สูดออกซิเจนเก็บเอาไว้ให้เต็มปอด เพราะคุณวิท สุวิทย์ วณิชย์วรนันต์ กำลังพาเราดำดิ่งสู่ก้นมหาสมุทร ผ่านจินตนาการโลกใต้น้ำในตู้กระจกของเขา ที่ถูกถ่ายทอดด้วยการจัดวาง พืชน้ำ ก้อนหิน และจุลินทรีย์ โดยมีเหล่าสัตว์น้ำ หลากสายพันธุ์ มาช่วยเติมเต็มเรื่องราวให้โลกในตู้กระจกมีชีวิต ราวกับอยู่ใต้ผืนน้ำธรรมชาติจริงๆ
ย้อนไปเมื่อครั้งยังเป็นเด็กชาย คุณวิท สารภาพว่าตัวเขาตกหลุมรักเจ้าพวกสัตว์น้ำเข้าอย่างถอนตัวไม่ขึ้น เริ่มจากเลี้ยงปลาสอด ปลาหางนกยูง จนเมื่อโตขึ้นแม้จะไม่ได้เรียนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ หรือสัตว์น้ำเลย แต่คุณวิทก็ยังฝันถึงการสร้างโลกใต้น้ำในแบบของตัวเองอยู่เสมอ ความหลงใหลทำให้เขาศึกษาสิ่งที่เขารักด้วยตัวเอง จนกระทั่งเริ่มส่งผลงานเข้าประกวด และสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการจัดแข่งขันประกวดตู้ไม้น้ำระดับประเทศมาได้ในการประกวดครั้งที่สอง นั่นทำให้เส้นทางคุณวิทดำดิ่งสู่โลกใต้น้ำอย่างเต็มตัวในฐานะ “ Aquascaper ” หรือนักจัดภูมิทัศน์ใต้น้ำ
เขาเล่าถึงเสน่ห์ของการจัดตู้พรรณไม้น้ำด้วยน้ำเสียงที่เจือความสุขให้เราฟังว่า เป็นเหมือนการเก็บภาพทิวทัศน์ที่ประทับใจ เก็บความทรงจำในช่วงเวลาที่มีความหมาย ณ สถานที่เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำตก ภูเขา หรือทะเล มาจำลองไว้ที่บ้าน ให้ได้หวนระลึกถึงทุกครั้งที่ได้มอง
โดยมี 4 สไตล์การจัดตู้ไม้น้ำที่คุณวิทนำมาใช้บ่อยครั้ง ได้แก่ 1. Nature Styles เป็นการจำลองธรรมชาติใต้น้ำให้ใกล้เคียงมากที่สุด มักใช้ขอนไม้ที่รูปทรงเหมือนรากไม้ร่วมกับพรรณไม้สีเขียวเป็นส่วนใหญ่ 2. Dutch Styles เน้นพรรณไม้น้ำสีสันสดใส วาง Layout ของ Hardscape (ก้อนหิน ขอนไม้) ภายในตู้นำสายตาแบบรูปทรงสามเหลี่ยม 3. Iwagumi Styles คือการจัดที่เน้นการวางหินให้ได้สัดส่วนมีจังหวะหนัก เบา ให้ความรู้สึกเรียบง่าย และสุดท้าย Landscape Styles เป็นสไตล์ที่คุณวิทบอกว่าได้รับความนิยมมากที่สุด ด้วยเหมือนการยกภูมิทัศน์บนบกมาไว้ในน้ำ นำก้อนหินมาจัดวาง ไม่ว่าจะเป็นวิวภูเขา วิวน้ำตก พรรณไม้น้ำที่น้ำมาใช้ สไปกี้มอสที่ให้ภาพเหมือนทุ่งหญ้าบนทิวเขา และมักเลือกใช้ปลาขนาดเล็กอย่าง ฝูงปลาคาร์ดินัล ปลานีออน ที่อุปมาอุปมัยว่าเป็นฝูงนกที่โบยบินอยู่บนภูเขาสูง
นอกจากปลาสวยงามแล้ว ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่นำมาใส่ในตู้ เพื่อทำหน้าที่เหมือนเป็นทีมงานที่มาช่วยดูแลตู้ให้เกิดความสมดุลทางชีวภาพ อาทิ กุ้งยามาโตะ, หอยเขารับบทบาทเป็นหน่วยกำจัดตะไคร่ และปักเป้าแคระ (Yellow puffer) เพื่อช่วยควบคุมปริมาณหอยไม่ให้มีจำนนวนมากเกินไป ทุกความสัมพันธ์เกื้อกูลกันเหมือนระบบนิเวศที่ใช้ธรรมชาติช่วยเหลือธรรมชาติ ซึ่งช่วยลดการใช้ยาที่อาจเป็นอันตรายต่อปลาได้เป็นอย่างดี
อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญของทุกสรรพชีวิตที่อยู่ภายตู้ ทั้งสัตว์ และพืช คือปริมาณ “แสง” การดูแลต้องควบคุมแสงให้พอดีไม่มากหรือน้อยเกินไป นอกจากเพื่อรักษาอุณหภูมิของน้ำให้อยู่ที่ 25-27 องศาแล้ว แสงยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์แสงของเหล่าพืชน้ำอีกด้วย คุณวิทแนะนำว่าระยะเวลาที่เหมาะสมของการเปิดไฟอยู่ที่ 8 ชั่วโมงต่อวัน ในกรณีที่ตู้อยู่ในตำแหน่งที่โดนแสงธรรมชาติด้วย ควรลดความเข้มแสงที่ส่องมายังตู้ด้วยการยกโคมไฟขึ้นสูง 30 เซนติเมตร และเปิดคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ให้เยอะขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มอัตราการสังเคราะห์แสงของพืชให้เพิ่มมากขึ้น เมื่อกระบวนการสังเคราะห์แสง (Photosynthesis) สมบูรณ์ พืชจะปล่อย ออกซิเจน(O2) ออกมาเป็นประโยชน์กับสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในนั้น
“การได้เห็นต้นไม้สามารถเจริญเติบโต ปรับเปลี่ยนกายภาพ ให้เราสามารถตัดแต่ง ดูแลเขาได้ เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้งเขาก็ออกลูกแพร่พันธุ์ได้ นับเป็นตัวชี้วัดว่าระบบนิเวศภายในตู้นั้นสมบูรณ์ได้ด้วย ที่สำคัญนั่นนับเป็นธรรมชาติในบ้านที่เราสามารถจับต้องได้ ทั้งยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวในบ้าน รวมถึงในใจเราด้วย” คุณวิททิ้งท้าย
โลกใต้น้ำ ดินแดนปริศนาที่รอการค้นพบ ที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะทางชีววิทยาแตกต่างจากเรา ไม่แปลกเลยที่ใครหลายคนมักจะจินตนาการถึง ความสวยงามอันเร้นลับที่ซ่อนอยู่ใต้ผิวน้ำนั้น แม้วิทยาการปัจจุบันยังไม่สามารถสำรวจได้ครอบคลุมทั้งหมด แต่อย่างน้อยเราก็สามารถดึงเสี้ยวหนึ่งของธรรมชาติใต้น้ำมาไว้ในบ้าน ด้วยจินตนาการ และความทรงจำของเราแล้ว
Story ธนภัทร อีสา
Photographer การติพัทธ์ ช่างเรือ, สาคิน ทรัพย์ประสม
Garden Designer คุณวิท สุวิทย์ วณิชย์วรนันต์