สถาปัตยกรรมมีเสน่ห์ที่แตกต่างกันออกไปตามพื้นถิ่น และรากวัฒนธรรมของพื้นถิ่นนั้นๆ เฉกเช่นสถาปัตยกรรมล้านนาที่ยึดโยงไว้ด้วยความเป็นชาวล้านนาของอาณาจักรที่เคยรุ่งเรือง และล่มสลาย สู่ล้านนาใหม่ที่ร้อยเรียงผู้คนให้เชื่อมโยงกันไว้ด้วยรากวัฒนธรรม
ระยะเวลากว่า 200 ปีที่ “ล้านนา” กลับกลายเป็นเมืองร้าง การรวบรวมไพร่พลชาวไทที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกันทำให้เชียงใหม่กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เกิดเป็น Chiang Mai New Generation ที่มีวัฒนธรรมผสมผสานกันอย่างหลากหลาย และสะท้อนผ่านภาษาพูด ภาษาเขียน การแต่งกาย วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานวัฒนธรรมไว้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นล้านนา พม่า ไทยกลาง เผ่าไทต่างๆ จนเกิดเป็นสถาปัตยกรรมแบบ Lanna Contemporary
อาจารย์อดุลย์ เหรัญญะ แห่ง Lanna Architect อดีตประธานกรรมาธิการสถาปนิกล้านนาสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการสภาสถาปนิกแห่งประเทศไทย ได้ขยายความเป็นล้านนา คอนเทมโพรารีให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นว่า “การเชื่อมโยงสถาปัตยกรรมล้านนาให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันก็คือ การผสมสาน ผนวกกับการปรับปรุงสถาปัตยกรรมให้เข้ากับความเป็นอยู่ในปัจจุบัน สรุปสั้นๆ ได้ว่า ไม่ทิ้งของเก่าไม่หลงของใหม่ทำอย่างไรก็ได้ให้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน คือ เราจะต้องเอางานสถาปัตยกรรมมาประยุกต์ตั้งแต่รูปทรง (Form) ประโยชน์ใช้สอย (Function) รวมทั้งวัสดุ และเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาผสมผสานกันบนพื้นฐาน หรือรากเหง้าของความเป็นพื้นถิ่น ซึ่งในที่นี้หมายถึงล้านนา”
รากของวัฒนธรรมล้านนาที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ อาคารบ้านเรือนต่างๆ จะมีความเกี่ยวพันกับที่ว่าง (Space) ที่ว่างนี้ในภาษาล้านนาจะเรียกว่า “ข่วง” เป็นลานกิจกรรมของบ้านแต่ละหลัง ทั้งการละเล่นของเด็กในบ้าน การนำข้าว หรืออาหารที่หามาได้มาผึ่ง รวมทั้งยังเป็นที่จัดงานต่างๆ ของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานมงคล หรือกระทั่งงานอัปมงคล “ข่วง” จึงเปรียบเสมือนจุดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว
สำหรับเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมล้านนาอยู่ที่ความอ่อนน้อม ถ่อมตน และเป็นกันเองต่อผู้อยู่อาศัย ที่สื่อผ่านขนาด รูปทรงที่ไม่ยิ่งใหญ่เกินไป หรือสร้างความรู้สึกว่าสถาปัตยกรรมกำลังข่มมนุษย์อยู่ รวมไปถึงรายละเอียด และลูกเล่นต่างๆ ที่อ่อนช้อยอันมีทั้งการฉลุ การแกะสลักการกลึงเสา ซึ่งการผนวกศิลปะให้เข้ากับงานสถาปัตยกรรมเป็นเสน่ห์หนึ่งของงานล้านนา นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ชัดเจนก็คือ หลังคาทรงจั่วผสมปั้นหยา และวัสดุพื้นบ้านประเภท อิฐ ไม้ ศิลาแลง ดินเผา หรือไม้ไผ่ที่นำมาออกแบบงานแต่ละชิ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่มอบความรู้สึกอบอุ่นให้แก่ผู้อยู่อาศัย
แต่ถึงกระนั้นองค์ประกอบที่สื่อถึงความเป็นล้านนาก็ไม่เพียงแต่อยู่แค่ที่ตัวอาคาร แต่จะต้องสมบูรณ์ทั้งการตกแต่งภายใน (Interior) ที่เข้ากับตัวอาคารภายนอก บรรยากาศบริเวณอาคาร สวน พรรณไม้ต่างๆ ที่ต้องเหมาะสมกับความเป็นล้านนาด้วย ฉะนั้นแล้ว Landscape, Interior และArchitecture จะต้องสอดประสานกัน ซึ่งรวมไปถึงองค์ประกอบเล็กๆ ที่ดูเหมือนจะไม่สำคัญ เช่น รั้ว ประตูบ้าน หรือซุ้มศาลา ก็ต้องออกแบบให้กลมกลืนไปกับบ้านหลังนั้นๆ ด้วย
“สำหรับการออกแบบบ้าน หรืออาคารสไตล์ล้านนา คอนเทมโพรารี อาจจะไม่ต้องใช้วัสดุดังเช่นงานล้านนาพื้นถิ่นหากเพียงมี ‘กลิ่นอาย’ ที่สื่อถึงความเป็นล้านนาก็เพียงพอแล้ว อาทิ การใช้โทนสีอุ่น ไม่ฉูดฉาดในการตกแต่งบ้าน การใช้หวาย ไม้ไผ่ไม้สักผสมกับไม้อื่นๆ สำหรับงานประยุกต์อาจจะใช้หนังก็ได้ เพียงแต่เอาหนังมาถักแทนไม้ไผ่ หรือแทนหวาย ทำให้ได้อารมณ์ความรู้สึกที่ใกล้เคียงกัน หรือบางครั้งที่เราเดินเข้าไปในพื้นที่ แต่ไม่รู้เลยว่าสถาปนิกออกแบบให้มีความเป็นพื้นถิ่นอย่างไร เพราะไม่มีไม้ ไม่มีอิฐ ไม่มีศิลาแลง แต่พอมองลงมาจากข้างบนจะเห็นผังบ้าน (Master Plan) เป็นแบบล้านนาที่มีการประยุกต์ Layout Plan ก็ได้” อาจารย์อดุลย์ขยายความเพิ่มเติมถึงการประยุกต์งานสถาปัตยกรรมล้านนาให้ร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น
ประตู และหน้าต่างก็เป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบที่สำคัญของบ้าน เมื่อถามถึงมุมมองในการเลือกประตูหน้าต่างให้กับลูกค้า อาจารย์ได้ตอบอย่างชัดเจนว่า “มันไม่ได้เกี่ยวกับมุมมอง แต่เกี่ยวกับว่าเรากำลังออกแบบอะไร และออกแบบให้ใคร เกี่ยวกับงบประมาณ แล้วก็รสนิยมของคนที่เป็นเจ้าของด้วย หากเป็นงานดั้งเดิม ก็คงหนีไม่พ้น เรื่องบานไม้ วงกบไม้ เพราะนั่นคือความคลาสสิก ถ้าเป็นบ้าน หรืออาคารแบบคอมเทมโพรารี ส่วนมากจะใช้บานประตู วงกบภายในบ้าน เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว เป็นไม้จริง แต่ว่าหน้าต่าง หรือประตูภายนอกจะใช้อะลูมิเนียม โดยจะเลือกอะลูมิเนียมลายไม้ หรืออะลูมิเนียมที่เป็นสีเข้ม เช่นสีดำ สีชาเข้มๆ โดยรักษากลิ่นอายไว้ในบางพื้นที่ เช่น อาคารพาณิชย์ก็ยังเลือกประตูบานเฟี้ยม แต่รูปลักษณ์เป็นแบบร่วมสมัย”
อาจารย์อดุลย์กล่าวทิ้งท้ายในฐานะสถาปนิกว่า “สถาปนิกที่ดีจะต้องวิเคราะห์ สังเคราะห์ และไตร่ตรองทุกอย่าง ทั้งสภาพแวดล้อม บริบทของพื้นที่ตั้ง การออกแบบ รวมไปถึงวัสดุ ที่จะปรับเปลี่ยนไปตามพื้นที่ของอาคาร และสภาพแวดล้อม ขึ้นอยู่กับว่าจะนำไปใช้กับอะไร เพื่ออะไร อย่างประตู หน้าต่างก็จะปรับเปลี่ยนดีไซน์ไปตามวัตถุประสงค์ที่เรานำไปใช้ ‘Form ต้อง Follow Function’ และต้องตอบโจทย์พฤติกรรมผู้ใช้ ทีนี้สถาปนิกจะต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า อย่างที่ออฟฟิศผมก็เลือกใช้ประตู หน้าต่างสำเร็จรูปของ Tostem เพราะคุณภาพดี มีดีไซน์ที่หลากหลายตอบโจทย์ทั้งด้านการออกแบบและฟังก์ชันการใช้งาน จึงเป็นหนึ่งในวัสดุที่ผมมักแนะนำให้กับลูกค้า นอกจากนี้อะลูมิเนียมของทอสเท็ม ยังมีสีที่หลากหลายให้เลือกใช้ อย่างที่ออฟฟิศนี้ ผมเลือกใช้สี Autumn Brown เฉดสีน้ำตาลเข้ม เข้ากับอาคารแบบล้านนาได้ดี เป็นสีชุบแบบอะโนไดซ์และเคลือบผิวด้วยเทคโนโลยีเท็กซ์การ์ด (TEXGUARD) ซึ่งให้สีอะลูมิเนียมที่สวยงามและมีความทนทานต่อสภาพอากาศของบ้านเรา L&H
Story อัญชิสา พ่วงทรัพย์
Photographer กัณณ์ กาญจนประชาชัย
Host อาจารย์อดุลย์ เหรัญญะ
Place Lanna Architect