ศิลปะวิธีที่สะท้อนผ่านวิถีแห่งประชาธิปไตยด้วยหลักวัตถุธรรม ในแบบ “ศาสตราจารย์พิเศษอารี สุทธิพันธุ์” ผู้สร้างงานศิลปะให้เป็นเรื่อง ‘ตามอัธยาศัย’ ในแบบเสรีภาพเฉพาะตน
(Nude (2537) เทคนิค สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 60 x 75 cm.)
นิทรรศการ Outside In ซึ่งจัดแสดงขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) นำพาให้ได้รู้จักกับอาจารย์อารี สุทธิพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2555 ผ่านกระบวนการทางศิลปะที่สะท้อนให้เห็น ความคิด และมุมมองของอาจารย์อารีในฐานะครูศิลปะที่มอบประสบการณ์ทางศิลปะให้แก่ลูกศิษย์ และประสบการณ์ที่ลูกศิษย์สะท้อนกลับมาสู่ครูด้วยศิลปะตามอัธยาศัยที่เป็นประชาธิปไตยตามแบบฉบับต่ละบุคคล
การได้มาทำความรู้จักศิลปินในครั้งนี้อาจารย์อารีขอให้ถือว่าเป็นครูที่มาพูดคุยกับลูกศิษย์แบบเป็นกันเอง และกล่าวว่า “ศิลปะเริ่มต้นที่คำว่าประสบการณ์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ของผู้เรียน หรือการเรียนแบบ Child Center ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แทนครูที่จะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม อีกทั้งอาจารย์ยังมองว่าศิลปะ เป็นวิทยาศาสตร์ที่สามารถทดลองอย่างมีเหตุ และผลมารองรับ เพื่อสร้างความเข้าใจ และเพื่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ ทางด้านศิลปะ อาจารย์อารีอธิบายเพิ่มเติมว่า “เราต้องการสอนให้รู้จักคิด และมีแนวทางนำเสนอในการคิดเริ่มต้น ด้วยความคิดทบทวนก่อน อยากให้ลองทบทวนดูว่า ในรูปสามเหลี่ยมใดๆ มุมทั้งสามรวมกันแล้วจะได้ 180 องศา จริงเสมอไปหรือ คงคิดว่าไม่จริงเสมอไป เพราะรูปสามเหลี่ยมบนพื้นระนาบ หากอยู่บนพื้นที่สามมิติ เพียงแค่มุมเดียวก็มีขนาด 90 องศาแล้ว” เพื่อชวนให้ลูกศิษย์ทุกคนชวนตั้งคำถามกับสิ่งที่ได้เรียนรู้มาตั้งแต่ยังเล็ก
(วัด เทคนิค สีน้ำบนกระดาษ ขนาด 37 x 55 cm.)
การทำความเข้าใจในเส้นทางศิลปะของอาจารย์อารีนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจแนวความคิดของอาจารย์ ผู้สร้างสรรค์ศิลปะแนวทาง “พิพัฒนาการนิยม (Progressive)” ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่ง เป็นแนวทางแห่งความมีอิสรเสรีที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง วัฒนธรรม และสังคมในกระแสสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ ซึ่งอาจารย์ได้ค้นพบความทันสมัยที่แท้จริง ค้นพบเสรีภาพประชาธิปไตยผ่านการศึกษาศิลปะ ค้นพบความรู้ที่แตกต่างของความรู้ด้านศิลปะจากยุโรป จนเกิดพัฒนาการ และแรงบันดาลใจให้กลับมาริเริ่มวงการศิลปศึกษาของไทย ทั้งยังมีการค้นหาความเป็นไทยอย่างมี ‘เสรีภาพ และความเท่าเทียมกันของประชาชน’ จนทำให้ศิลปะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ไม่ว่าจะอยู่ในชนชั้นใด หรือสถานะใดก็ตาม เมื่อได้ฟังแนวความคิดของอาจารย์ข้างต้นแล้วจึงทำให้เข้าใจในลายเส้น และสีสันบนผลงานของอาจารย์ (ตามอย่างอัธยาศัยของผู้เขียน) ว่า ผลงานของอาจารย์ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อสื่อสารเรื่องราวว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน แต่อย่างใด หากแต่นำเสนอภาพบรรยากาศของฉากหลัก ให้สะท้อนอารมณ์ของภาพวาด ณ ช่วงเวลาที่วาด หากแต่เมื่อได้มองดูภาพเหล่านั้นในช่วงเวลาที่ต่างกัน ความหมายที่ได้รับก็จะต่างกันไปตามบริบทของช่วงเวลา และความเข้าใจของผู้ชม
(รามเกียรติ์ (2516) เทคนิค สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 80 x 155 cm.)
ผลงานของอาจารย์ในช่วงหลังจากกลับมาจากประเทศอเมริกาส่วนใหญ่เป็นงานศิลปะแนวทดลอง ที่ใช้อุปกรณ์สร้างสรรค์ผลงานอย่างอื่นนอกเหนือจากพู่กัน หรือเกรียง อาทิ บัตรเครดิต แปรงยาง ที่ฉีดน้ำ ลูกกลิ้ง ขวดซอสแบบสามช่องบีบ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่เกิดจาก Creative Thinking แทน Linier Thinking ตัวอย่างเช่นงานชุด ‘COLLIWOSPA’ ศิลปะแนว Post-Structuralism ที่มีการลดทอนโครงสร้าง รื้อสร้างความหมายเดิมของภาพ (ผู้หญิง) โดยตัวหมาย (Signifier) หรือรูป และตัวหมายถึง (Signified) หรือความหมาย ไม่ใช่เรื่องเดียวกันอีกต่อไป ซึ่งเป็นการรื้อและประกอบสร้างใหม่บนองค์ประกอบใหม่ที่เรียกว่า “สิ่งที่ตามองเห็น” คือสี แสง วัตถุ และบริเวณว่าง กลายเป็นสิ่งที่เห็น แต่ในความเป็นจริงศิลปินได้สร้าง “เวลา” และเพื่อให้เห็น “เวลา” ที่เปลี่ยนแปลงขณะที่ดวงตารับรู้ไปด้วย จึงเกิดเป็นการลากเส้น “ผู้หญิงเปลือย” จำนวนหลายรูปทับซ้อนกัน ซึ่งต่างไปจากขนบเดิมที่ภาพเปลือยจะต้องเป็นภาพเดี่ยวเท่านั้น
“อาจารย์อารี สุทธิพันธุ์” เป็นครู และศิลปินที่เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์แห่งประชาธิปไตยที่ปฏิวัติรูปแบบ และเปิดเปลือยแนวคิดที่สะท้อนความเป็น ‘มนุษย์’ ผ่านศิลปะตามอัธยาศัย ซึ่งหากจะสรุปรวบยอดเส้นทางศิลปะของอาจารย์ที่พัฒนา และเปลี่ยนแปลง ผ่านการพิสูจน์ ทดลอง หาเหตุผลมากว่า 88 ปี คงไม่อาจกล่าวออกมาเป็นข้อเขียนได้หมด หากคุณผู้อ่านมีความสนใจแนวทางของอาจารย์ จึงอยากแนะนำกลุ่มศิลปะตามอัธยาศัย กลุ่มปรุงสี กลุ่มวันจันทร์ ซึ่งเป็นผู้นำเสนอแนวทางศิลปะในแบบของอาจารย์อารีให้ได้เรียนรู้กันตามอัธยาศัยของทุกท่าน ผ่านสองตาเห็น สองมือลากระบาย และอีกนับล้านความคิดตามต้องการเพื่อสื่อสารกับ ‘ธรรมชาติ’ แห่งศิลปะด้วยตัวทุกท่านเอง
(รามเกียรติ์ (2516) เทคนิค สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 80 x 60 cm.)
Story อัญชิสา พ่วงทรัพย์
Photographer รัก ปลัดสิงห์
Artist ศาสตราจารย์พิเศษอารี สุทธิพันธุ์