บนเส้นทางที่รอยต่อของจุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุดอยู่จุดเดียวกัน สู่การเดินทางที่แสนเนิ่นนาน ..นานเสียจนเราจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเราเริ่มต้นมาจากที่ใด และยังมองไม่เห็นปลายทางว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด
รายละเอียดทุกตารางนิ้วภายในสวนแห่งนี้ แฝงด้วยปรัชญาเชิงนามธรรม ที่ไม่เพียงเจ้าของสวน แต่ใครก็ตามที่ได้พบเห็น ต่างก็อดไม่ได้ที่จะตั้งคำถาม ชวนให้เกิดการวิพากษ์ ถึงต้นไม้ ก้อนหิน ที่จัดวางอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งล้วนเป็นความตั้งใจของนักจัดสวนที่ต้องการให้ผู้ที่เข้ามาในสวนแห่งนี้ใช้ความรู้สึก และจินตนาการตีความจากสิ่งที่มองเห็น จนตกผลึกสู่การความคิดต่อยอดความคิด และดึงมาประยุกต์ในชีวิต จากธรรมชาติที่กำลังแสดงความจริงของชีวิต ภายในสวนที่มีมากกว่าความสวยงาม ที่มีชื่อว่า”สวนสัจธรรม”
คุณปณัฐ สุมาลย์โรจน์ นักจัดสวนดึงพุทธคติมาใช้เป็น คอนเซปท์ในการออกแบบพื้นที่ว่างเปล่า ทรงสี่เหลี่ยมขนาด 600 ตรม.ด้วยการเล่าเรื่องอริยสัจ 4 ผ่านต้นไม้ และฮาร์ดสเคป เพื่อให้เป็นสวนเชื่อมโยงไปถึง วิถีชีวิต และจิตของคุณสุรพงษ์ และภรรยา ผู้เป็นเจ้าของบ้านที่มีความสนใจในเรื่องการปฏิบัติธรรม และการทำสมาธิเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว
“เราปฏิเสธไม่ได้ที่เกิด ทุกข์ แต่ทำอย่างไรให้เราเข้าใจทุกข์มากขึ้น เรามองเห็น เราพิจารณา เข้าใจ และหลุดพ้นจากมันได้ นี่คือวัตถุประสงค์ของสวนที่นี่สวนแห่งนี้ ผมแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 โซนตั้งชื่อตามหลักอริยสัจ 4 ได้แก่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เวียนกันไปตามเข็มนาฬิกา โดยมีลานหินสีขาวอยู่ตรงกลาง” คุณปณัฐเล่าถึงแนวคิดในการออกแบบ
ทางเดินเข้าสู่สวนจะพบกับ Sculpture โลหะสำริดรูปมนุษย์ที่ดูเหมือนกำลังผุกร่อน ทลายลง ซึ่งประติมากรรมชิ้นนี้เป็นการออกแบบของคุณปณัฐ ที่ต้องการสื่อถึง “ทุกข์” ที่เกิดจากการเสื่อมสลายของสรรพสิ่งอันเป็นที่รัก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราจับต้องด้วยกาย หรือด้วยใจ ต่างก็หลีกหนีไม่พ้นการที่เราจะต้องสูญเสีย แม้จะพยายามรั้งจนสุดความสามารถแล้วก็ตาม จึงนำไปสู่เหตุแห่งทุกข์ หรือพื้นที่ของ “สมุทัย” ที่คุณปณัฐใช้ธรรมชาติ ถ่ายทอดว่า
ทางเดินจากทุกข์ไปสู่สมุทัย สื่ออกมาด้วยการวางแผ่นหินทางเดิน ให้เยื้องสลับกันไปมาแต่ละแผ่น ไม่เป็นแบบแผน เพื่อพยายามจะบอกว่าทางเดินในชีวิตของคน มันไม่มีอะไรที่แน่นอนและตายตัว บางครั้งก็เป๋ไปเป๋มาบ้าง โดยระหว่างทางเดินก็ขนาบด้วย ไม้มีกลิ่นหอมอย่างต้นบุหงาสาหรี่ ที่เป็นตัวแทนของความลุ่มหลง ที่จะชวนให้เราเคลิบเคลิ้ม และหลงทางได้ สุดทางเดินมีหินก้อนใหญ่วางอยู่ด้านหลัง หินก้อนนี้เป็นอุปมาอุปมัยถึงกิเลสที่เกิดขึ้นในชีวิตของคน ที่เราต้องเผชิญ เพียงแต่ว่า เราจะพุ่งชนก้อนหินอย่างขาดสติจนตัวตายหรือเราจะเดินวนรอบก้อนหินนั้นเพื่อพิจารณาปัญหาหรืออารมณ์ตรงหน้าด้วยสติ เพื่อก้าวสู่ในโซนของนิโรธ
“ สู่การดับทุกข์ โซนนี้ผมวางให้เป็นศาลา สำหรับนั่งสมาธิ เพื่อพิจารณาหาเหตุ และจะดับทุกข์นั้นอย่างไร สู่ปลายทางของการปล่อยวาง และความสงบนั่นเอง ซึ่งการงานดีไซด์ของศาลาพยายามให้ดูเรียบ เบา ดูสงบนิ่งแต่แทรกด้วยดีไซด์ จึงใช้ความเป็นโมเดิร์น เข้ามาผสมผสานกับลวดลายธรรมชาติแบบเซน ”
สุดท้ายหนทางที่เราจะดับทุกข์ ก็มาสู่โซนที่เป็นมรรค นักจัดสวนออกแบบให้เป็นลานหญ้าว่างเปล่า เพราะเขาตีความว่า ทุกสิ่งต่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับลงไป ไม่มีอะไรที่เราควรไปยึดมั่น หรือผูกใจไว้เอาไว้เลย การปล่อยวาง ไม่ลุ่มหลงในความสุข ปลดปล่อยหัวใจจากความเศร้า จะทำให้เราเป็นอิสระจากความทุกข์ทั้งหลายได้
เขาก็ยังได้ขยายความต่อไปอีกว่า หากยังไม่สามารถปล่อยวางได้ ทุกอย่างก็จะเป็น loop กลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่เราเข้ามา นั่นก็คือเดินไปสู่ “ทุกข์” เหมือนเดิม จุดนี้เป็นความหมายที่ซ่อนอยู่ในการออกแบบทางเดินของสวนให้เป็นวงเวียน ที่ทางเดินของจุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุดมาบรรจบกัน โดยมีตรงลานกรวดสีขาวอยู่ตรงกลาง ที่อุปมาอุปมัย เป็นโลกไปนี้ที่มีทั้ง แผ่นดิน และมหาสมุทร นั่นหมายความว่าเราต่างยังต้องก็ยังวนเวียนอยู่บนโลกใบนี้ไม่รู้จบ
นอกจากตอบโจทย์เรื่องคอนเซปท์เรื่องธรรมแล้ว ต้นไม้ที่นักจัดสวนเลือกมาล้วนมีฟังก์ชั่นในแง่ของการแก้ปัญหาด้าน Landscape อีกด้วย เนื่องจากบริเวณรอบๆของสวนเต็มไปด้วย อาคาร หอพัก นักจัดสวนจึงเลือกใช้ ซิลเวอโอ๊ค หมากเม่า บุหงาสาหรี และตีนเป็ดฝรั่ง ซึ่งเป็นไม้ที่มีฟอร์มเฉพาะตัว ที่สามารถขึ้นในแนวสูง และพื้นที่แคบได้ มาปลูกรอบๆ เพื่อช่วยพรางตัวอาคารรอบนอก และรักษาความเป็นส่วนตัวให้พื้นที่ภายในได้ ทั้งยังเป็นไม้ใบละเอียดจึงทำให้ภูมิทัศน์ดูโปร่ง ไม่ทึบเกินไปจนดูอึดอัด
Story ธนภัทร อีสา
Photographer นพพร ยรรยง, บริษัท Pergolar
Garden Designer คุณปณัฐ สุมาลย์โรจน์ บริษัท Pergolar