Back to home
Artist, SPOTLIGHT

ศาลเจ้า “พื้นที่ศิลปะ ตำนาน ความงดงามแห่งศรัทธา”

หาใช่แค่สินค้าเต็มลำสำเภา ที่ชาวจีนโพ้นทะเลนำมาค้ามาขายบนแผ่นดินสยามเมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเท่านั้นไม่ หากยังมีความเชื่อความศรัทธาติดตัวมาเป็นที่พึ่งพาจิตใจให้มานะบากบั่นยามสิ้นหวังท้อแท้ด้วย หนึ่งในหลักฐานที่สะท้อนเรื่องราวศิลปะวิทยาชาวจีนทั้ง 5 เชื้อสาย ได้เป็นอย่างดี ก็คือ “ศาลเจ้า”สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่แสดงศิลปะจีนหลากแขนง ที่ตั้งตระหง่านท้าทายกาลเวลา และความเจริญรุ่งเรืองของเมืองใหญ่

ผศ.ดร. อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะคณะโบราณคดี มหาวิทยาศิลปากร เล่าอดีตที่มาของศาลเจ้าว่า “ศาลเจ้าที่พบเห็นในเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความเชื่อ ซึ่งผูกอยู่กับกลุ่มคนจีน สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่เมื่ออพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย หากแต่หลักฐานเด่นชัดมากขึ้นสมัยอยุธยา ดั่งจารึกบันทึกว่ามีศาลเจ้าภาคใต้ และกรุงเทพฯ แล้ว โดยพงศาวดารสมัยอยุธยา ก็ได้มีบรรยายถึงตลาดคนจีน และพูดถึงศาลเจ้าปุ้นเถ้าก๋ง ซึ่งเป็นหนึ่งในเทพเจ้าที่คนจีนแต้จิ๋วนับถือด้วย

“ทั้งนี้ศาลเจ้าที่มีอยู่ทั่วไปประเทศไทยนับหมื่นศาลนั้น มีการแบ่งไปตามลักษณะความเชื่อที่สะท้อนผ่านงานสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และประติมากรรม ชาวจีน 5 กลุ่มภาษาที่ได้โล้สำเภามาแผ่นดินสยาม ซึ่งได้แก่จีนแต้จิ๋ว จีนแคะ ฮกเกี้ยน ไหหลำ และกวางตุ้ง

“โดยศาลเจ้าจีนแต้จิ๋ว และกวางตุ้ง นิยมสะท้อนสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นผ่านหน้าบันตัวอาคาร ซึ่งส่วนใหญ่ทำเป็นรูปทรงเรขาคณิตแบบต่างๆ เช่น อาจจะเป็นรูปทรงโค้งมน หรือรูปทรง 5 เหลี่ยม ที่เกิดจากความเชื่อเกี่ยวกับธาตุทั้ง 5 ของคนจีนทั้งสองเชื้อสายนั่นเอง

“อย่างไรก็ตาม ศิลปะในศาลเจ้า ก็ได้มีการแบ่งเป็นศิลปะเหมือนศิลปะไทย คือแบ่งเป็นศิลปะกระแสหลัก และศิลปะท้องพื้นถิ่น ศาลเจ้าที่พบเห็นส่วนใหญ่จึงมีการผสมผสานระหว่างศิลปะจีนกระแสหลัก และศิลปะจีนพื้นถิ่น นั่นหมายความว่าศิลปะในศาลเจ้ามีทั้งงานศิลปะสถาปัตยกรรมส่วนที่เหมือนกัน และต่างกันไปตามความเชื่อพื้นถิ่นที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน เป็นต้นว่า มีการวางผังในงานสถาปัตยกรรม ที่มีลักษณะเดียวกับวัดในพุทธศาสนานิกายมหายานของจีน และมีการใช้หลักของความสมมาตร โดยจัดตำแหน่งอาคารเป็นแกนกลาง รวมถึงการจัดวางสัญลักษณ์มงคล จำพวกงานประดับต่าง ๆ

“ เช่น ภาพประติมากรรมผลทับทิม ซึ่งสื่อ ถึงการมีลูกชายสืบตระกูลมากๆ ผลส้มโอมือ ซึ่งมีความหมายที่เป็นมงคลในภาษาจีน มาเป็นเครื่องทรง หรืองานจิตรกรรมเกี่ยวกับหลักคำสอน ประดับหลัง และฝาผนัง เหมือนกันในทุกๆภาค และไม่ใช่แค่รูปแบบงานสถาปัตยกรรม และงานจิตรกรรมเท่านั้นที่เหมือนกัน แม้แต่เทพบางองค์ เช่น เทพเจ้ากวนอู ก็ยังเป็นเทพเจ้ากระแสหลักที่คนจีนทั่วไปอัญเชิญขึ้นแท่นบูชาในศาลเจ้าที่พวกเขาเคารพบูชาโดยไม่เลือกเชื้อสายภาษาด้วย”

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่พื้นที่ศิลปะ ตำนาน ความงดงามแห่งศรัทธา ในศาลเจ้าทั่วประเทศไทยที่โดดเด่นด้วยความงดงามจากผ่านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และประติมากรรม กำลังพ่ายแพ้ต่อกฎแห่งการเปลี่ยนแปลงเฉกเช่นชิ้นงานสถาปัตยกรรมที่มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก เพราะขาดทั้งงบประมาณในการบูรณะ และช่างจีนที่มีองค์ความรู้ตามกรรมวิธีดั้งเดิม

“วันนี้ศาลเจ้ามีช่างที่สืบทอดศิลปะจีน 2 กลุ่มหลัก คือ 1.บริษัทรับเหมา ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตงานสำเร็จรูปจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผ่านโครงสร้างคอนกรีตเท หล่อ 2.ช่างฝีมือรายย่อย ซึ่งปัจจุบันมีน้อยกว่านิ้วมือข้างใดข้างหนึ่ง ที่สำคัญช่างกลุ่มนี้ได้ล้มหายตายจากไปตามวัยทีละคนๆ” ผศ.ดร. อชิรัชญ์ เล่าถึงกลุ่มช่างจีนที่ทำหน้าที่บูรณะศาลเจ้าจีนปัจจุบัน พร้อมกับบอกว่า

“เท่าที่เคยสัมภาษณ์ก็มี คุณเสกสรรค์หรือคุณคี้ บุตรชายของท่านอาจารย์เป่งซ้ง แซ่โอ๊ว ปฏิมากรเอกหนึ่งเดียวในเมืองไทยผู้สร้างสรรค์งานสกุลปูนปั้นเทคนิค ผกซา ซึ่งเทคนิคนี้แม้แต่ในประเทศจีนก็พบเห็นได้ยากแล้ว ผกซา เป็นสร้างชิ้นงานประติมากรรม ซึ่งเริ่มด้วยการก่อโกลน และใช้ผ้าชุบยางรักแล้วพันทีละชั้นๆ จนกว่าองค์เทพเจ้าจะสำเร็จ ซึ่งต้องใช้ความประณีต และเวลานานมาก ผลที่ได้จากการใช้เทคนิคผกซา ทำให้องค์เทพเจ้ามีน้ำหนักเบา โดยสามารถยกคนเดียวได้สบายๆ เหล่านั้นเป็นภูมิปัญญาที่นับวันจะสูญหายไปจากโลกของงานศิลปะ โดยไม่มีวันหวนกลับคืน ถ้าพวกเราทุกคนไม่ร่วมกันรักษาไว้”

 

“ความต่างในความเหมือนศิลปะจีนในศาลเจ้า”

แม้วันเวลา และการคลี่คลายชาติพันธุ์ภาษา จะหล่อหลอมศิลปะจีนกระแสหลักและพื้นถิ่นให้เป็นหนึ่งเดียวจนดูเหมือนยากจะแยกแยะแต่หากศึกษา และเข้าถึงความศรัทธา ที่ซุกซ่อนภูมิปัญญาไว้ให้ลึกซึ้ง ก็จะเห็นถึงความต่างในควาเหมือน ศิลปะ-สถาปัตยกรรม ที่เกิดจากแรงศรัทธาในศาลเจ้าจีน 5 เชื้อสายได้อย่างเด่นชัด

 

1. ศาลเจ้าจีนแต้จิ๋ว

-เทพเจ้าทิศเหนือ “เฮียงบู๊” หรือเสวียนอู่ คือเทพประทานหลักศาลเจ้าจีนแต้จิ๋ว
-บริเวณหน้าบันศาลเจ้า นิยมใช้รูปทรงเรขาคณิต ด้านบนซ้อนด้วยหน้าจั่ว
สามเหลี่ยม โดยสะท้อนความเชื่อผ่านธาตุทั้ง 5 ดิน น้ำ ไฟ ไม้ ทอง เช่น ใช้รูปคลื่นแทนสัญลักษณ์ธาตุน้ำ สามเหลี่ยม หมายถึงธาตุไฟ ซึ่งความเชื่อกระแสหลักเรื่องธาตุจะพบเจอในศาลเจ้าจีนไหหลำเช่นกัน
-เครื่องทรงบนหลังคา และผนัง ช่างแต้จิ๋ว หรือช่างฮกเกี้ยนนิยมใช้กระเบื้อง หรือถ้วยชามตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ประดับบนงานปูนปั้นที่พอกขึ้นรูปเป็นโกลน เป็นรูปดอกไม้ หรือตุ๊กตางิ้ว หรือสัญลักษณ์สัตว์มงคล เช่นมังกร

ศาลเจ้าเล่งป๋วยเอี้ย ซอย เยาวราช 6 ถนน เยาวราช แขวง สัมพันธวงศ์ เขต สัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

 

2.ศาลเจ้าจีนแคะ

-เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยะ ถือเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ พ่อค้าชาวจีนฮากกา
หรือจีนแคะ ศาลเจ้าฮ้อนหว่องกุ๊ง ศาลเจ้าโรงเกือกตลาดน้อยเทพประทานในศาล คือบรรพกษัตริย์ราชวงษ์ฮั่น ที่นี่เป็นหนึ่งศาลเจ้าจีนแคะที่ยังความงดงามไปด้วยสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และงานจิตรกรรมมากที่สุดในประเทศไทย

ศาลเจ้าฮ้อนหว่องกุ๊ง ซอย วานิช 2 แขวง ตลาดน้อย เขต สัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

 

3.ศาลเจ้าจีนฮกเกี้ยน

-ในอดีตองค์เทพเจ้าประทาน เป็นเทพเจ้าโจวซือกง ครองเพศสมณะ ปัจจุบันเทพประทานเป็นเจ้าแม่กวนอิม แกะด้วยไม้หอม ครองเพศสมณะ ซึ่งหาชมได้ยากยิ่ง
-สถาปัตยกรรมประตูทางเข้าศาลเจ้า มีการเจาะช่องหน้าต่าง โดยใช้ลายฉะลุปิดช่องหน้าต่างอีกชั้น และจิตรกรรมฝาผนังภายในอาคาร และงานแกะสลักไม้ด้านหน้าศาลเจ้าบอกเล่าเรื่องราวสามก๊กได้วิจิตรงดงาม ขณะที่รูปแบบทางสถาปัตยกรรมศาลเจ้าคนจีนอีก 4 เชื้อสายโดยปกติจะก่อเป็นผนังทึบ
-รูปทรงหลังคามีลักษณะซ้อนกันเป็นชั้น เป็นการแสดงยศถาบรรดาศักดิ์ผ่านตัวอาคาร ต่างจากศาลเจ้าจีนแต้จิ๋ว

ศาลเจ้าเกียนอันเกง เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร

 

4.ศาลเจ้าจีนไหหลำ

ศาลเจ้าแม่ทับทิม หรือ ศาลเจ้าจุยบ่วยเนี่ยว เป็นศาลเจ้าของชาวจีนไหหลำ บูชาเทพธิดาแห่งท้องทะเลที่คุ้มครองผู้เดินทางทางเรือ เรียกว่า “จุยบ่วยเนี่ยว”แปลว่า “เจ้าแม่ชายน้ำ” องค์เจ้าแม่สลักจากขอนไม้ใหญ่ที่ลอยมาตามน้ำมีปาฏิหาริย์ทำให้ผู้คนเคารพบูชา ส่วนใหญ่มาสักการะขอพรให้แคล้วคลาดปลอดภัย สถาปัตยกรรมในส่วนหน้าบัน หรือหน้าจั่วมีลักษณะค่อนข้างกว้าง ขณะที่ตัวอาคารที่ประดิษฐานเทพประทานเจ้าแม่ทับทิม แม้จะมีการเจาะช่องหน้าต่างคล้ายศาลเจ้าจีนฮกเกี้ยนก็จริง หากแต่ความประณีตในงานไม่เท่าชาวจีนฮกเกี้ยน

ศาลเจ้าจุ่ยบ่อเนี้ย สะพานซังฮี้ ฝั่งพระนคร

 

 

5.ศาลเจ้าจีนกวางตุ้ง

-สถาปัตยกรรมในส่วนหน้าบันเป็นรูปทรงเรขาคณิตคล้ายศาลเจ้าจีนแต้จิ๋ว ต่างกันที่หน้าบันศาลเจ้าจีนแต้จิ๋วจะมีลักษณะแคบ น้อยกว่าหน้าบันศาลเจ้าจีนกวางตุ้ง
-งานจิตรกรรม และประติมากรรม เป็นรูปผลมะเฝือง ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีค่อนข้างเยอะในมณฑลกวางตุ้ง และการออกเสียงคำว่ามะเฝืองในภาษาจีนยังเป็นคำพ้องเสียงที่สื่อความเป็นสิริมงคล
-งานประติมากรรมใช้เทคนิคปั้นกระเบื้องขึ้นมาเป็นรูปแล้วเผาเคลือบ หรือนำอิฐก้อนก่อ และแกะสลักนูนสูงกึ่งลอยตัวบริเวณสันผนังซึ่งมีแห่งเดียวในเมืองไทย

ศาลเจ้ากว๋องสิว – ถ.เจริญกรุง ป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

 

 

Story โชคชัย บุญส่ง

Photographer รัก ปลัดสิงห์

 

 

Facebook Comments
By Oom, 04/02/2018
Leave a Reply
Change language:
Instagram API currently not available.
Instagram API currently not available.