Back to home
Artist, Designer, In - Tect Spotlight, News Update, SPOTLIGHT, VIP Talk

รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ และสถาปนิก ผู้อยู่เบื้องหลังความงดงามสถานีสนามไชย

ไม่เกินจริงเลย หากจะกล่าวว่า  “สนามไชย” คือสถานีรถไฟใต้ดิน เส้นทางรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล  ส่วนต่อขยายหัวลำโพง – บางแค ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางพื้นที่อนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ ที่งดงามที่สุดในประเทศไทย และสวยงามเทียบเท่าสถานีรถไฟใต้ดินที่น่าหลงอันดับต้นๆของโลก

ความประณีตในการออกแบบที่โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ไทย ที่ปรากฏตามหน้าสื่อทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทำให้นักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลก รวมถึงคนไทย ต่างเฝ้ารอวันที่สถานที่แห่งนี้เปิดใช้อย่างเป็นทางการ เพื่อมีโอกาสได้สัมผัสความประณีตวิจิตรแห่งสถาปัตยกรรมไทยภายในชั้นออกบัตรผู้โดยสารแบบใกล้ชิด

ระหว่างที่รอสถานีรถไฟใต้ดิน ซึ่งเป็นส่วนต่อขยาย โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งจะเปิดให้ใช้ภายในปี 2562-2563 คอลัมน์ Special Scoop  นิตยสาร Life and Home ฉบับเดือนเมษายน ได้รับความเมตตาจากศิลปินแห่งชาติผู้อยู่เบื้องหลังลวดลายวิจิตรงดงามสถานีสนามไชย แบบเอ็กซ์คลูซีฟ แนวคิด ลวดลาย  ความหมาย ที่ซ่อนลึกลงไปใต้ผิวดิน 32 เมตร ยาว 270 เมตร คืออะไร พบคำตอบในย่อหน้าถัดไปได้เลย

“อาจารย์ออกแบบสถานีสนามไชย ด้วยการใช้วิธีเขียนแบบเท่าของจริงทั้งหมด โดยจำลองเค้าโครงมาจากกำแพงพระราชวัง ซึ่งทำการลดทอนใบเสมาออก ให้คงเหลือแต่รูปทรงกำแพง ขณะที่ในส่วนซุ้มประตูก็ได้ย่อรายละเอียดส่วนอื่นๆลง คงไว้เพียงรูปลักษณ์ประตูแบบไทยเท่านั้น” รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ และสถาปนิก ผู้อยู่เบื้องหลังความงดงามสถานีสนามไชย เล่าถึงที่มา พร้อมเผยถึงความตั้งใจที่ซ่อนอยู่หัวใจของความเป็นครู ขณะพากองบรรณาธิการนิตยสาร Life and Home ก้าวผ่านพื้นแกรนิตลายหลามตัดว่า

 

“อาจารย์ต้องการให้สถานีรถไฟใต้ดินแห่งนี้เป็นแบบอย่างที่คำนึงถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมของถิ่นที่ สำหรับให้สถาปนิกรุ่นใหม่ได้ศึกษาเรียนรู้ ลักษณะการออกแบบที่เห็นจึงเป็นการออกแบบเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องความงดงามจากพระราชวัง และวัดพระแก้วที่ไม่ขาดตอน พร้อมใช้เทคนิคลดทอนการออกแบบเพื่อลดความแข็งกระด่างของโครงสร้างซึ่งเป็นคอนกรีต ผสานกับการเชื่อมโยงลวดลายไทยที่ผูกขึ้นใหม่ทั้งหมด

“อย่างเสาสะดุมภ์ที่ตั้งระหว่างทางเดิน ซึ่งมีองค์และฐานเสาตามทำเนียบสถาปัตยกรรมไทยนั้น เดิมทีเป็นเสาคอนกรีตต้นใหญ่กว่า 35 เมตร เพื่อลดความแข็งกระด่างของคอนกรีตอาจารย์จึงนำลายประจำยามที่ผูกขึ้นใหม่มาตกแต่ง ก่อนจะประดับปลายเสาด้วยบัวจงกลปิดทองคำเปลวเพื่อความเป็นสง่าของสถานี ซึ่งหากให้สันนิษฐานที่มาของลวดลายประจำยามซึ่งใช้กันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ก็อาจจะมาจาก “ดอกจ๋ำยาม”ของภาคเหนือ”ศิลปินแห่งชาติที่เป็นทั้งครู และสถาปนิกกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

หากมองแค่ผิวเผิน หลายคนอาจคิดว่า ความวิจิตรของลายประจำยาม ลายดาว ลายดาวล้อมเดือน ลายกรวยเชิง ลายหน้ากระดาน ลายแซงท้อง (ลายท้องไม้) รวมถึงลายลูกขนาบ บริเวณฝ้าเพดาน หรือคาน ที่สัมผัสได้ด้วยภายในสถานีใต้ดินแห่งนี้ เป็นเหมือนลายไทยที่พบเห็นได้ทั่วไป ต่อเมื่อพินิจพิเคราะห์สังเกตแล้วจะพบว่า จังหวะ และลักษณะลวดลายทั้งหมดที่แข่งกันขับความงดงามต่างไปจากที่เคยพบพาน

“ลวดลายไทยที่เห็นทั้งหมด เป็นการออกแบบ และผูกขึ้นใหม่เพื่อให้มีเอกลักษณ์เฉพาะที่ คงเหมือนล้อแม็กรถยนต์ที่แม้จะออกแบบมามากมาย แต่ก็ไม่มีซ้ำกัน ลวดลายไทยก็เช่นกัน ถ้าเรารู้จักวิธีการออกแบบ จะออกแบบสักกี่ร้อยกี่พันก็ไม่ซ้ำกันหรอก ทำไมนะหรือ ก็เพราะเราออกแบบไง… ไม่ได้ไปลอกแบบมานี่” รศ.ดร.ภิญโญ กล่าวย้ำ ก่อนจะหยุดสายตานิ่งไว้ที่ลวดลายไทยบนคานขนาดใหญ่ที่พาดบนเสาทั้งสองข้าง

“แต่เราต้องรู้จังหวะ และลักษณะลวดลายให้แจ่มแจ้ง อย่างคานตัวหนึ่งจะมีแม่ลายที่ต้องเรียนกัน 4 แบบ เริ่มจากลายบริเวณปลายสุดของคานได้แก่ลายกรวยเชิง ลายลูกขนาบ ลายหน้ากระดาน ลายท้องไม้ แล้วจึงมาถึงลายคาน ซึ่งแม่ลายเหล่านี้สามารถผูกได้มากมายไม่มีที่สิ้นสุด”

นอกจากความงดงามของสถาปัตยกรรมไทยจะชวนให้ผู้ที่มีโอกาสได้ชมหลงใหลแล้ว การออกแบบหัวเสา และลวดลาย ยังซ่อนความหมาย ฐานานุศักดิ์ รวมถึงเป็นตัวกำหนดการเลือกใช้วัสดุให้ถูกต้องเหมาะสมสำหรับการออกแบบด้วย

“อย่างวัสดุฐานานุศักดิ์ที่ตัวคาน ไม่ว่าจะมีลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส หรือผืนผ้า นอกจากลวดลายที่ผูกขึ้นจะต้องตรงตามความหมาย และฐานานุศักดิ์ผู้ใช้แล้ว ก็จะต้องออกแบบให้ครบองค์ประกอบ คือต้องลงตัวเวลาบวกลาย และต้องจบลายครึ่งตัวเสมอ” รศ.ดร.ภิญโญ อธิบาย ก่อนจะแจกแจ้งความละเอียดอ่อนเกี่ยวกับเสาหัวเม็ด ซึ่งทำจากสแตนเลสสตีลสีทองอร่ามตาว่า

“ที่เห็น คือเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะรูปทรงกลม หรือสี่เหลี่ยมซ้อนกันเป็นชั้นๆ เรียวขึ้นไป ในงานสถาปัตยกรรม เสาเหล่านี้จะเรียกว่าเสาหัวเม็ด ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่รับน้ำหนักโครงสร้าง แต่จะทำหน้าที่เป็นเสา 3 ลักษณะด้วยกัน คือ 1. แสดงอาณาเขต  2.เน้นทางเข้า 3.เพื่อใช้เป็นหลักสำหรับทำกำแพง โดยรูปแบบหัวเสาแบ่งตามฐานานุศักดิ์ อาทิ ทำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ถวายในหลวง และหัวเสาสำหรับสามัญชนคนธรรมดา”ศิลปินแห่งชาติที่เป็นทั้งครู และสถาปนิกวัย 82 ปีอธิบาย ก่อนจะบอกเหตุผลที่รับรับตกแต่งสถานีแห่งนี้ทั้งๆที่มีงานเร่งด่วนให้ทำมากมายว่า

“อาจารย์รับออกแบบสถานีฯก็เพื่อต้องการให้ลูกศิษย์ได้เห็นว่า อะไรที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญเสมอ ถ้าครูทำผิดเสียแล้วลูกศิษย์จะเรียนกับใคร? เมื่อรับทำแล้วก็ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะสถานีรถไฟใต้ดินสนามไชย จะเป็นทั้งแม่บท และตำราให้คนไทยได้เรียนรู้ต่อไป”

 

4 ข้อกำหนดออกแบบรถไฟใต้ดิน

  • วัสดุที่ใช้สำหรับพื้นต้องไม่ลื่น
  • ลักษณะการออกแบบต้องไม่มีคม หรือแหลม
  • ต้องทนต่อรอยขีดข่วน
  • ต้องทนไฟ

 


 

Facebook Comments
By Oom, 01/05/2018
Leave a Reply
Change language:
Instagram API currently not available.
Instagram API currently not available.