Back to home
Beautiful Home, HOME

Through one’s life สูงวัยสไตล์ลอฟต์

เรานัดแนะวันเวลาถ่ายบ้านในช่วงที่พายุฤดูร้อนเข้าไทยพอดี ความตื่นเต้นมาจากระยะทางจากกรุงเทพฯถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่เต็มไปด้วยเมฆฝนฟ้าครึ้ม และสายฝนเทกระหน่ำระหว่างทาง ทีมงานเริ่มท้อใจกันเลยค่ะ หวั่นกันไปว่าวันนี้จะไม่ได้ภาพสวยๆ ท้องฟ้าโปร่ง ซึ่งจะเสริมให้บ้านชั้นเดียวหลังนี้เกิดแสงและเงาที่เด่นชัดเป็นแน่แท้ จวบจนมาถึงที่หมาย ทุกอย่างสงบนิ่งท้องฟ้าเปิดฉายภาพบ้านกล่องชั้นเดียวตั้งอยู่บนเนินดินที่ยกสูงจากรั้วกั้นชัดแจ๋วต้นไม้ใหญ่รอบด้านกำลังผลิใบแตกยอดอ่อน ไร้เงาของพายุอย่างเช่นระหว่างทางที่เราผ่านมา

ทำเอาคนที่คุ้นเคยกับบ้านหลากสไตล์มานานหลายปีอย่างฉันแปลกใจอยู่ไม่น้อย เมื่อรู้ว่าบ้านหลังนี้ เป็นบ้านผู้สูงอายุ มันช่างไม่มีเค้าของภาพผู้สูงวัยให้เราเห็นกันเลยสักนิด ไม่ว่าจะเป็นทางสโลป ราวจับกันตก หรือแม้แต่โทนสีที่ดูเคร่งขรึม เป็นผู้ใหญ่ แต่ในตรงกันข้าม รูปทรงดีไซน์กลับสื่อออกมาในแบบที่คนรุ่นใหม่กำลังคลั่งไคล้ นั่นคือการเป็นบ้านสไตล์ลอฟต์ ซึ่งเป็นลอฟต์ที่เต็มรูปแบบ ไม่ได้ก่ำกึ่งครึ่งๆ กลางๆ แต่อย่างใด ลบภาพเดิมที่เคยรู้จักผ่านแนวคิดใหม่ที่สถาปนิกย้ำชัดว่านี่คือบ้านผู้สูงอายุจริงๆ

“แนวคิดของการออกแบบบ้านหลังนี้คือเพื่อเป็นบ้านตอนเกษียณอายุราชการครับ เจ้าของบ้านเป็นนายตำรวจทำให้ฟังก์ชั่นของบ้านถูกกำหนดออกมาตามไลฟ์สไตล์ เริ่มจากหน้าที่การงานที่เขาต้องต้อนรับแขกอยู่บ่อยๆ จึงต้องมีพื้นที่ส่วนกลางเพื่อให้แขกทั้งหลายใช้งานได้สะดวก ในขณะที่ระเบียงหน้าบ้านก็มีขนาดกว้างสำหรับผู้ติดตาม แบ่งเป็นสัดส่วนแต่ก็ไม่อึดอัด โดยที่สำคัญคือบ้านนี้เป็นบ้านของผู้สูงอายุ การออกแบบก็จะอิง Universal Design อย่างบันไดขึ้นลงที่มีสโลปพอเหมาะให้ใช้วิลล์แชร์สะดวก ตัวอาคารชั้นเดียวลดการใช้บันไดขึ้นลง รวมไปถึงการเชื่อมพื้นที่ส่วนกลางให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ ประตูก็มีความกว้างเป็นพิเศษให้เกิดทางสัญจรที่สะดวกหากใช้วิลล์แชร์” คุณกศินร์ ศรศรี สถาปนิกผู้ออกแบบบ้านจาก Volume Matrix Studio กล่าว

“ผมมองว่ารูปลักษณ์ภายนอกของบ้านเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง ส่วนที่สำคัญคือการใช้งานมากกว่า ถามว่าการใช้งานนั้นมาจากไหน ก็มาจากความต้องการของเจ้าของบ้าน เป็นสิ่งที่เขาเป็น เป็นสิ่งที่เขาจำเป็นต้องมี การออกแบบบ้านแต่ละหลังจึงมีโจทย์ที่แตกต่างกันออกไป แต่จุดหมายมีเพียงหนึ่งเดียวคือ เจ้าของบ้านต้องได้บ้านที่เป็นตัวเขา กศินร์ ศรศรี สถาปนิก”

นอกจากนี้ยังมีจุดเล็กๆ ที่สถาปนิกใส่ใจไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีน้ำหนักมาเพื่อให้สามารถรับน้ำหนักผู้ใช้งานในกรณีท้าวพิงหรือพยุงตัวได้ หรือจะเป็นการเลือกใช้กระจกใสเหนือบานประตู เพื่อให้คนภายนอกได้สังเกตว่าภายในห้องนั้นมีคนอยู่หรือไม่ หากเกิดอุบัติเหตุก็จะสามารถช่วยเหลือได้ทัน ซึ่งทั้งหมดที่เล่ามานั้น ไม่มีกลิ่นอายแบบผู้สูงอายุให้เห็นแม้เพียงนิด

ในส่วนของงานดีไซน์ บ้านชั้นเดียวหลังนี้แอบอิงแบบบ้านไทยอยู่หลายจุด ไม่ว่าจะเป็นตัวอาคารที่ยกสูงจากพื้นดินถึง 1 เมตร ซึ่งสถาปนิกออกแบบไว้ให้สูงกว่าระดับน้ำท่วมเมื่อหลายปีก่อน และใช้ใต้ถุนเตี้ยที่ปิดทึบเป็นช่องเซอร์วิสเก็บระบบไฟ ระบบน้ำตำแหน่งอาคารก็จัดวางเลย์เอ้าท์ให้อากาศหมุนเวียนอยู่ภายใน

โดยหันหน้าไปทางทิศเหนือ และวางมาสเตอร์เบดรูมไว้ในฝั่งทิศตะวันออก ตรงกลางคือมุมนั่งเล่น ครัว และรับประทานอาหาร ซึ่งเปิดรับลมเย็นเป็นแนวยาวต่อเนื่องกับระเบียงกว้างที่ทำหน้าที่เป็นชานบ้าน ทิศตะวันตกเป็นห้องนอนเล็กของลูกสาวที่ไม่ได้อยู่ประจำ ส่วนความสวยงามนั้น สถาปนิกใช้วัสดุเป็นตัวบอกเล่า ทั้งอิฐมอญอยุธยา ปูนเปลือยขัดมัน และเฟอร์นิเจอร์ที่ทำมาจากไม้เก่าสะสม

เมื่อถามถึงเหตุผลทำไมบ้านถึงเป็นสไตล์ลอฟต์ที่ไม่น่าจะเข้ากับเจ้าของบ้าน คุณกศินร์เล่าเพียงสั้นๆ ว่า ลอฟต์เป็นอะไรที่ง่าย ไม่ต้องมีบิลต์อิน ไม่ต้องใช้ไม้อัดที่ปลวกชอบ ไม่ต้องมีซอกหลืบซ่อนฝุ่น เมื่อเจ้าของบ้านเข้าอยู่จริง สไตล์ลอฟต์จะทำให้พวกเขาใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น

Host  ธนาพร กุศลสร้าง

Architecture  Volume Matrix Studio โทร. 08 7823 3757


 

Facebook Comments
By Oom, 20/06/2018
Leave a Reply
Change language:
Instagram API currently not available.
Instagram API currently not available.