื้นที่จำกัดดูกว้าง และเบรกความเเข็งกระด้างของเหลี่ยมมุมในบ้าน ดูมีมูฟเมนท์อย่างน่าสนใจ

 

ความเชื่อในสิ่งที่ทำ บวกกับความกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างบ้าน ไปพร้อมๆ กับการสร้างครอบครัวให้เติบโตไปด้วยกันในบ้าน 3 ชั้น บนพื้นที่ใช้สอยกว่า 300 ตารางเมตร ของบ้านทรงเรขาคณิต ได้สอดแทรกธรรมชาติให้สอดคล้องไปกับการอยู่อาศัยในทุกพื้นที่ คุณต้าเล่าว่า “เมื่อมีลูก ก็อยากมีบ้านสักหลังหนึ่งที่มีพื้นที่เพียงพอให้ลูกและคนในครอบครัวได้อยู่ด้วยกันอย่างสะดวกสบายมากขึ้น เมื่อมาเจอโครงการบ้านจัดสรรแห่งนี้ซึ่งเดินทางสะดวก และอยู่ใกล้โรงเรียนลูก เลยตัดสินใจอยู่ที่นี่ และอยากตกแต่งบ้านให้เป็นไปตามอย่างที่ต้องการ แต่ด้วยพื้นที่บ้านที่จำกัด จึงอยากทำให้บ้านดูกว้างขึ้น ด้วยเพราะผมชอบบ้านที่ดูโปร่งๆโล่งๆ ดูเรียบง่าย อย่างสไตล์โมเดิร์น และสไตล์มินิมอล คืออยากให้อยู่แล้วรู้สึกเป็นธรรมชาติ มีสวน ต้นไม้ กับบ่อเลี้ยงปลาคาร์ปให้ได้ชม จึงเป็นโจทย์ให้คุณหนึ่งออกแบบบ้านหลังนี้”

กฎแห่งการเชื่อมโยงภายใน และภายนอกเกิดขึ้นเมื่อคุณหนึ่งได้ออกแบบ Living Space ที่บริเวณชั้นล่าง ดีไซน์ให้เป็นจุดศูนย์กลางของบ้าน มีมุมนั่งเล่น มุม Dining และเพนทรีอยู่ด้วยกัน โดดเด่นด้วยฝ้าไม้สักโค้งเล่นระดับกับเพดาน เพิ่มมิติให้บ้านพื้นที่จำกัดดูกว้าง บวกกับการเลือกใช้วัสดุธรรมชาติ อาทิ ไม้สัก คอนกรีต วอลเปเปอร์พ่นผสมหินมาตกแต่งบ้าน เพิ่มความอบอุ่นให้กับบ้านหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ในขณะที่แท่งคอนกรีตใช้ทำเป็นแพนทรี และคอลโซนวางโทรทัศน์ ได้ติดตั้งให้ทะลกระจกใสไปถึงด้านนอก นอกจากใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะทำเป็นมุมนั่งเล่นนอกบ้าน และชั้นวางแล้ว ยังหลอกสายตาให้ตัวบ้านดูกว้างได้โดยปริยาย

สำหรับด้านนอกได้สร้างทางเดินตัวยู (U) เริ่มตั้งแต่บ่อปลา คอร์ตต้นไม้ ต่อเนื่องสู่มุมซักล้าง โดยให้กระจกเทมเปอร์กลาสขนาดใหญ่ไร้เฟรม ทำหน้าที่แบ่งภายใน และภายนอกอย่างลงตัว นับเป็นการผสานระว่าง Architecture landscape และ Interior ให้เป็นหนึ่งเดียว รองรับกับการใช้งานของสมาชิกภายในบ้าน ไม่เพียงแค่ Living Space ที่ออกแบบให้เป็นจุดเชื่อมต่อของทุกคนในบ้านเท่านั้น ในส่วนของ Pivate Zone ก็ให้ความสำคัญกับการใช้งานด้วยเช่นกัน อย่างห้องนอนมาสเตอร์ ยังเลือกคุม Mood and Tone ให้ไปในทางเดียวกันทั้งบ้าน รวมถึงห้องน้ำส่วนตัวออกแบบเป็นโทนสีขาว เสริมช่องแสง และปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มความสดชื่นยิ่งขึ้น ตอบรับวัตถุประสงค์ของเจ้าของบ้านที่ออกแบบบ้านให้กับน้องจีนหรือลูกสาววัยเรียนรู้ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติอย่างแท้จริง

`

“ความสุขเกิดขึ้นในบ้าน โดยไม่ต้องออกไปไหนไกล เพราะบ้านคือสถานที่ที่อยู่แล้วสบายใจ มีคนในครอบครัวช่วยกันสร้างให้เกิดขึ้น” คุณต้าทิ้งท้ายถึงความหมายของบ้าน สะท้อนให้เห็นความรัก ความอบอุ่นของครอบครัว ที่ซ่อนอยู่ในบ้านสไตล์เรียบง่ายหลังนี้ นับเป็นพื้นที่ที่เป็นจุดเชื่อมโยงของธรรมชาติ จิตวิญญาณ และความรัก ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

 “บ้าน คือ สถานที่ที่อยู่แล้วสบายใจ มีคนในครอบครัวช่วยกันสร้างและเติมเต็มให้เกิดขึ้น”       

คุณต้า-ชยุตม์ หลีหเจริญกุล

 

 

Story : จันทพิมพ์ ศุกรสุต

Photograpger : รัก ปลัดสิงห์

Host : คุณชยุตม์ หลีหเจริญกุล และคุณพิมณภัทร์ พงศ์เลิศโภคิน

Architect : คุณเอกภาพ ดวงแก้ว แห่ง บริษัท เอกา สถาปัตย์ จำกัด

 

 

 

 

 

Facebook Comments
By Oom, 16/10/2018
Leave a Reply
Change language:
Instagram API currently not available.
Instagram API currently not available.