ผลงานการสร้างสรรค์ Pavilion ภายในงานสถาปนิก’ 61 เริ่มต้นด้วยนิยามของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น หรือ Vernacular Architecture ที่แม้จะมีรายละเอียดต่างกันบ้างในบางแนวคิด แต่จุดร่วมของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น คือ การให้คุณค่ากับเทคนิคการก่อสร้างที่คำนึงถึงความต้องการของมนุษย์เป็นหลัก ผ่านการนำวัสดุท้องถิ่นมาใช้ และความเข้าใจบริบทที่แวดล้อมโดยธรรมชาติที่หล่อหลอมให้เกิดรูปแบบ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ทั่วโลกที่สะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ และวัฒนธรรมที่แตกต่าง
ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็ว สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเริ่มเลือนหาย แต่แนวคิด และแก่นแท้ของความเป็นพื้นถิ่นยังคงอยู่งานสถาปนิก’ 61 Beyond Ordinary กับคอนเซ็ปต์ไม่ธรรมดาจึงได้หยิบยกแก่นของแนวคิดสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น มาออกแบบในความร่วมสมัย ซึ่งสะท้อนผ่าน Pavilion ภายในงานทั้ง 17 Pavilion ได้เป็นอย่างดี นิตยสาร Life and Home จึงขอหยิบยกเรื่องราวบางส่วนของการออกแบบ Pavilion ในงานครั้งนี้มาพูดถึงอีกครั้งก่อนที่จะถูกกาลเวลาลบเลือนไป
Main Stage ออกแบบโดยคุณศาวินี บูรณศิลปิน และคุณ Tom Dannecker จาก Thingsmatter ด้วยการนำเสนอโครงสร้างที่หยิบยืมมาจาก ‘ไม้ไผ่’ ซึ่งเป็นวัสดุราคาไม่แพง มาประกอบสร้างด้วยวิธีชาวบ้าน โดยใช้โปรแกรมจากคอมพิวเตอร์จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นรูปทรงร่วมสมัย สะท้อนงานพื้นถิ่นที่มีความยืดหยุ่น ผ่านโครงสร้างไม้ไผ่ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นให้แปลกตาไปจากโครงสร้างในรูปแบบดั้งเดิม
Meeting Space Pavilion ออกแบบโดยคุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ จากWalllasia เลือกใช้ไม้ไผ่ และเทคนิคการก่อสร้างแบบประยุกต์ แสดงถึงความทับซ้อนของกิจกรรมทางสังคมในพื้นที่สาธารณะ สื่อถึงการประยุกต์ใช้พื้นที่แบบผสมผสานบนพื้นที่ทางกายภาพหลากหลายรูปแบบ ตั้งคำถามต่อปฏิสัมพันธ์บนโลกออนไลน์, โลกเสมือนจริง (AR) และพื้นที่ทางกายภาพว่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร และจะทำให้บทบาทพื้นที่สาธารณะของเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรด้วยเทคนิค VR (Virtual Reality)
Living Space Pavilion ออกแบบโดยคุณบุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ จาก Boon Design นำเสนอลักษณะการเปลี่ยนแปลงของเรือนพื้นถิ่นจากสมัยบุพกาลสมัยพัฒนา และร่วมสมัย สื่อความหมายผ่านภาพถ่าย การออกแบบแสง และโครงร่างจำลองแม่เตาไฟ โดยสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการเปรียบเทียบความเหมือน ความต่างในบริบทวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น โดยแบ่งประเภทของชุดภาพเป็นหัวข้อต่างๆ ทั้งการตั้งถิ่นฐาน, รูปทรงอาคาร, พื้นที่เปลี่ยนผ่าน,พื้นที่พักผ่อน หรือรับแขก, พื้นที่ทำงาน, พื้นที่ทางความเชื่อ, พื้นที่ใต้ถุน และพื้นที่สวน นอกจากนี้ยังถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ผู้ที่เข้ามาในพาวิเลียน ได้ตระหนักรู้ถึงดินที่สามารถทำเป็นกำแพงปิดกั้น เป็นบันได เป็นที่นั่ง-นอนได้ไม่ต่างกับวัสดุอื่นๆดินที่ใช้จึงแสดงให้เห็นถึงความธรรมดาที่มีความพิเศษอยู่ในตัว “ทุกอย่างบนโลกนี้มีโอกาสอยู่ในทุกสิ่ง ขอให้มีปัญญาเห็น เราจะทำได้เอง” บทสัมภาษณ์ของคุณบุญเลิศที่กล่าวถึงมุมมองของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
ASA Member ออกแบบโดยคุณนพพล พิสุทธิอานนท์ จาก QUINTRIX ARCHITECTS ใช้เทคนิคการก่อสร้างแบบงานช่างฝีมือในการสร้างโครงไม้ไผ่ ผ่านแนวคิดของดงไผ่ คือ ส่วนลำต้นจะใช้ไผ่เต็มลำวางตั้งในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้รบกวนกับผลงานของสมาชิกฯ ให้น้อยที่สุด โดยจะเป็นทั้งโครงสร้างและตัวกำหนดทิศทางของผู้ชม ส่วนธีมหลักคือตัวหลังคา ออกแบบเล่นกับตัว Roof Feature โดยการใช้รูปทรงเรขาคณิตที่เรียกว่า Hyperbolic Paraboloid มาทำการดัดโค้งและจัดวางลดหลั่นกันไป เพื่อทำหน้าที่กำหนดแสงเงาให้กับพื้นที่แสดงงาน รวมถึงดึงดูดความสนใจแก่ผู้เข้าชม
นับได้ว่าเป็นการจัดแสดงผลงาน และแนวคิดทางสถาปัตยกรรมที่เข้าถึงแก่นแท้ของงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ด้วยวัสดุธรรมชาติที่เป็นรากฐานของวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น เปรียบได้กับการย้อนคืนสู่สามัญธรรมดาของโครงสร้าง หากแต่ประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีในการสร้างสรรค์ช่วยให้ผลงานแต่ละชิ้นสะท้อนการอยู่ร่วมของวัฒนธรรมดั้งเดิม และความร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี
ขอบคุณข้อมูลจากงานสถาปนิก’ 61 และเว็บไซต์ www.asaexpo.org
Story อัญชิสา พ่วงทรัพย์
Photographer รัก ปลัดสิงห์ Place งานสถาปนิก’ 61