ในความเป็น Loft ที่ทุกอย่างยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อผสมผสานความเป็นตัวตนของเรา และบริบทของยุคสมัย ตลอดจนสภาพถิ่นที่อยู่ เพื่อให้การอยู่อาศัยดีทั้งต่อใจและกาย
จากโรงงานสู่บ้าน
อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า Loft คือร่องรอยจากยุคปฏิวัติอุสาหกรรม ที่ทิ้งไว้ให้เราหลังที่สงครามโลกครั้งที่สองจบลง เมื่อสงครามสงบ โรงงานต่างๆ ก็พากันปิดตัวลง จากเศรษฐกิจที่ตกต่ำจนรกร้าง บวกกับผู้คนในตอนนั้นต้องการหาที่อยู่หลังจากที่บอบช้ำจากสงคราม จึงเริ่มพากันเข้าไปจับจองโรงงานต่างๆ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย เกิดวิถีชีวิตที่ต้องอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่เป็นโครงเหล็ก และผนังเปลือย ถูกถ่ายทอดจากคนรุ่นก่อน จากที่ทำเพื่อความจำเป็น แต่ปัจจุบันวิถีการอยู่อาศัยเช่นนี้ได้กลายเป็นสไตล์การออกแบบบ้านที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
Loft กับความ Modern
หากเปรียบสไตล์ Loft เป็นคน ก็คงเป็นคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุค คนวัยกลางคนที่ยังเก๋า ยังคงพาตัวเองให้ร่วมสมัย และอยู่ในกระแสได้เสมอ เพราะด้วยการจัดสรรพื้นที่ของ Loft ที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง เน้นวัสดุลอยตัว ทำให้สไตล์ Loft สามารถปรับตัวเองให้กลมกลืนไปกับงานสไตล์อื่นๆ ได้ไม่ยากนัก เมื่อมาถึงในยุคปัจจุบันที่สไตล์โมเดิร์นแผ่อิทธิพลไปทั่วทุกงานออกแบบ Loft ก็สามารถเว้นพื้นที่ของตัวเองเพื่อให้งานสมัยนิยมได้เข้ามาผสมผสาน ให้เกิดความร่วมสมัยเช่นกัน ซึ่งคุณเจษฎา นฤชิต สถาปนิกจากบริษัท Ateliers Wan Muhamad Iskandar Co., Ltd ได้ให้ความเห็นว่า “ถามว่าจะเอามาใช้ในงาน Loft ได้ยังไง ถ้าเราเอาการแต่ง Loft เป็นหลัก นึกภาพว่า Loft คือสารตั้งต้นว่ามันมีอะไรบ้าง ก็คงเป็นงานผนัง งานโครงสร้างงานฝ้า อะไรที่มันเป็นดิบๆ แต่เราเอาสไตล์โมเดิร์นมาใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ ในงานตกแต่งให้มันเป็นตัวเชื่อมให้เข้ากับบริบท ยุคสมัยหรือว่าสไตล์ของคนที่ชอบ แม้รูปทรงจะเป็นโมเดิร์น แต่ถ้าเราเลือกเฟอร์นิเจอร์เป็นสีหนัง สีน้ำตาล มันก็จะดูล้อกับ Loft มากขึ้น เพราะบางคนอาจชอบเป็น Modern Loft ก็คือเอาความดิบของสถาปัตยกรรม แล้วเอาเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นโมเดิร์นมาผสม” นอกจากเรื่องรูปทรงแล้ว ในส่วนของสีสัน สำหรับใครที่อยากได้สไตล์ดิบแต่ดูไม่เถื่อนจนเกินไป
คุณเจษฎาแนะนำว่า การนำสีสันเข้ามาใช้ในงาน Loft ก็ช่วยเพิ่มชีวิตและความสดใสให้งานตกแต่งได้ แต่ทั้งนี้การหยิบสีสดๆ มาใช้ควรเป็นไปด้วยความระมัดระวัง มิเช่นนั้นสีสันเหล่านั้นอาจกลบกลิ่นอายของ Loftให้จางหายไปได้ “ในเรื่องของโทนสี สีสดใสอันที่จริงมันขึ้นอยู่กับความชอบครับ การเติมสีสันสดใสเข้าไปในงาน Loft เป็นสิ่งที่ทำได้ เป็นความสนุกที่ทำให้ Loft ดูไม่น่าเบื่อไม่เย็นชา ไม่ทึมจนเกินไป แต่เราควรคำนึงถึงในเรื่องการใช้สี สัดส่วน องค์ประกอบมากกว่า เพราะว่าการใช้สีเยอะไปทำให้กลิ่นอายของ Loft มันหายไป กล่าวคือสีที่จะเอามาเล่นกับ Loft มันเล่นยังไงได้บ้างเปรียบเป็นยีนส์จะใช้สีแถบสีเหลืองสีส้มมาก็คงไม่สวย แต่ถ้ามีกระดุมสักเม็ด หรือตะเข็บที่เป็นสีนิดหน่อย ให้พอมองว่ามันเป็นลูกเล่น แต่โดยรวมยังเป็น Loft อยู่ สัดส่วนไม่ควรเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ถ้ามากกว่านี้มันก็จะไปแย่งซีนกันเอง เราควรใส่ให้แค่พอสะดุดตาแต่ไม่ใช่จุดสังเกต เช่นห้องทั้งห้องเป็นนาฬิกาแขวนเป็นลูกเล่นที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ หรือนาฬิกาที่มีรูปทรงแบบ Loft แต่มีตัวเลข หรือเข็มนาฬิกาที่เป็นสีสัน มันก็ไม่ทำให้แย่งซีนกัน”
Loft กับ สถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น
แนวคิดการอยู่อาศัยแบบ Loft ที่มีต้นกำเนิดจากตะวันตกเมื่อนำมาใช้ในบริบทของภูมิภาคที่มีอากาศร้อนชื้นแบบไทย ควรมีการผสานแนวคิดเรื่องสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไทยเข้าไปด้วย เพราะในความเป็นจริงงาน Loft จะให้น้ำหนักไปทางกลุ่มวัสดุ เหล็กปูนแบบโรงงาน ซึ่งเมืองไทยจะเหมาะกับงานไม้ ที่มีความยืดหยุ่นในสภาพภูมิอากาศสูงกว่า เพื่อประยุกต์ความเป็น Loft ให้เข้ากับสภาพอากาศสู่ความเป็น Rustic Loft ที่ใช้ไม้เข้ามาร่วมกับงานปูน และเหล็กเพื่อการอยู่อาศัยที่สะดวกสบายทั้งกายและใจ
รวมไปถึงในแง่ของโครงสร้าง อาจมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เอื้อต่อทิศทางลมและฤดูกาลด้วย โดยคุณเจษฎาให้ความเห็นว่า “ด้วยความที่ Loft ต้นกำเนิดมาจากโรงงาน ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของโรงงานอุตสาหกรรมมันไม่มีปีกชายคา ถ้าเราเอามาโดยไม่ปรับเปลี่ยน สภาพอากาศแบบบ้านเราฝนสาดเข้ามามันก็เลอะเทอะได้ที่สำคัญลักษณะโรงงานมันจะเป็นพื้นที่เพดานสูง ทำให้แสงแดด และความร้อนเข้ามาได้มากจนควบคุมได้ยาก ดังนั้นอาจต้องใช้ศาสตร์ทางการออกแบบเข้ามาเสริมในเรื่องของการระบายอากาศ หรือว่าการเปิดช่องลมของบ้านเราเข้ามาช่วย เพราะถ้าเอามาทั้งหมดโดยไม่ปรับอะไร ถ้าเรามองแค่เพียงการตกแต่งอยู่แค่ภายใน แล้วไม่ได้สนใจภายนอกในความเป็นจริงมันก็จะใช้งานไม่ได้”
คุณเจษฎายังกล่าวต่อไปอีกว่า “บ้านเราอากาศร้อนควรเปิดช่องระบาย โดยเอาศาสตร์การออกแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเข้ามาช่วย อย่างเช่น การลดความร้อนด้วยการยกพื้นสูง เพราะก่อนที่ความร้อนจากผิวโลก จะลอยขึ้นมาสู่พื้นบ้าน ผ่านใต้ถุนก็ถูกพัดไปก่อนแล้ว ทำให้คนอยู่ในบ้านไม่รู้สึกร้อนเกินไปนักหรือถ้ามีความร้อนบางส่วนที่มันเข้ามาในตัวบ้าน อีกวิธีคือดีไซน์หลังคาให้มันสามารถระบายความร้อนได้ง่ายด้วยการเว้นระยะระหว่างหลังคา และฝ้า ให้มีช่องลมเพื่อเข้าออก ความร้อนจากหลังคาก็จะตกมาไม่ถึงตัวบ้าน เพราะพื้นที่ข้างบนและล่างลม Flow ตลอดเวลา ทั้งนี้ไม่ต้องกังวลว่าเราจะสูญเสียกลิ่นอายของ Loft เพราะเราดึงความเป็น Loft ออกมาจากวัสดุที่ใช้ ซึ่งมันจะไม่แย่งซีนกันเนื่องจากมันมีบทบาทคนละหน้าที่กัน เพราะหน้าที่ของสถาปัตยกรรมคือ มันตอบสนองวิถีชีวิตคนอยู่ แต่ว่าสไตล์ของ Loft ในปัจจุบันมันตอบสนองสุนทรียภาพการมอง เมื่อวิถีชีวิตกับสุนทรียภาพมาเจอกัน จะทำให้คนอยู่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้บนความชอบของผู้อยู่อาศัยเอง”
Story กองบรรณาธิการ
Photo ฝ่ายภาพนิตยสาร Life and Home