แรงบันดาลใจในการแต่งบ้านให้สวย และน่าอยู่ อาจหาได้จากแกลลอรีแสดงภาพถ่ายบ้านที่มีอยู่มากมาย แต่เชื่อเถอะว่าการแต่งบ้านด้วยของสะสมที่คุณหลงใหล คือศิลปะ ที่ไม่เพียงทำให้บ้านมีชีวิตชีวาเท่านั้น ยังทำให้บ้านกลายเป็นกล่องแห่งความทรงจำ ที่สะท้อนรสนิยม และตัวตนเจ้าของได้ไม่รู้จบ
การจัดพื้นที่สำหรับจัดแสดงของสะสมโดยเฉพาะภายในบ้าน จึงต้องใช้ทั้งศาสตร์ และศิลป์ในการจัดวาง เพื่อทำให้บ้านไม่ใช่เพียงที่เก็บของเก่า คอลัมน์ Ideas for Home ฉบับนี้ ขอแนะนำเคล็ดไม่ลับที่จะทำให้ “บ้านเป็นผลงานศิลปะชิ้นหนึ่ง” ด้วยคำแนะนำจากคุณดลชัย บุณยะรัตเวช นักคิด นักเขียน นักดนตรี นักวางกลยุทธ์ นักปั้นแบรนด์แถวหน้าของเมืองไทย ผู้สะท้อนรสนิยมในการแต่งบ้านผ่านของสะสมได้อย่างชัดเจน และลงตัวมากที่สุด และอาจารย์ดวงกมล ลิ่มวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
กฎแห่งความสมดุล
คุณดลชัย แนะนำว่า สำหรับนักสะสมที่มีของรักของหวงมากกว่าหนึ่งรายการ นอกจากจะต้องคัดแยก และจัดหมวดหมู่ของสะสมแต่ละชนิดประเภทแล้ว หัวใจสำคัญที่ทำให้บ้านสามารถสะท้อนความคิดผ่านของสะสมได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคำอธิบาย คือ กฎแห่งความสมดุล เพราะกฎข้อนี้เป็นทั้งศาสตร์ และศิลป์ ที่ใช้ได้ตั้งแต่งานสถาปนิก แลนด์สเคป อินทีเรียดีไซน์ รวมทั้งการใช้ชีวิต
“อย่างหลักการออกแบบบ้านทรงไทยประยุกต์ ซึ่งเป็นสไตล์ที่ผมรู้สึกผูกพันมานาน ก็ไม่จำเป็นต้องนำความเป็นไทยมาจัดวางเสมอไป เพราะข้อจำกัดบางอย่างอาจไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาในปัจจุบัน คือทุกอย่างต้องอาศัยการประยุกต์ภายใต้บริบท และกฎแห่งความสมดุล
อย่างการจัดของสะสมที่ผมนำมาประยุกต์ในการตกแต่งบ้าน และโรงแรม Ndol Streamside Thai Villas สระบุรี ทุกชิ้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากสิ่งที่หลงใหลจากการเดินทาง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นมรดกตกทอด ที่ต้องการเก็บรักษา และส่งต่อภูมิปัญญาให้ลูกหลานได้เห็น และรับรู้ นั่นจึงเป็นที่มาของคอนเซ็ปต์ Asian Ecstatic ซึ่งหมายถึงการออกแบบ และจัดวางของสะสมบนความสมดุลโลกตะวันออก และโลกตะวันตก
คำว่า “สมดุล” ในความหมายของผม คือต้องไม่มาก หรือน้อยเกินไป เรียกว่าต้องไม่อวดของสะสมจนขาดความสวยงามในองค์กอบการจัดวาง หรือทำให้บ้าน หรือมุมหนึ่งมุมใดของบ้านไม่ชวนมอง ขณะเดียวกันก็ต้องไม่น้อยจนทำให้บ้าน หรือพื้นที่โชว์ของสะสมขาดความน่าสนใจ กฎแห่งความสมดุล จึงสอดคล้องกับสิ่งที่เราสะสม พื้นที่ และท่วงทำนองของการจัดวาง ซึ่งไม่มีรูปแบบ หรือบางครั้งไม่อาจบอกได้ด้วยทฤษฎี จนกว่าคนที่หลงใหลของสะสมจะได้ลงมือจัดบ้าน ขยับปรับเปลี่ยน หรือโยกย้ายของสะสม ด้วยตัวคุณเอง ผมว่านั่นก็เป็นอีกหนึ่งความสุขที่นักสะสมจะได้รับจากการนำของรักของหวงมาให้คนอื่นได้ชื่นชมในมุมมองใหม่ ที่เราดีไซน์ขึ้น ภายใต้กฎของความสมดุล”
ขณะที่อาจารย์ดวงกมลได้ให้ความหมายผ่านมุม สถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบ ว่า “ของสะสม”=ของที่เราหลงใหล และมีความสุขเมื่อได้ครอบครอง และ “บ้าน”= พื้นที่ที่สะท้อนตัวตนของเรา key หลักของการจัดวางของสะสมในบ้านน่าจะหมายถึง จะทำอย่างไรให้การนำเอาของที่เราหลงใหลมาจัดวางให้เหมาะสมเพื่อสะท้อนตัวตนของเรา
ในด้านสถาปัตย์ และการตกแต่งภายใน interior design กฎของความสมดุลมีความสำคัญมากค่ะ กฎของความสมดุลไม่ได้มีความหมายต่อการจัดวางของตกแต่งบ้านอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงความสมดุลของภาพองค์ประกอบโดยรวมทั้งหมดของพื้นที่ด้วย สมดุลในที่อาจารย์กำลังพูดถึงคือ balance ไม่ใช่ symmetry นะคะ ถ้า symmetry หมายถึง ซ้ายขวาเท่ากัน บนล่างเท่ากัน แต่ความสมดุลจะหมายถึง ความกลมกลืน ความพอดี ดูแล้วลงตัวในทุกมิติ
ในการตกแต่งบ้านด้วยของสะสมก็เช่นกัน การจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ไม่จำเป็นต้อง symmetry แต่ต้องสมดุล ยกตัวอย่างเช่น ผนังหนึ่งผนัง ไม่จำเป็นต้องตกแต่งด้วยรูปภาพในขนาดเท่าๆกัน จังหวะเดียวกันทั้งผนัง แต่อาจจะตกแต่งด้วยรูปภาพบ้าง ประติมากรรมบ้าง ในจังหวะ ขนาด และลักษณะ ที่พอเหมาะ หรือผนังหนึ่งผนังอาจจะตกแต่งด้วยรูปภาพหลายๆขนาด หลายจังหวะ แต่ดูโดยรวมแล้วไม่มากไปน้อยไป และดูเป็นเรื่องราวเดียวกัน หัวใจสำคัญคือ ต้องมีความเข้าใจหลักการของการจัดวาง ว่าจะสร้างสมดุลให้กับพื้นที่เพื่อส่งเสริมบรรยากาศได้อย่างไร
เวทีแจ้งเกิดของสะสมในบ้าน (Space)
ไม่ใช่แค่ให้ความสำคัญความลับข้อแรก จนลืมเรื่องของพื้นที่ (Space) ที่สุดในการจัดวางของสะสมในบ้าน จากการค้นหาคำตอบ อินทีเรียดีไซน์ทั่วโลกสรุปเหมือนๆกันว่า “การคำนึงถึงพื้นที่การจัดวางของสะสม ไม่ใช่แค่ช่วยทำให้บ้านโดดเด่น และน่าสนใจมากขึ้น แต่ยังรวมถึงไม่ทำให้ของสะสมกลืนหายไปกับบ้านด้วย และนี่คือ 4 โลเกชั่น ใน 4 ฟังก์ชั่นของบ้านที่อินทีเรียดีไซน์แนะนำให้ Collectors หยิบจับ และคัดเลือกของสะสมไปจัดวางให้เหมาะสมกับแต่ละห้อง ผ่านเคล็ดลับการเลือกใช้สี รูปทรง ขนาด และเรื่องราวที่เกี่ยวโยงกับวัตถุประสงค์
– Living Room ห้องนั่งเล่น หรือห้องรับแขก ซึ่งเป็นศูนย์รวมสายสัมพันธ์ของคนในบ้าน รวมถึงเป็นห้องที่ใช้ต้อนรับแขกผู้มาเยือน จึงมีการเลือกใช้สีโทนอุ่น เช่น สีครีม สีไม้ สีขาว เพื่อบรรยากาศที่ผ่อนคลาย และเสริมให้เกิดความรู้สึกสบายใจ การเลือกจัดวางของสะสมในห้องนี้จึงเปรียบเสมือนการแสดงออกถึงตัวตน และรสนิยมของผู้อยู่อาศัย โดยอาจบิลต์อินชั้นวาง ติดตั้งตู้กระจก หรือเจาะกำแพง สำหรับโชว์ของสะสมโดยเฉพาะ
– Bathroom ห้องน้ำ เป็นอีกห้องที่เป็นหน้าเป็นตาให้กับเจ้าของบ้าน ที่นอกเหนือจากความสะอาดแล้ว การจัดวางของสะสมชิ้นเล็ก เช่น ตุ๊กตาเซรามิก แจกันสะสม หรือผลงานศิลปะบางชนิด ก็ช่วยสร้างสีสันให้แก่ห้องน้ำไม่น้อย
– Bedroom ห้องนอน พื้นที่ของความเป็นส่วนตัว หากคุณผู้อ่านท่านใดมีของสะสมที่รักมากๆ ห้องนอนก็เป็นเวทีแจ้งเกิดที่น่าสนใจเลยทีเดียว การเลือกของสะสมที่มีคุณค่าทางจิตใจมาไว้ในพื้นที่ส่วนตัว ก็สร้างความสบายใจให้ผู้เป็นเจ้าของได้มากอย่างยิ่ง
– Corridor ทางเดิน หรือพื้นที่ว่างใต้บันได พื้นที่ที่หลายคนอาจละเลย แม้ว่าจะเป็นแค่ทางผ่าน แต่การจัดวางามของสะสมระหว่างทางเดินก็ช่วยให้บ้านดูโดดเด่น มีเสน่ห์มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ได้เช่นกัน
ห้องนั่งเล่น,ห้องนอน ห้องน้ำ หรือ Corridor ทางเดินภายในบ้าน จึงจัดเป็นพื้นที่เหมาะสำหรับการจัดวางของสะสมให้ดูเด่น
อาจารย์ประจำสาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบ ให้เหตุผลรองรับสาเหตุที่ห้องเหล่านี้ถูกยกให้เป็นพื้นที่เหมาะสม พร้อมเผยมุมมองที่แตกต่างออกไปว่า “ในความคิดของคนทั่วไป การจัดวางของสะสมควรจัดวางในพื้นที่หลักภายในบ้าน ที่สมาชิกในบ้านหรือแขกที่มาเยือนใช้งานบ่อยที่สุดเช่น ห้องนั่งเล่นห้องพักผ่อน ,ห้องนอน ห้องน้ำ หรือ Corridor บ้าน
แต่โดยส่วนตัวไม่ได้รู้สึกว่าของสะสมจะต้องจำกัดอยู่แต่ในพื้นที่ดังกล่าวเท่านั้น การจะจัดวางของสะสมจะวางอยู่ตรงไหนขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์, ความพึงพอใจ , และตัวตนของเจ้าของบ้านเป็นหลักค่ะ ฉะนั้นเราอาจจะวางของสะสมในห้องทำงาน หรือ ในห้องครัวก็ยังได้ สมมติว่าเจ้าของบ้าน enjoy เวลาที่มีแขก หรือคนอื่นมาร่วมชื่นชมของสะสม การเลือกพื้นที่ในการจัดวางของสะสมก็ควรจะเป็นพื้นที่กึ่ง public หน่อย เช่นห้องรับแขก ห้องทานข้าว หรือในบางกรณีเจ้าของบ้านอาจจะมีความสุขกับของสะสมเงียบๆคนเดียว ก็อาจจะจัดวางของสะสมไว้ในพื้นที่ private มากๆ บางคนเช่าพื้นที่ container เพื่อ display หรือ เก็บของสะสมโดยเฉพาะก็มี แขกที่จะเข้าไปสัมผัส หรือดื่มด่ำกับของสะสมเหล่านั้นได้ ต้องมี lifestyle เดียวกัน หรือ ต้องพิเศษจริงๆเท่านั้น”
The Art of Installation
ศิลปะแห่งการจัดวาง
อาจารย์ดวงกมล ยังบอกอีกว่า “องค์ประกอบทางศิลปะขั้นพื้นฐานสำคัญมากค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจัดวางของของสะสมในบ้านต้องคำนึงถึงพฤติกรรมของเจ้าของบ้านต่อของสะสมนั้นๆ รวมทั้งจุดประสงค์ของของสะสมนั้นๆเป็นหลักด้วย และพฤติกรรมนี่เองจะเป็นตัวกำหนดและทำให้รู้ว่าจะต้องจัดวางของสะสมเหล่านั้นอย่างไร ทั้งทางด้านตำแหน่งที่ตั้ง ระยะในการจัดวางต่างๆ และแนวทางการผสมผสานของสะสมให้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เพื่อสร้างบรรยากาศให้กลมกลืนและเกิดความสมดุล รวมทั้งสอดคล้องกับฟังก์ชั่นการใช้งานของพื้นที่เหล่านั้น
เช่น ของสะสมที่บางอย่างอาจจะเหมาะกับการดูด้วยตาแต่ไม่ควรจับต้องก็ควรจัดวางในตู้โชว์ ,ของสะสมบางอย่างเจ้าของบ้านอาจจะใช้งานไปด้วยสะสมไปด้วยและต้องการ display ด้วย เช่นกีตาร์ หรือ จักรยาน ก็ควรจะวางในพื้นที่ๆหยิบจับได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกันตำแหน่งที่จะวางของสะสมเหล่านั้นก็ต้องดูโดดเด่น และดึงดูดสายตาด้วย
ในส่วนของแสงสว่างก็เช่นกัน เมื่อทราบพฤติกรรม และความต้องการแล้ว แสงสว่างก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยให้ของสะสมดูโดดเด่นการเลือกใช้แสงกับของสะสมต้องคำนึงถึงบรรยากาศโดยรวมเป็นส่วนประกอบด้วย จึงจะสามารถเลือกใช้ประเภทของแสง สีของแสง และความเข้มของแสงได้อย่างเหมาะสม
สุดท้ายต้องไม่ลืมว่า ของสะสมเหล่านี้ตั้งอยู่ในบ้านและเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับfunction ของของสะสมในมิติของความเป็นองค์ประกอบและส่วนหนึ่งของพื้นที่ เพื่อสร้างบรรยากาศและความรู้สึกแบบองค์รวม (holistic)
นี่คือ 3 ความลับในการแต่งบ้านด้วยของสะสมให้สวยงาม และสะท้อนตัวตนเจ้าของบ้านโดยไม่ต้องเอื้อนเอ่ย
5 องค์ประกอบศิลปะ ที่นักสะสมต้องให้ความสำคัญ
นอกเหนือจากความลับของพื้นที่แล้ว “การจัดวาง” นับเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่จะทำให้การจัดวางของสะสมในบ้านโดดเด่น นี่คือ 5 องค์ประกอบศิลปะ ที่นักสะสมต้องให้ความสำคัญ
Story กองบรรณาธิการ
Photographer ฝ่ายภาพนิตยสาร Life and Home