เก่า แก่ ผุ และพังเป็นไปตามกาล เสน่ห์ที่ไม่เลือนราง งานดีไซน์สถาปัตยกรรมเก่าที่ถูกปัดฝุ่นขึ้นใหม่ ชวนให้ทุกคนหันมอง “LHONG1919” สถานที่ท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมเสมือนโลกเล็กใบหนึ่งในกรุงเทพ บนถนนเชียงใหม่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ในสไตล์หมู่บ้านจีน
LHONG1919 การบูรณะ การอยู่ร่วมกันระหว่างสถาปัตยกรรมเก่า และสถาปัตยกรรมใหม่รวมถึงวัฒนธรรมจีนโบราณผสานให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ ภายใต้คอนเซ็ปต์สมัยใหม่ ของคนปัจจุบัน รวบรวมทั้งงานศิลปะ การออกแบบ การกินดื่ม และกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยไม่ซ้ำกันในแต่ละครั้งที่เข้ามาในพื้นที่นี้ เพื่อให้เกิดความหลากหลาย และการตีความหมายที่แตกต่างกัน ของผู้มาเยือน
ตัวโครงการแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ
ส่วนที่ 1 สถาปัตยกรรมอาคารจีนเก่าที่เน้นการรักษาโครงสร้างเดิม ทั้งวัสดุ กระบวนการการก่อสร้าง สี ขณะเดียวกันยังแสดงวิธีการก่อสร้างดั้งเดิมให้เราได้เรียนรู้ถึงโครงสร้าง โดยการทุบฝ้าเพดานเก่าออกบางส่วน เปลือยเนื้อสีบางส่วนที่ถูกทาซ้อนทับให้เนื้อไม้เก่าได้แสดงตัวตนออกมา
ส่วนที่ 2 ที่ประดิษฐาน “เจ้าแม่ทับทิม” เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ศาลเจ้าแม่ม่าโจ้ว” เทพผู้คุ้มครองคนเดินเรือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ล่องเรือจากเมืองจีนมาอยู่บนแผ่นดินสยามมีทั้งหมด 3 ปางแบ่งตามช่วงอายุ ปางวัยเด็ก ให้พรทางด้านการขอบุตร , ปางเด็กสาว ให้พรทางด้านการค้าขาย ,ปางวัยสาว จะช่วยในการเดินทางปลอดภัย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนจีนในแผ่นดินไทยศรัทธา
ส่วนที่ 3 โกดังริมแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะเริ่มมีการค้าเกิดขึ้นจึงต้องสร้างโกดังสำหรับเก็บของแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นโกดังไม้ กับโกดังปูนอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 7 ช่วงที่สถาปัตยกรรมฝรั่งเข้ามามีบทบาท สังเกตจากตึกแถวบ้านเราสมัยนั้น โดยมีการปรับเปลี่ยนผนังอาคารเดิมให้มีความโปร่งด้วยการเจาะช่องหน้าต่างในรูปแบบ panoramic view
เรื่องของพื้นที่
พื้นที่เดิมประมาณ 6 ไร่ พื้นที่อาคาร 6,800ตารางเมตร อายุกว่า 160 ปีตัวอาคารทรุดโทรมมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดเป็นความคิดของ คุณอู๋ ภฤศธร สกุลไทย Design Director “เราจะทำอย่างไร.. ที่จะใช้พื้นที่ภายในตัวอาคารให้น้อยที่สุด” นั่นคือการตัดสินใจที่จะไม่ใช้พื้นที่ภายในตัวอาคาร แต่กับคิดตรงข้าม กลับมาใช้พื้นที่นอกอาคาร เพื่อเป็นการรักษาตัวอาคารเดิมให้มีอายุมากขึ้น
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
ตัวอาคารเป็นการหยิบยกรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนโบราณแบบ “ซาน เหอ ย่วน” ในสมัยรัชกาลที่ 3 รายละเอียดคล้ายคลึงกับจีน ซัวเถา ในลักษณะพื้นที่โล่งตรงกลางระหว่างตัวอาคารที่ล้อมรอบเป็นรูปตัวยู อาคารก่อด้วยอิฐมอญ ทับด้วยปูนหมักเก่า พื้นไม้ หลังคาจีนทำจากกระเบื้อง ใช้ผนังกั้นระหว่างห้องเป็นที่รองรับน้ำหนักตัวอาคารเป็นหลัก ส่วนเสาที่อยู่รอบนอกรองรับระเบียง และเชิงชายหลังคาบางส่วนเท่านั้นลักษณะโครงสร้างจึงเป็นแบบ wall bearing โดยสถาปัตยกรรมทั้งหมดยังคงสภาพเดิมไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เพียงซ่อมแซม การบูรณะทำนุบำรุงใหม่ เสาบางเสาที่เหลือเพียงเหล็กเส้นถูกดามไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ก็นำมาซ่อมให้แข็งแรงขึ้น ระเบียงไม้ที่พังไปตามกาลถูกซ่อม โดยช่างยุคปัจจุบันด้วยการลอกแบบรายละเอียดงานดีไซน์ของช่างสมัยก่อนให้เหมือนเดิมทุกประการ ในส่วนที่ยังเป็นของเก่าดั่งเดิมที่ไม่ได้ทำการซ่อมแซมคือ หลังคา และปีกหลังคาตัวปูนปั้นทั้งหมดเพียงแต่ทำความสะอาดด้วยการฉีดน้ำยารักษาเพื่อกันความชื้น และ Protect ตัวคอนกรีตให้มีอายุยาวนานได้ขึ้นอีกในระดับหนึ่ง
งานเขียนจิตรกรรมเล่าเรื่อง
คุณอู๋ สกุลไทย เล่าว่า “ภาพเขียนที่เราเริ่มเจอขึ้นเรื่อยๆ ขณะการสำรวจสถานที่ว่าด้วยเรื่องเล่าต่างๆ แต่ไม่ได้เล่าถึงเหตุการณ์ตรงนี้เท่าไร เป็นเชิง Entertain หรืออาจจะเรื่องเกี่ยวกับ ความอุดมสมบูรณ์ ความมงคลของดอกไม้ สัตว์ต่างๆ กระทั่งคนในสมัยนั้นที่ถูกเขียนลงบนฝาผนัง เท่าที่เราทราบเป็นงานเขียนฝีมือของช่างก่อสร้างที่อยู่อาศัยบริเวณนี้ โดยเสน่ห์ของการวาดแบบธรรมชาติ ความเป็นพื้นบ้าน เป็นสามัญชนทั่วไปที่ไม่ได้บรรจง เสมือนเป็นการบรรยายความรู้สึกของช่างสมัยนั้น ที่ไม่ใช่ศิลปินเขียนเพราะสมัยก่อนศิลปินเป็นบุคคลที่อยู่ในวัง ทำงานศิลป์กับพระราชาเท่านั้น”
ความเป็นมาเมื่อครั้งเก่า
ล้ง1919 ชื่อเดิม “ฮวย จุ่ง ล้ง” ในภาษาจีนหมายถึง “ท่าเรือกลไฟ” เมื่อครั้งอดีตปี ค.ศ. 1850 (พ.ศ.2393)เคยเป็นท่าเรือกลไฟสร้างขึ้นโดย พระยาพิศาลศุภผลต้นตระกูลพิศาลบุตรคนจีนที่เกิดบนแผ่นดินสยาม โดยท่าเรือแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นแหล่งการค้า พื้นที่บริเวณส่วนที่เป็นตัวอาคารคือ ร้านค้า และโกดังเก็บสินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีน ฮ่องกง สิงคโปร และอื่นๆ ต่อมาท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง ค่อยๆ ลดบทบาทลงเนื่องจาก การท่าเรือแห่งประเทศไทยเข้ามามีบทบาททางการค้ากับชาวต่างชาติมากขึ้นนั่นเอง จนกระทั้งปี ค.ศ. 1919 (พ.ศ.2462) ตระกูลหวั่งหลีได้เข้ารับช่วงต่อจากตระกูลพิศาลบุตร เปลี่ยนพื้นที่ท่าเรือให้กลายเป็น อาคารสำนักงาน และโกดังเก็บสินค้าในด้านกิจการค้าขายทางการเกษตรขนส่งสินค้าทางแม่น้ำเจ้าพระยารวมถึงเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับคนงาน
LHONG1919 ในปัจจุบัน คือสถานที่ที่ประกอบด้วย co-working space ทั้งงานสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม ศิลปะ ร้านอาหาร และเครื่องดื่มอย่างร้านนายห้าง , ร้าน Vanilla, ร้านอาหารโรงสี ,ผลิตภัณฑ์โปรดักส์สินค้าด้านดีไซน์ของศิลปินรุ่นใหม่ พื้นที่ลานกิจกรรมกลางแจ้ง อาคารสำหรับการจัดงาน Event, โครงการ The Great Outdoor Market, บริเวณที่นั่งพักผ่อนติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึง Spa และ Art gallery ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง