หากย้อนเวลากลับไป คงเป็นเวลาที่ยาวนานกว่าศตวรรษ ที่ต้นตระกลูหวั่งหลีได้ถือกำเนิดขึ้นที่สยามประเทศ โดย “นายฉื่อฮ้วง” บุรุษหนุ่มชาวจีนที่พบรักกับหญิงไทยชื่อ “หนู” จนมีลูกคนโตชื่อ “นายตันลิบบ๊วย” นับเป็นเวลา 10 ปีหลังจากที่ นายฉื่อฮ้วง เข้ามาสู่แผ่นดินสยามนั่นเป็นจุดกำเนิดของ“ตระกลูหวั่งหลี” ขณะที่วันเวลาล่วงเลยไปเรื่อยๆ บ้านหลังนี้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นจากอดีตถึงปัจจุบัน
บ้านหวั่งหลี เป็นบ้านประจำ “ตระกูลหวั่งหลี” อายุราว100 กว่าปี ตั้งอยู่สุดถนนเชียงใหม่ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ติดกับ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ท่าเรือกลไฟ หรือ “ล้ง1919” ในปัจจุบัน
สถาปัตยกรรมจีนอันโดดเด่นสไตล์จีนร่วมสมัยในยุคนั้น รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังคาทรงสั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาดประมาณ 6 ไร่ มีบริเวณสนามหน้าบ้านอันกว้างขวาง จากอดีตที่เคยเป็นลานปูนถูกออกแบบใหม่ให้กลายเป็นสนามหญ้าสีเขียวโดยหันหน้าตัวอาคารออกไปทางฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้กำแพงขาวประตูบานใหญ่
เต็มไปด้วยลวดลายงานเขียนจิตรกรรม และอักษรจีนกำลังเปิดออกให้เราได้สัมผัสกับสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์อายุยาวนานกว่าศตวรรษ ฝาไม้สีแดงเบื้องหน้าวางกั้นสายตาระหว่างประตูบานใหญ่ แอบซ่อนสายตาจากคนนอกที่กำลังมองไปยังห้องรับแขกกลางบ้าน ภายในอาคารสองชั้นรูปเกือกม้า หรือตัวยู ตัวอาคารปูนปูพื้นด้วยไม้ ล้อมรอบลานกระเบื้องกว้างตรงกลาง
ชั้นล่างฝั่งซ้ายมือประกอบด้วย “ห้องจักร” ห้องที่สมัยอดีตใช้สำหรับเลี้ยงเด็กๆ แรกเกิดขณะเดียวกันก็ใช้เป็นห้องพยาบาลด้วย ลักษณะภายในห้องมีการยกระดับพื้นไม้ทาด้วยชะแล็กมันปลาบ (เป็นเงาวับ) ซึ่งเป็นห้องที่สามารถทำได้หลากหลายหน้าที่ห้องกลางเป็นห้องรับแขก ซึ่งในปัจจุบันนี้ราวกับพิพิธภัณฑ์ที่กำลังทำหน้าที่โชว์เฟอร์นิเจอร์งานดีไซน์โบราณเก่าไว้ยังห้องแห่งนี้ เตียงนอนตัวเก่าสไตล์จีนมูลค่าความสวยงามมหาศาลสีน้ำตาลไหม้ เต็มไปด้วยภาพเขียนที่คล้ายคลึงกับการภาพเขียนจิตรกรรมของไทย ราวกับบอกเล่าเรื่องราวบางอย่าง อีกทั้งการแกะสลักเนื้อไม้ลายเล็กลายน้อยเต็มไปด้วยความละเอียดละออของช่างสมัยก่อน รายล้อมด้วยเฟอร์นิเจอร์เก่าอีกหลายต่อหลายชิ้น ถัดไปด้านขวามือของห้องกลาง เป็นส่วนของห้องอาหารขนาดใหญ่ที่ไร้ผู้คนมาเป็นเวลานานภายในมีโต๊ะทานอาหารทรงกลมวางอยู่เต็มห้อง
ปีกทางด้านขวามือสร้างไว้สำหรับเป็นห้องอาบน้ำ รวมถึงห้องอาบน้ำเด็กที่เห็นโอ่งเล็กวางอยู่ภายใน ซึ่งห้องนี้มีบันไดเชื่อมไปยังชั้นสองอีกด้วย และปีกซ้ายมือใช้เป็นห้องนอน ทั้งหมดของชั้นล่างแบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลักๆ และมีบันไดทางขึ้นเชื่อมไปยังชั้นสองทั้งซ้าย และขวา ฝั่งทิศประตูทางเข้า ซึ่งเมื่อครั้งอดีตลูกสาวบ้านนี้จะต้องคลานเข่าตั้งแต่หัวบันไดไปยังชั้นบนจนถึงบริเวณห้องนั้นๆ เพื่อไม่ให้ศีรษะสูงกว่าผู้ใหญ่ที่นั่งอยู่ในระดับพื้น บริเวณชั้นสองใช้เป็นห้องนอนทั้งหมด และมีหนึ่งห้องกลางที่ใช้เป็นที่เก็บบรรพบุรุษเท่านั้น สถาปัตยกรรมบ้านจีนเก่าแห่งนี้ไม่ลับหายไปจากโลกใบนี้แต่เป็นเสมือน…ที่เก็บเรื่องราวของผู้คน ตระกูลหวั่งหลี ไว้หลายต่อหลายชีวิตด้วยกัน ที่เกิดขึ้น และดับลงจากบ้านหลังนี้ คงเป็นการเริ่มต้นตั้งแต่การเดินเรือเพื่อเข้ามาทำธุรกิจการค้าขายทีประเทศไทยผ่านมาหลายชั่วอายุคน จนถึงปัจจุบันตระกลูหวั่งหลียังคงเก็บรักษาสถานที่ของบรรพบุรุษไว้เป็นอย่างดีมิได้แปรเปลี่ยน ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้บ้านหวั่งหลีจะไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแล้วก็ตาม แต่บ้านหลังนี้ยังเป็น “บ้าน” ที่ใช้สำหรับประกอบพิธีสำคัญของตระกูลอยู่ตลอดมา
Story กานต์ ทองปอน
Photographer อรรพงศ์ สมวงค์
Host บ้านตระกูลหวั่งหลี