อัญมณีกองขยะ
ผศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต
ในมุมมองของดีไซเนอร์หนุ่มที่เคยเห็นขยะเป็นวายร้าย ‘ทำลายโลก’ จุดประกายให้ ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต เริ่มศึกษากระทั่งค้นพบว่า สิ่งที่ไร้มูลค่าที่ทุกคนรังเกียจ คืออัญมณีที่สามารถเจิดจรัส และสร้างโลกใบเดิมให้งดงามได้
ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต สถาปนิกดีกรีด็อกเตอร์สาขา Design Technology จากสถาบัน Massachusetts Institute of Technology (MIT) ผู้มีผลงานการออกแบบมากมายตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกา จุดหักเหครั้งสำคัญของชีวิตเขาเกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจ ทำงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือบินกลับมาเผชิญกับอากาศร้อน การจราจรหนาแน่น และปัญหาเรื่องคอรัปชั่น จากหน้าข่าวเมืองไทยที่เขาคอยติดตามตลอดเวลา
ในที่สุด ดร. สิงห์ ก็ตัดสินใจกลับบ้านเกิดด้วยเหตุผลที่ว่า “ชอบความท้าทาย” นั่นทำให้เขาพบกับสิ่งที่ไม่คาดฝัน ซึ่งก็คือโอกาสที่จะสามารถทำอะไรเพื่อประเทศชาติแต่ด้วยสายอาชีพสถาปนิกที่ได้พบขยะกองมโหฬารอยู่เป็นประจำ แม้กระทั่งในงานที่ถูกเรียกว่า eco-friendly ทำให้เขาตัดสินใจวิ่งเข้าสู่สายงานวิชาการด้วยความตั้งใจที่จะทำให้โลกหมุนไปในทิศทางที่ดีขึ้น
นั่นทำให้ ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ตัดสินใจรับบทบาทการเป็นหัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตย-กรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมสานต่อแบรนด์ OSISU กรีนเฟอร์นิเจอร์ ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 ร่วมกับคุณวีรนุช ตันชูเกียรติ โดยทำงานภายใต้แนวคิด ‘ไม่เน้นการขาย แต่หวังสร้างแรงบันดาลใจคนรุ่นใหม่รักษ์โลก’
ขณะที่การเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่แวดล้อมไปด้วยขยะจำพวก หลอด แก้ว และถุงก๊อบแก๊บ ทำให้ความคิดที่เห็นพลาสติกเป็นวายร้ายเมื่อ 8 ปีก่อนของ ดร. สิงห์ ถูกแปรเปลี่ยนเป็นความเข้าใจประหนึ่งว่าจิตใจของเขาได้หลอมรวมเข้ากับพลาสติกอย่างสมบูรณ์แบบหลังการศึกษาค้นคว้าจนกลั่นออกมาเป็นหนังสือ 24 Hours Plastic ที่เล่าถึงการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน รวมถึงนวัตกรรมของพลาสติก
ดร. สิงห์อธิบายว่า “ถ้าของบางที่จำเป็นต้องใช้ แต่พอใช้แล้วมันกลับเป็นตัวร้ายทำลายโลก แสดงว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่ผิดไป เหมือนกับสมการที่ไม่ลงตัว สรุปคือกระบวนการ management ผิดพลาด ความสะเพร่าของเราก็เป็นความผิดพลาด สุดท้ายแล้วมันไม่ใช่วัสดุที่ผิด แต่เป็นพวกเราที่ผิด ทีนี้จะโทษพลาสติก หรือจะโทษเราล่ะ”
สมการขยะง่าย ๆ แต่ไม่มีใครคิด ทำให้ ดร. สิงห์ ไม่เคยหยุดค้นคว้าเศษขยะแค่ชนิดเดียว “ผมเป็นประเภทรวมฮิต พลาสติก ไม้ หนัง PET ทำให้ผมเข้าใจในภาพรวมทั้งหมด แต่ผมจะไม่รวยเท่าคนที่โฟกัสอยู่ที่เศษขยะชนิดเดียวนะ” ดร. สิงห์ กล่าวพร้อมกับบอกว่า “โดยแนวคิดการหยิบจับของหนึ่งสิ่งมารีไซเคิลทุกๆครั้งของผม ต้องเป็นเศษขยะที่อยู่ใกล้ตัว ไร้สาระ และไร้มูลค่าที่สุด ถ้าหากเศษขยะนั้นยังมีมูลค่าอยู่ผมก็จะวางไว้ก่อน นั่นทำให้ผมพบกับความท้าทาย และได้รับความรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลาจากการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันออกไป กระทั่งมีประสบการณ์มากพอที่แชร์ออกไปทั้งในฐานะอาจารย์ และวิทยากรทั่วทุกมุมโลกครับ”
“ทุกวันนี้โลกไม่ได้สมบูรณ์เหมือนเก่าแล้ว ทิศทางต่อไปคือเราจะอยู่อย่างไรเมื่อความสมบูรณ์ไม่เหมือนเดิม” นั่นคือเหตุผลเดียวที่ทำให้ ดร. สิงห์ไม่เคยหยุดแบ่งปันความรู้ที่ค้นพบ เพราะมุ่งฝากความหวังให้กับ New Generations ที่จะสามารถสร้างสีสันให้กับขยะด้วยมุมมองที่สดใหม่ ด้วยความคิดที่เปิดกว้างรับสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลาทำให้ ดร. สิงห์มองเห็นโอกาสที่จะรีไซเคิล ซึ่งไม่เพียงการนำขยะกลับมาใช้ใหม่เท่านั้น หากยังคำนึงถึงความยุติธรรมของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดนับเป็นการเชื่อมโยงกับการเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของมวลมนุษย์ ผ่านความเชื่อที่ว่า กระบวนการจะสมบูรณ์แบบได้หากระบบการจัดการเป็นไปในทิศทางที่ “เราแก้เองไม่ได้ ก็ให้เพื่อนเราแก้ เพื่อนเราแก้ไม่ได้ เพื่อนอีกคนแก้ให้” ดร. สิงห์กล่าวพร้อมความคาดหวังที่จะเกิดขึ้นภายใน 20 ปี
ปัญหาทรัพยากรขยะนั้นเป็นโจทย์ที่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นอย่างมาก ตลอดระยะเวลาการทำงานของ ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต แสดงให้เห็นถึงความพยายามของเขาอย่างไม่มีใครปฏิเสธได้ ทั้งในฐานะนักคิด นักทดลอง รวมถึงนักปฏิบัติที่ขับเคลื่อนด้วยทั้งการกระทำ และคำพูด หลอมรวมเป็นประสบการณ์การสร้างสรรค์ขยะให้เป็นอัญมณีได้อย่างลงตัว
Story นิชาภา โตยิ่งเจริญ
Photography อรรถพงศ์ สมวงค์