นอกเหนือไปจากความสุขของการได้สะสมของที่ชอบแล้ว การได้จัดบ้าน วางองค์ประกอบทุกส่วนสำหรับของสะสมด้วยตัวเองก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยเติมเต็มความสุขให้ทวีคูณ
หินคอบเบิลสีดำนำทางให้ได้พบกับบ้านสไตล์ Modern Cottage ที่ล้อมด้วยรั้วต้นไม้ขนาดใหญ่มากพอที่จะบดบังตัวบ้านจากสายตาผู้คนได้ โครงสร้างบ้านภายนอกเลือกใช้อิฐสีขาวเป็นวัสดุปิดผิว ตัดกับไม้สีน้ำตาลเข้มของประตู และหินภูเขาที่ประดับผนัง นอกจากตัวบ้านขนาดใหญ่แล้วยังมีโรงรถที่ตกแต่งในสไตล์เดียวกับตัวบ้าน และผับ The Garage ที่ตกแต่งในสไตล์ American Country เพื่อให้สอดคล้องไปกับโรงรถด้วย
พื้นที่บ้านกว่า 2,000 ตารางเมตรของ คุณหมอสุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือแบรนด์ Beauty Buffet, Beauty Cottage และ Beauty Market เต็มไปด้วยพื้นที่ให้แก่ของสะสมที่คุณหมอชื่นชอบ จุดเริ่มต้นจากความใฝ่ฝันในวัยเด็กที่ต้องการเรียนสถาปนิก ทำให้คุณหมอชื่นชอบในการอ่านหนังสือเกี่ยวกับการออกแบบ สถาปัตยกรรม และการตกแต่งภายใน ทำให้คุณหมอได้ออกแบบบ้านหลังนี้ขึ้นเองผ่านการส่งต่อ Reference ตามความต้องการให้สถาปนิก และอินทีเรียร์ออกแบบ
โจทย์ที่คุณหมอส่งต่อให้สถาปนิก คือ “ทำยังไงให้เดินเข้ามาแล้วรู้สึกว่าบ้านหลังนี้ไม่อยู่ในประเทศไทย ให้ความรู้สึกเหมือนกับอยู่ต่างประเทศ แล้วก็ไม่เหมือนบ้านที่อยู่อาศัย แต่เหมือนบ้าน vacation home โจทย์อีกอย่างคือผมชอบบรรยากาศที่เขาใหญ่แต่ตอนนั้นยังไม่มีที่ดิน จึงบอกสถาปนิกว่าต้องการให้บ้านมีบรรยากาศเหมือนอยู่ที่เขาใหญ่ทุกวัน นี่คือโจทย์ใหญ่ๆ ที่ผมให้ไป”
ส่วนสไตล์ของบ้านเกิดจากการชอบความโปร่ง สบาย และฟังก์ชั่นในแบบโมเดิร์น แต่คุณหมอก็ชอบความเป็นวินเทจสไตล์ Cottage คือบ้านต้องมีหลังคาสูง มีหน้าต่างตรงหลังคา คล้ายกับว่าบ้านมีห้องใต้หลังคา จึงเกิดการผสานความชอบทั้งสองแบบนี้อย่างลงตัวในสไตล์ Modern Cottage วัสดุที่ใช้จะถูกคัดเลือกมาเป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นทรงจั่ว โครงเหล็กแบบโมเดิร์น หรือกระทั่งก้อนอิฐที่เลือกละเอียดถึงผิวสัมผัสของอิฐแต่ละก้อน
การตกแต่งภายในก็เช่นเดียวกันคุณหมอสุวินเป็นผู้เลือกของสะสมแต่ละชิ้นด้วยคุณหมอเอง รวมถึงการจัดวางของสะสมทั้งหมดด้วย โดยของสะสมส่วนใหญ่ของคุณหมอจะเป็นของสไตล์วินเทจ และสไตล์อินดัสเทรียล ซึ่งมี Mood & Tone ที่แตกต่างกัน การตกแต่งภายในบ้านจึงเป็นไปตามรูปแบบ และอารมณ์ของของสะสมแต่ละรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งผับ The Garage ด้วยอุปกรณ์ เครื่องยนต์ต่างๆ ในสไตล์อินดัสเทรียล เนื่องด้วยเพราะถูกพัฒนา และปรับเปลี่ยนต่อเติมมาจากโรงรถ ซึ่งตกแต่งเติมด้วยของสะสมจากผับส่วนตัว อาทิ แท่นจ่ายน้ำมัน ป้าย อีกทั้งยังตกแต่งให้บรรยากาศของ Garage แตกต่างไปจากที่อื่นด้วยกันกะเทาะอิฐให้บิ่น และทาน้ำมันเครื่องเพื่อให้บรรยากาศภายใน Garage ดูเก่า
Green Room หรือห้องนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ได้มีแค่อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ หุ่นอนาโตมีเท่านั้น แต่ยังมีของสะสมที่เป็นเสมือนของที่ได้จากการเดินทางในแบบของ Explorer อีกด้วย ในส่วนของ Garage ภายในบ้านเกิดจากคอนเซ็ปต์ของ Garage แบบญี่ปุ่น คือ การนำรถมาไว้ในบ้าน หรือห้องนั่งเล่น “เพราะคนที่สะสมรถมักจะชอบดูรถ ผมก็เช่นกัน เวลาที่เอารถออกไปข้างนอกหลังจากที่จอดรถต้องหันกลับมาดูรถ 1 ครั้ง 2 ครั้ง ก่อนจะเดินไป สมมติถ้าไปร้านอาหารต้องจอดรถไว้ตรงที่มองเห็นได้จากในร้าน และต้องเลือกโต๊ะที่มองเห็นรถด้วย ไม่ได้เป็นห่วงนะครับ แต่ชอบดู อยากดูรถตลอดเวลา” คุณหมอเล่าถึงความรักในแบบฉบับนักสะสมรถ และด้วยความชื่นชอบนี้จึงจำเป็นต้องมีรถบางส่วนอยู่ภายในบ้าน ซึ่งเป็นรถที่คุณหมอรักเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ยังบิลต์อินตู้ และชั้นวางสำหรับของสะสมโดยเฉพาะ ซึ่งการจัดวางของสะสมจะต้องเข้ากันได้กับการตกแต่งภายในของแต่ละพื้นที่ด้วย อย่างเช่นห้องนั่งเล่นที่เป็นส่วนโรงรถภายในบ้าน จะของสะสมจะเป็นหมวกกันน็อก ถ้วยรางวัล ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์หนัง ผสมเหล็ก หรืออะลูมิเนียม สร้างบรรยากาศที่กลมกลืนภายในห้อง หรือจะเป็นพื้นที่ส่วนกลางของบ้านที่ตกแต่งด้วยหินอ่อน กับของสะสมประเภทเครื่องดนตรี วิทยุ เครื่องฉายหนัง ให้เข้ากับบรรยากาศพื้นที่ของการพักผ่อน ซึ่งรองรับกับ Counter Bar และโต๊ะ Pool ข้างบริเวณที่เตรียมพร้อมสำหรับการสังสรรค์อีกด้วย
“บ้านสำหรับผมเป็นงานศิลปะ แล้วก็เป็นที่ปล่อยของ ผมไม่ได้นิยามเป็นที่อยู่อาศัยอะไร เพราะว่ามันใหญ่ และเยอะเกิน ถ้าเป็นบ้านจริงๆ แค่มีห้องนอนห้องเดียวก็พอแล้ว แต่บ้านเป็นงานศิลปะที่มองเท่าไหร่ก็ไม่มีเบื่อ แม้ว่าผมจะไม่ได้นั่งในบ้าน แต่ผมเดินดูบ้านบางทีบอกคนสวนให้ทำนู่น ทำนี่ ย้ายบ้าง เปลี่ยนที่บ้าง ตอนนี้เดินไปเจอของที่ชอบก็ยังซื้ออยู่ ฉะนั้นบ้านจึงเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ เป็นบ้านที่ไม่เหมือนบ้าน ขนาดผมเป็นเจ้าของเองเวลาอยู่ยังรู้สึกเหมือนอยู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะหน้าหนาว ตอนเช้าๆ จะมีเสียงนกร้อง เวลาอยู่ที่นี่จะไม่รู้สึกเหมือนอยู่กรุงเทพเลย” คุณหมอทิ้งท้ายด้วยนิยามของบ้านหลังนี้
More Detail
การจัดวางของสะสมจำเป็นจะต้องดูบรรยากาศ และควบคุมธีมภายในห้อง การจัดวางองค์ประกอบที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันจะช่วยส่งเสริมบรรยากาศให้บ้านเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ที่สะสมของอันเต็มไปด้วยคุณค่าได้เป็นอย่างดี
Story อัญชิสา พ่วงทรัพย์
Photographer รัก ปลัดสิงห์
Host คุณหมอสุวิน ไกรภูเบศ
Architect คุณเดวิท แบงค์ และคุณจิราภรณ์ ชื่นศิริกุล จาก Workmanship
Interior Designer คุณกฤษฎา แสงอรุณไพศาล
Constructor ID Home Corporation Co.,Ltd