การเปลี่ยนเพียงนิดเดียว อาจทำให้เราพบสิ่งที่พิเศษกว่าคนอื่น Collage งานตัดปะที่เคยเรียนในวัยเยาว์ กลับกลายเป็นงานสร้างสรรค์ต่อยอดความคิดเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมของไทย “เหตุใดศิลปวัฒนธรรมไทยจึงถูกตีกรอบในความผสมผสานของวัฒนธรรม” ความต้องการทำลายกรอบนี้จึงเป็นที่มาของการสร้างสรรค์ Collage ของคุณนักรบ มูลมานัส
จากนิสิตอักษรศาสตร์ที่สนใจในงานศิลปะ ได้ลองหยิบจับ ตัด ปะ รูปภาพต่าง ๆ ตามแนวทางของตนเอง จนเกิดเป็นงานศิลปะที่เชื่อมโยงวัฒนธรรมที่หลากหลายของโลกใบนี้เข้าด้วยกัน สำหรับงานคอลลาจในมุมมองของใครหลาย ๆ คนอาจจะเป็นแค่งานตัดตัดปะ หากแต่ในมุมมองของคุณนักรบงานคอลลาจเป็นอะไรที่มากกว่าการตัดปะ “งานคอลลาจในมุมของเราคือ การหยิบจับสิ่งที่ดูเหมือนไม่เข้ากัน มาแปะให้มันอยู่ด้วยกัน สิ่งหนึ่งที่เรามองว่าเป็นอะไรที่คอลลาจมาก ๆ เลยก็คือ กรุงเทพมหานคร อย่างเช่น ตอนนี้เรานั่งอยู่บนตึกที่ทันสมัยมาก แต่ข้าง ๆ ตึกก็ยังมีวัด หรือว่าในซอยบ้านเราที่มีศาลพระภูมิ มีโบสถ์พราหมณ์ มีโบสถ์คริสต์ ที่เป็นภาพตัดปะของความงงบางอย่าง เรามองว่าสิ่งที่เห็นเป็นภาพที่ไม่ได้ดูเป็นทางเดียวกัน แต่มันเป็นความแตกต่างหลากหลายที่อยู่รวมกันเป็นกระจุกรอบ ๆ ตัวเรา ซึ่งนอกจากเป็นความหลากหลายเรื่องวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นความหลากหลายเรื่องรสนิยมด้วย” ภาพเหล่านี้ที่เห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันส่งผลเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ ‘คุณนักรบ มูลมานัส’ จนเกิดเป็นผลงานต่าง ๆ ขึ้นมา
คอนเซ็ปต์หลักของคุณนักรบเป็นเรื่องของความหลากหลายของศิลปวัฒนธรรม ซึ่งคนไทยจะมีกรอบบางอย่างที่บล็อกไม่ให้ผลงานศิลปวัฒนธรรมไทยสร้างสรรค์ในรูปแบบที่ต่างไปจากธรรมเนียมปฏิบัติ และกรอบนี้เองที่ทำให้คุณนักรบอยากจะสร้างสรรค์ผลงานที่ทำลายกรอบของความเป็นไทยเหล่านี้ลง โดยวัตถุดิบในชิ้นงานส่วนใหญ่จะเป็นการผสมผสานระหว่างความเก่า ความใหม่ ความเป็นตะวันตก และความเป็นตะวันออกเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความรู้สึกของการก้าวผ่านอะไรบางอย่าง คุณนักรบกล่าวถึงการทำงานว่า “จากการทำงานคอลลาจทำให้เราพบว่าสิ่งต่าง ๆ หลากหลาย ถ้าหากเราลองจะเปลี่ยนนิดหนึ่งก็ไม่ผิด แต่นั่นอาจจะทำให้เราได้พบกับอะไรที่พิเศษกว่าคนอื่น หรือว่าสวยงามกว่าสิ่งที่เคยคิดมา”
สำหรับเทคนิคในการทำงานคอลลาจของคุณนักรบเกิดจากการได้ทดลองทำงานด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น การตัดปะรูปจากหนังสือ การสแกนรูปภาพแล้วทำในโปรแกรม การทำ Fine Art Print แล้วใช้เทคนิคลงรักปิดทองลงบนแคนวาส หรือการทำงานสามมิติแล้วประกอบกันเป็นคอลลาจ ซึ่งในอนาคตก็อาจจะมีเทคนิคอื่น ๆ ที่น่าสนใจและเฉพาะทางมากขึ้น
“ถ้าจะพูดถึงความเป็นไทยเราคิดว่าความเป็นไทย ก็คือสิ่งที่คนไทยชอบ หยิบจับมาจากที่ต่าง ๆ แล้วมาผสมให้เป็นในแบบของคนไทย ผ่านหลายยุค หลายสมัย จนกลายเป็นความเป็นไทยที่นิยามตรง ๆ ไม่ได้ว่าคืออะไร เรามองว่าความเป็นไทย ก็คือแนวทางความชื่นชอบของคนไทยที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเราก็คิดว่าคนไทยมีรากฐานวัฒนธรรมที่มันสนุก หลากหลาย และมีสีสัน แต่เหมือนกับว่าเราเอามาใช้ในปัจจุบันได้แค่ไม่กี่อย่าง เพราะคนคิดว่ามันสูงส่ง เชย ไม่น่าสนใจ ซึ่งเราอยากจะบอกว่ามุมมองในเรื่องวัฒนธรรม มันมีหลายมุมที่สนุกแล้วมันก็เล่นได้” คุณนักรบกล่าวทิ้งท้ายก่อนจะจบบทสนทนา
Story อัญชิสา พ่วงทรัพย์
Photographer อรรถพงศ์ สมวงค์