จับจังหวะ ประทับร่องรอยแห่งห้วงความรู้สึก… เฉียบพลัน รวดเร็ว อันพร้อมแปรเปลี่ยนในทุกวินาที ปาดป้ายรูปร่างจากหมึกดำ.ลงบนพื้นที่ว่างขาวสะอาด ในห้วงหนึ่งอาจไหววูบ หากแต่อีกอึดใจกลับสงบ เยือกเย็นเปลี่ยนผันไปตามขณะจิต… จับ จุ่ม ป้าย ณ ขณะหนึ่งของอารมณ์ ผลงานนามธรรมในแบบเฉพาะตัวของ “มหานิยม (มหาฯ) – เกรียงไกร แสงทอง”
การเริ่มต้นค้นหาแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เป็นตัวเองอย่างแท้จริงส่งผลให้สไตล์ และเนื้อหาในงานศิลปะของ “มหานิยม” เปลี่ยนไปจาก Pure Realistic เป็น Abstract ด้วยคอนเซ็ปต์ที่พูดถึง “ความรู้สึก ณ ขณะนั้น” ผ่านการประทับหมึกภาพพิมพ์สีดำ ด้วยดินน้ำมันที่มีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ ‘เกือบจะทันที’ ในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อบันทึกร่องรอยแห่งการรับรู้กับธรรมชาติภายในจิตใจของตน
“การยึดติดอยู่กับความเหมือนจริง และความสมบูรณ์แบบของงาน Realistic มันค่อนข้างจำกัดการพัฒนาผลงานของผมมาก เลยค่อยๆ ลดทอนรูปทรง นำลวดลายเทคนิคมาใส่เข้าไป แล้วปรับเปลี่ยนวิธีการสร้างรูปคนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการประทับปั๊ม ทำแม่พิมพ์ แกะยางลบก็มี จึงลองเปลี่ยนการ Drawing เปลี่ยนจากงานขาวดำ เป็นสีสันต่างๆ ฉูดฉาดบ้าง ไม่ฉูดฉาดบ้าง เพื่อประกอบรูปคนขึ้นมาด้วยวิธีการใหม่แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ และรู้สึกว่าความอิสระในการแสดงออกยังไปไม่ถึงที่สุด
เพราะผมเกร็งไปกับรูปคน และความสมบูรณ์แบบ หลังจากนั้นเลยลองลดฟอร์มของความเป็นคนลง ค่อยๆ ปลดล็อกตัวเองไปจนท้ายที่สุดได้คำตอบว่ารูปทรงไม่จำเป็นกับเราอีกต่อไปแล้ว จึงนำ Symbolic ที่ตัดทอนลงมารวมกัน โดยไม่มีรูปทรงใหญ่เกาะ ให้คนดูแกะรอยไปตามสัญลักษณ์ที่ผมฝากไว้ทีล่ะนิด เหมือนจารึกหรือภาพอักษรอียิปต์” คุณมหาฯ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสไตล์งานจากขั้วหนึ่งมาสู่อีกขั้วหนึ่ง
แม้ว่าดินน้ำมันจะตอบสนองต่อการสื่อสารผ่านงานศิลปะในระดับหนึ่งแล้วแต่บางครั้งก็ยังไม่ทันเท่าที่ใจของคุณมหาฯ ต้องการ จึงใช้ร่างกายของตนเองสร้างผลงานภาพพิมพ์ขึ้นมา เพื่อให้ผลงานตอบสนองได้ทันต่อความรู้สึกในเวลานั้น คุณมหาฯ อธิบายถึงการเลือกใช้หมึกภาพพิมพ์ และพื้นผิวของกระดาษอาร์ตมันในการสร้างสรรค์ผลงานว่า “เคยลองสร้างงานบนพื้นผิวอื่นทั้งกระดาษ และผ้าใบแต่การมองเห็นไม่เป็นไปอย่างที่เราต้องการ และเหตุผลที่ผมประทับมือ แขน หรือ ดินน้ำมันลงบนหมึกภาพพิมพ์ หมึกชนิดนี้ไได้เก็บรอยนิ้วมือของเราได้ละเอียด ซึ่งถ้าเลือกใช้พื้นผิวอื่นที่ไม่ใช่กระดาษผิวเรียบ และมัน texture ของพื้นผิวจะรบกวนการมองเห็น ด้วยรูปทรงที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อประกอบกับ ดีเทลเล็กๆ น้อยๆ (ผัสสะทางตา) ทำให้เกิดความหมายที่ซ่อนอยู่ หากไม่มีรายละเอียดพวกนี้งานที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นแค่รูปร่างขาวกับดำ”
นอกจากงานเซ็ตแรกๆ ที่เน้นการจับจังหวะของอารมณ์ความรู้สึกแล้ว งานเซ็ตต่อมาได้พัฒนาผลงานที่เกิดจากความสมมาตรของสมองที่ทำงานคู่กัน โดยใช้ร่างกาย 2 ฝั่งซ้าย – ขวาทำงานพร้อมกัน จนเกิดเป็นรูปร่างที่สมมาตร “ส่วนหนึ่งก็เป็นการตอบสนอง และกระตุ้นอะไรบ้างอย่างในเชิงจิตวิทยา รวมถึงตัวเราเองด้วย ซึ่งความสมมาตรทำให้เกิดความคอนทราสระหว่างขาวกับดำชัดเจนยิ่งขึ้น ส่งผลรุนแรงในเรื่องของพื้นที่ว่างที่เป็นสีขาวกับรูปทรงที่เป็นสีดำ ซึ่งกระตุ้นจินตนาการของทั้งเราและคนดู” คุณมหาฯ อธิบายถึงการเลือกใช้ความสมมาตรในการพัฒนาชิ้นงาน
หากจะนิยามถึงผลงานของคุณมหาฯ “ศิลปะของคนที่เอาแต่ใจ” คงเป็นนิยามสั้นๆ ที่น่าจะตรงตัวมากที่สุด “ถึงแม้ว่าภายนอกผมจะดูเป็นคนที่มั่นคง แต่ความจริงผมเป็นคนที่มีความเอาแต่ใจ จิตใจเปลี่ยนแปลงเร็ว ถ้าจะพูดว่าเป็นผลงานของคนเอาแต่ใจก็ได้นะครับ” คุณมหาฯ พูดถึงบุคลิกของตัวเอง
คุณมหาฯ พูดทิ้งท้ายเกี่ยวกับงานศิลปะในสไตล์ของตนเองว่า “การทำงานศิลปะก็เหมือนการเรียนรู้กับจิตใจที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มันกระโดดวูบวาบไปอย่างที่แสดงออกมาในผลงาน ผมเลยรู้สึกว่าอย่าไปยึดติด ปล่อยให้มันเป็นไป เรียนรู้มันไปดีกว่า อีกอย่างหนึ่งเทคนิคที่ผมทำ ใครๆ ก็ทำได้ ไม่ยากเลย แต่พอทำออกมามันอาจจะไม่เหมือนแบบนี้ อาจจะเป็นอีก Feeling หนึ่ง เป็น Movement ในแบบที่แต่ละคนเป็น งานแบบนี้ค่อนข้างให้อิสระกับคนทำนะ… ผมเชื่ออย่างนั้น”
Story อัญชิสา พ่วงทรัพย์
Photographer กานติพัทธ์ ช่างเรือ
Artist เกรียงไกร แสงทอง