เพราะบ้านคือสถานที่หลอมรวม ทุกตัวตนของสมาชิกแต่ละคนให้ก่อรูปขึ้นเป็นคำว่า “ครอบครัว” โดยเฉพาะวัฒนธรรมเอเชีย ที่อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ความต้องการทางด้านร่างกาย และจิตใจของสมาชิกแต่ละคน จึงแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงวัย เพื่อให้การออกแบบบ้าน และการตกแต่ง สามารถเข้าใจทุกคนในครอบครัว
คอลัมน์ Ideas for Home ฉบับนี้ มีแนวคิดในการออกแบบ และปรับปรุงต่อเติมบ้านจาก หัวหน้าทีมวิจัยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ขับเคลื่อนเพื่อที่อาศัยที่สมบูรณ์แบบในประเทศไทยด้วยหลักการ Universal Design “รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์” และคุณกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี กรรมการผู้จัดการ และสถาปนิก บจก.อินเตอร์โฮมพรอพเพอร์ตี้ ศูนย์รับสร้างบ้าน อินเตอร์โฮม มาแนะนำ
หัวใจของUniversal Design
รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าทีมวิจัยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ขับเคลื่อนเพื่อที่อาศัยที่สมบูรณ์แบบในประเทศไทยด้วยหลักการ Universal Design ว่า แท้จริงแล้วบ้านที่สมบูรณ์แบบ คือบ้านที่สามารถรองรับไลฟ์สไตล์ของสมาชิกในครอบครัวทุกเพศวัย ซึ่งหมายความว่าต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง 4 ได้แก่ 1. ความปลอดภัย 2. เข้าถึงง่าย 3. รักษาง่าย 4. ช่วยสร้างแรงกระตุ้นในการดำเนินชีวิต
“ความสุขที่แท้จริงเกิดจากการออกแบบบ้าน และการจัดสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะผู้สูงวัย ที่เริ่มมีการเสื่อมสมรรถภาพของร่างกาย อาทิ สายตาพร่ามัว ประสาทสัมผัสช้าลง กระดูกไม่แข็งแรง การทรงตัวที่ไม่มั่นคง เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้นบ้านควรมีการออกแบบ และมีฟังก์ชั่นเพื่อรองรับการการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างเหมาะสม เพื่อความปลอดภัย แต่บ้านก็ยังคงเป็นสถานที่อบอุ่น และปลอดภัยเสมอ แม้ร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม”
รศ.ไตรรัตน์ แนะนำอีกว่า “นอกจากความสุขที่ผู้สูงวัยจะได้รับจะได้รับจากการได้อยู่ถิ่นฐานเดิม (Aging in Place) โดยเริ่มจากการปรับปรุงบ้านที่เคยอยู่เดิมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนของวัย ก่อน หากยังไม่ตอบโจทย์ อาจเสริมด้วยการต่อเติม หรือไม่ก็สร้างบ้านหลังใหม่ในพื้นที่เดียวกันอีกหลังก็ได้ เพราะธรรมชาติผู้สูงอายุบ้านเราต้องการอยู่ถิ่นเดิม และอยากอยู่ใกล้ลูกหลานมากเป็นพิเศษ
Bathroom & Bedroom
พื้นที่ชีวิตผู้สูงวัย
ทั้งนี้ห้องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นห้องแรก ก็คือ ห้องน้ำ ซึ่งเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าแนวโน้มผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยมากกว่า 800 คนต่อปี หรือประมาณ 3 คนต่อวัน โดยในปี 2558 พบผู้สูงวัยเสียชีวิตกว่า 1,000 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
ขณะที่ห้องนอนผู้สูงวัย ที่เหมาะสมที่สุดควรอยู่ชั้นล่าง อาจใกล้กับพื้นที่สวนสีเขียว หรือเชื่อมต่อกับห้องครัว เพื่อลดความเสี่ยงจารการขึ้นลงบันได และทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกสดชื่น สบายใจกับการอยู่ใกล้ชิดสวนสีเขียวด้วย ทั้งนี้ควรวางกรอบหน้าต่างให้สอดคล้องกับสรีระ เพื่อให้แสง และกระแสลมพัดผ่านสู่ห้องนอนได้สะดวกมากขึ้น เหนืออื่นใดควรเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะกับผู้สูงวัย เช่นขนาดความสูงของโซฟา เตียง เก้าอี้ ต้องอยู่ในระดับที่พอดี คือลุกยืนนั่งได้สะดวกสบาย”
คุณกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี ผู้มีประสบการณ์ในการสร้างบ้านมานานนับทศวรรษ แนะนำเกี่ยวกับองค์ประกอบสำคัญในการสร้างบ้านเพื่อผู้สูงวัยที่เข้าใจสมาชิกทุกคนในบ้านว่า “นอกจากความสำคัญ เรื่องโครงสร้าง การจัดวางฟังก์ชั่น และการจัดสรรพื้นที่ที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย และสมาชิกทุกคนภายในบ้านแล้ว หัวใจของการออกแบบบ้าน Universal Design คือขั้นตอนในการสร้างที่พิถีพิถัน เข้าใจ รวมถึงใส่ใจทุกความต้องการของผู้อยู่อาศัยทั้งด้านประโยชน์ใช้สอย ในส่วนพื้นที่ และการเลือกใช้วัสดุ ที่คงทน และสวยงาม
อาทิ ต้องให้ความพิถีพิถันสัดส่วนของทางลาด ที่พร้อมสำหรับวินาทีฉุกเฉิน โดยต้องมีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 90 ซม. ขณะที่ทางลาดชันต้องไม่เกิน 1: 2 โดยที่กรอบบานประตูต้องไม่ต่ำกว่า 90 ซม.เพื่อให้รถวีลแชร์เข้าออกได้สะดวก ที่สำคัญมือจับบานประตูควรเป็นแบบก้านโยก เพื่อให้สะดวกต่อการเปิดปิด
“ในส่วนการออกแบบ และวัสดุที่ใช้ในห้องน้ำ ส่วนที่เป็นพื้นห้องน้ำต้องไม่ทำการลดระดับ เพื่อป้องกันการสะดุดหกล้ม และต้องมีพื้นที่พอให้วีลแชร์ กลับตัวในรัศมี 1.50 เมตร นอกจากนี้ควรติดตั้งมือจับช่วยพยุง เลือกวัสดุปูพื้นห้องต่างๆที่มีความยืดหยุ่นสูง และต้องไม่ลื่น ปลั๊กไฟเลือกใช้แบบเซฟตี้ สวิตช์ (เปิดปิดสวิตช์แทนการดึงปลั๊ก) โดยติดตั้งที่ความสูง 50 เซนติเมตรโดยประมาณ”
Light & Windows
ดวงตาของการออกแบบ
คุณกฤษฐ์หิรัญ ย้ำว่า แสง และหน้าต่าง เป็นสิ่งสำคัญมากเช่นกัน เพราะปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุ ส่วนหนึ่งมาจากเลนส์ตาที่เริ่มขุ่น และทึบแสงมากขึ้น ทำให้ผู้สูงวัยมีปัญหาในการมองเห็นในสภาวะแสงน้อย มีผลโดยตรงต่อความชัดเจนในการโฟกัส สิ่งที่อยู่ในแนวลึก และรูม่านตาที่หด และขยายได้ช้าลง ส่งผลให้สายตาผู้สูงอายุจะใช้เวลาในการปรับจากพื้นที่สว่างสู่พื้นที่มืด พื้นที่มืดสู่พื้นที่สว่างนานขึ้นกว่าวัยหนุ่มสาว
ดังนั้นออกแบบจึงควรเปิดพื้นที่หน้าต่างให้กว้าง ทั้งในแนวตั้ง และแนวนอน และวัสดุที่มีคุณสมบัติโปร่งใสอย่างกระจก เพื่อสำหรับรับแสงธรรมชาติให้เข้ามาในตัวบ้านได้เต็มที่ เมื่อทุกพื้นที่ในบ้านสว่างทั่วถึง ก็ช่วยให้สายตาทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องปรับไป-มาบ่อยๆ นอกจากนั้นยังช่วยให้มองเห็นวิวภายนอกได้กว้างขึ้น รับรู้ต่อความเปลี่ยนไปของสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ , ธรรมชาติ, ตลอดจนชุมชน ซึ่งจะช่วยปลอบประโลมจิตใจให้สดใส และรู้สึกมีส่วนร่วมกับสังคมภายนอก ซึ่งจะช่วยลดความเหงา และความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยว
Story กองบรรณาธิการ
Photographer ฝ่ายภาพนิตยสาร Life and Home