อิ่มเอมกับอาหารที่เก็บเกี่ยวมาด้วยความตั้งใจ ในบรรยากาศอบอุ่นของ Rustic style ที่พาเรากลับสู่ความสามัญ เรียบง่ายเหมือนอยู่ในฟาร์มอันอุดมสมบูรณ์
Harvest restaurant ร้านอาหารจากสองมือของพี่น้อง คุณทิม บัญชาวิจิตรรัตนกิจ และ คุณเบลล์ ณัฐวดี วิจิตรรัตนกิจ ที่ต้องการเติมเต็มช่องว่า การออกแบบภายใน ดึงบรรยากาศของ Barn House หรือ โรงเรือนเก็บผลผลิตทางเกษตรกรรมแถบยุโรปมาเป็นแรงบันดาลใจ โดนใช้แก่นแท้ของสไตล์ Rusticที่คงไว้ด้วยความจริงของวัสดุ พื้นผิว สี รูปร่าง เข้ามาในการตกแต่ง เมื่อแรกเห็นเราจึงพบว่าโครงสร้างภายในร้านเป็นผนังปูนเปลือยเปล่า ที่มีรอยแตกร้าวให้เห็นก้อนอิฐมอญ ผสมผสานกับแผ่นไม้เก่าที่ผ่านแดด ลม ฝนมาฤดูแล้วฤดูเล่า
“ ที่ร้านเน้นความเป็นเนื้อแท้ของวัตถุดิบ และวัสดุ ไม้ที่เห็นเป็นไม้เก่าจากบ้านเก่าค่ะ ไปซื้อทั้งหลังเอาไม้มาใช้ โต๊ะ เก้าอี้ ออกแบบมาสำหรับร้านนี้โดยเฉพาะเป็นงาน costume made รวมไปถึงจานเซรามิค ก็ให้เขาทำช้อนส้อม เหล็ก ทุกอย่างมันเรียกได้ว่าเป็นงาน Craft ในทุกส่วนของการตกแต่ง เพราะเราอยากสร้างเอกลักษณ์ที่เป็นตัวของเราที่แตกต่าง ”
เพื่อรอเวลาให้เนื้อแท้ของวัสดุได้เผยความสวยงามตามธรรมชาติให้เราได้เห็น ด้วยการปล่อยให้วัสดุผ่านวันเวลาไปตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องไปซ่อมแซมจนวัสดุเสียความเป็นตัวตนแบบ Rustic นั้น อาจใช้เวลาเป็น 10 ปี แต่สำหรับ Harvestที่เพิ่งเปิดมาได้เพียง 3 ปี แต่กลับดูเหมือนว่าที่แห่งนี้ผ่านเวลามาเนิ่นนาน เป็นเพราะคุณทิม ที่เร่งเส้นเวลาให้เดินเร็วขึ้น โดยอาศัยทักษะทางศิลปะ และการตวัดปลายฝีแปรงของเขาเท่านั้นเอง
“ การตกแต่งมีทั้งส่วนที่ใช้ไม้เก่าจริงๆ และบางส่วนที่เราสร้างขึ้นมาใหม่แต่ทำให้มันดูเก่าครับ อย่างผนังเป็นฉาบปูนประมาณสามชั้น แล้วทิ้งไว้ แล้วฉาบซ้ำเพื่อให้แบ่งชั้นเป็นเลเยอร์ แล้วก็วาดเส้นเพื่อกะเทาะกำแพงตามเส้นชั้นแรกแล้ววาดชั้นที่สองแล้วก็กะเทาะซ้ำ เพื่อให้ออกมาแล้วดูแล้วมีความสมจริงที่เหมือนกับกำแพงเก่าจริง มากกว่าการทุบให้มันแตกเฉยๆ ”
รอยคราบต่างๆที่เกิดขึ้นบนกำแพงก็เกิดจาก การวาดที่ผสมกันระหว่างสีน้ำสีฝุ่น และสี Acrylic เนื่องจากสีแต่ละชนิดมีคุณสมบัติความหนา ความบาง ความโปร่งแสงไม่เหมือนกัน คุณทิมจึงดึงเอกลักษณ์ของสีแต่ละชนิดมาผสมกันเพื่อให้ดูเหมือนเป็นคราบเก่าจริงมากที่สุด โดยคุณทิมเล่าว่าเขาจะเป็นสีน้ำลงพื้นไว้ก่อน พอทาเสร็จก็จะขูดให้เกิดรอยถลอก จากนั้นก็วาดทับอีกทีด้วยสี Acrylic ผสมน้ำจางๆ เพื่อให้ดูเป็นคราบ และมีการผสมสีเหลืองและใช้สีดำมาอีกหน่อยเพื่อให้ดูเป็นรอยด่าง บนผิวกำแพง
พื้นที่แบ่งฟังก์ชั้นการใช้งานออกเป็น สองชั้น เปิดพื้นที่ใช้งานแบบ Double Space เพื่อให้พื้นที่ดูโปร่ง และเชื่อมมุมมองของพื้นที่ชั้นหนึ่ง และชั้นสองให้มีความต่อเนื่องกัน ด้วยการใช้สี Earth Tone หลอดไฟ Edison สไตล์วินเทจที่ให้แสงส้มสลัวทั่วทั้งร้าน บรรยากาศที่ห้อมล้อมเราจึงเป็นเหมือนภาพวาดสีซีเปียเก่าๆ ที่เดินทางไกลมาจากอดีต มีกลิ่นอายคลาสสิก และน่าค้นหาในเวลาเดียวกัน
นอกจากในส่วนที่เป็น restaurant แล้ว ยังมีส่วนของบาร์ที่ตกแต่งในสไตล์เดียวกันเรียกว่า The WoodShed ซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยประตูบานใหญ่เหมือนกับว่า Barn House อีกหลังที่ใช้เก็บฟาง เก็บฟืน จะเห็นได้ว่าโครงสร้างทั้งหมดของส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็นพื้น ผนัง และเพดาน รวมถึงโต๊ะ เก้าอี้ประกอบขึ้นจากไม้ทั้งหมด สร้างบรรยากาศด้วยแสงเทียน และหลอดไฟดวงเล็กๆ เหมือนดาวในคืนที่ฟ้าเปิด คลอด้วยดนตรี Jazz ที่บรรเลงสดจากนักดนตรีมืออาชีพ เพื่อเติมเต็มให้ค่ำคืนของลูกค้าพิเศษกว่าคืนไหนๆที่ผ่านมา
Story ธนภัทร อีสา
Photographer นพพร ยรรยง
Place Harvest restaurant สุขุมวิท 31 โทร. 02 262 0762