Back to home
Beautiful Home, HOME

Natural Human เติบโตเคียงกัน

บ่ายวันหนึ่งในปลายฤดูร้อน ราวสองปีก่อนหน้าที่บ้านหลังนี้จะถูกสร้างขึ้น บนที่ดินผืนนี้มีงานแต่งเล็กๆ ของคนสองคนเกิดขึ้น ในวันนั้นไม่เพียงแค่ครอบครัว พี่น้อง และเพื่อนๆ ของคนทั้งคู่เท่านั้นที่ได้รับเชิญมาร่วมยินดีในชีวิตครอบครัวที่กำลังจะเริ่มต้น หากแต่เหล่า ก้อนดิน ต้นไม้ ต่างได้อยู่ร่วมเป็นพยานของคำสัญญาของทั้งคู่ที่บอกว่า จะอยู่ดูแลกันตลอดไป พร้อมทั้งยังได้อยู่เฝ้ามองการเติบโตชีวิตคู่ของเขาและเธอ ตั้งแต่เสาบ้านยังไม่ได้ถูกตอกลงดิน จนถึงวันที่ความรักของทั้งคู่ กำลังแตกกิ่งผลิใบเป็นพยานรักตัวน้อย ที่จะมาเป็นสมาชิกคนใหม่ของครอบครัวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

หลังจากเรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สาขากายภาพบำบัด คุณนพ นพรัตน์ บิดจันทึก เข้าทำงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกายภาพ และกระดูกอยู่ที่กรุงเทพฯกว่า 6 ปี ก่อนจะเลือกเดินตามความฝันเมื่อครั้งยังเป็นวัยรุ่นที่จะเปิดคลินิกครบวงจรยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เพราะเขาเชื่อเสมอว่าสภาวะใจที่สบาย จะส่งพลังในด้านบวกจากด้านในออกมาสู่กายให้แก่ผู้ป่วยที่มารับการรักษา โดยได้รับการเยียวยาจากธรรมชาติได้ นี่จึงเป็นแรงผลักดันให้เขาเริ่มต้นความฝัน สร้างคลิกนิคที่ภูตะวัน ปากช่อง พร้อมกับเริ่มต้นสร้างครอบครัวบนพื้นที่ ที่อยู่ไม่ไกลกันกับคุณพิ้งค์ กัญญาภัค ศิลวัฒนาวงศ์ ด้วยเช่นกัน

ทั้งคู่จัดงานแต่งงานบนที่ดินผืนเก่าที่ครอบครัวของคุณพิ้งค์เคยซื้อทิ้งไว้เมื่อหลายปีก่อน และวางแผนว่าจะปลูกบ้านสักหลังด้วยกันบนที่ดินผืนนี้ พื้นที่ที่เต็มไปด้วยความทรงจำ และความยินดีของวันแห่งการเริ่มต้นในอีกก้าวของพวกเขา แล้วยังมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แวดล้อมไปด้วยภูเขา และอากาศบริสุทธิ์ บวกกับไม่ไกลจากรุงเทพฯนัก ที่นี่จึงเป็นสภาพแวดล้อมที่ทั้งคู่เลือกที่จะวางรากฐานชีวิตครอบครัว และเติบโตไปด้วยกัน

“  ผมได้มีโอกาสไปสำนักสงฆ์เขาใหญ่ เห็นกุฏิ ทั้งขนาด และฟังก์ชั่นสร้างเท่าที่จำเป็นต้องใช้ ไม่ฟุ่มเฟือย สะท้อนให้เห็นถึงการอยู่อาศัยที่สมถะ เรียบง่าย เราเลยดึงแนวคิดตรงนี้มาใช้สร้างบ้านของเรา โดยได้รับความเมตตาจากพระสมชาย ถิรวิริโย สำนักสงฆ์เขาใหญ่ เป็นผู้แนะนำในการออกแบบครับ เพราะท่านเคยเป็นสถาปนิกมาก่อน พระอาจารย์แนะนำว่าด้วยงานของผมอยู่กับความเครียด ความเจ็บ ความป่วย บ้านผมควรมีความโปร่ง และโล่ง สบายสายตา ในขณะที่ภรรยาเป็นนักคิด เลยต้องการอะไรที่อบอุ่น เราเลยมองหาวัสดุพื้นถิ่นอย่างไผ่มาสร้างบ้าน เพราะไผ่เป็นไม้ที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพราะเมื่อนำมาใช้แล้ว สามารถปลูกทดแทนได้เร็ว ”

 

ปัญหา ไฟ มอด และปลวกของไผ่ทำให้ในทีแรกคนรอบข้างไม่เห็นด้วยนักที่จะนำไผ่มาเป็นวัสดุหลักในการสร้างบ้าน และคุณนพ และคุณพิ้งค์ทราบดีถึงปัญหานี้ดี เขาทั้งสองใช้เวลาเกือบสองปีเพื่อศึกษา คุณสมบัติ ปัญหา และการรักษาของวัสดุชนิดนี้ และก็พบความเป็นไปได้ที่จะนำวัสดุที่หลายคนมองว่าเป็นได้แค่งานหัตถกรรมพื้นบ้าน มาตอกเสาหลักสู่งานสถาปัตยกรรมที่กลมกลืนกับธรรมชาติแวดล้อม


“ ก่อนสร้างผมกับภรรยาไปเรียนรู้เรื่องราวของไผ่ อยู่สองปี ไป Workshop ฝึกเลื่อยไม้ ล้างไผ่ ทำเฟอร์นิเจอร์ที่วัด ในบ้านเลยมีเฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นที่เราก็ช่วยกันทำเอง ไปเรียนรู้ความแข็งแรง เรียนรู้ว่าไผ่มันใช้ได้จริง แล้วก็ได้พบว่างานไผ่เหมือนงานจักรสาน อยู่เป็นเส้นเดียวอาจดูบอบบาง แต่เมื่อสอดประสานกันแล้วแข็งแรง เหมือนฟันเฟืองในสังคม ต่างคนเป็นจุดเล็กๆ แต่เมื่อร่วมกันอย่างสามัคคีก็เป็นพลังที่แข็งแรงเพื่อขับเคลื่อนสังคมได้ ”

ในบริเวณที่ทั้งคู่ใช้เวลาในระหว่างวันมากที่สุดคือห้องนั่งเล่น ทั้งยังมีการออกแบบเพดานให้มีความสูงเป็นพิเศษแบบ Double Volume Space เพื่อให้ความรู้สึกโปร่ง เป็นอิสระ และออกแบบตำแหน่งช่องลมให้อยู่ขนานกันยิ่งช่วยให้อากาศหมุนเวียนเข้ามาภายใน และระบายออกสู่ภายนอกได้ดี และใช้กระจกใส เชื่อมโยงการเคลื่อนไหวของพื้นที่สีเขียวด้านนอกให้เข้ามาอยู่ในบ้าน ชั้นสองออกแบบพื้นที่บางส่วนแบบ Semi Outdoor ที่มีหลังคาปกคลุม แต่ผนังด้านข้างเปิดโล่ง เหมือนปฏิทินธรรมชาติให้ได้สัมผัสลมเย็นเมื่อถึงการมาเยือนของฤดูหนาว และชมต้นหางนกยูงหลังบ้านผลิดอกสีแดงทั่วทั้งต้นเพื่อบอกการเริ่มต้นของฤดูร้อนของทุกปี


“ การอยู่อาศัยร่วมธรรมชาติ ก็ช่วยให้เรารู้จักที่จะปรับตัว และเข้าใจในการเป็นไปของสิ่งต่างๆ รวมถึงเข้าใจตัวเองมากขึ้นกว่าเดิมครับ เพราะธรรมชาตินั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แบบที่เหมือนชีวิตที่มีขึ้นมีลง ได้ยิ้มหัวเราะ ร้องไห้ไม่ต่างอะไรกับที่ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละฤดู ธรรมชาติได้สอนเรา ทดสอบเรา เราก็ได้เรียนรู้ นี่คือสิ่งที่ผม และภรรยาได้รับ และลูกของเราที่กำลังจะเกิดมาเขาก็คงจะได้เรียนรู้เรื่องนี้เช่นกัน

การเรียนรู้จนเกิดความเชื่อมั่นช่วยให้สายใยของไผ่ถักทอขึ้นอย่างแน่นหนาเป็นบ้านชั้นครึ่งขนาดกะทัดรัด ที่วางตัวเองอยู่ตรงกลางระหว่างต้นประดู่ และต้นหางนกยูง ด้วยความอ่อนน้อมต่อต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่ก่อนในพื้นที่ ซึ่งเป็นความตั้งใจของทั้งคู่ที่ปรับตัวเองให้พอดีกับธรรมชาติ แทนที่จะปรับธรรมชาติให้พอดีกับตัวเอง ด้วยการตัดต้นไม้ที่มีมาก่อนอยู่แล้ว บ้านหลังนี้จึงเป็นเหมือนสมาชิกใหม่อีกหนึ่งชีวิตที่เกิดขึ้น รอวันงอกงามและเติบโต อยู่ร่วมกันไปพร้อมกับชีวิตอื่นๆ บนพื้นที่แห่งนี้

Story ธนภัทร อีสา Photography นพพร ยรรยง
Host คุณนพ นพรัตน์ บิดจันทึก คุณพิ้งค์ กัญญาภัค ศิลวัฒนาวงศ์

 

 

Facebook Comments
By Oom, 03/08/2018
Leave a Reply
Change language:
Instagram API currently not available.
Instagram API currently not available.