อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม “ทุกครั้งที่พบปัญหาใหญ่เกินกำลัง สิ่งแรกที่ผมทำคือ หยุดคิด ปล่อยปัญหาที่ยังคิดหาทางออกไม่ได้สักพัก ตราบใดที่เราไม่ทิ้งปัญหาเราจะพบหนทางแก้ไข… การหยุดคิด(ชั่วคราว” จึงเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาวิธีหนึ่งของผม”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมาการพัฒนา และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน ก่อให้เกิดปัญหาที่ต้องช่วยกันค้นหาจุดลงตัวเพื่อแก้ไขมากมาย นั่นทำให้ภาพการพัฒนาต่างจากสโลแกนที่ว่า “การพัฒนาอะไรก็แล้วแต่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” คอลัมน์ VIP ฉบับนี้ได้รับเกียรติสัมภาษณ์ คุณสัญชัย เกตุวรชัย อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
“ทุกครั้งที่จะพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น นอกจากคำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลักแล้ว เราจะหาจุดลงตัวที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาความเห็นต่าง เพราะรู้ดีว่าทรัพยากรธรรมชาตินั้นเมื่อใช้หมดไปแล้วเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการสร้าง” คุณสัญชัย เกตุวรชัย อดีตอธิบดีกรมชลประทาน เล่าหลักคิดในการพัฒนาให้ฟัง
ในฐานะที่ทำงานบนความเห็นต่างระหว่างคำว่า “พัฒนา” และ “ทำลาย” ตลอดอายุราชการกว่า 37 ปี คุณสัญชัยสรุปให้ฟังแบบสั้นกระชับว่า “งานส่วนไหนจำเป็นต้องพัฒนาก็ต้องพัฒนา ผมจะไม่พัฒนาโครงการที่อยากพัฒนา คำว่า “จำเป็น” ก็คือมีประโยชน์กับคนทั้งประเทศ หรือประชาชนครึ่งค่อนประเทศ อย่างการสร้างเขื่อนภูมิพล ที่เขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก หรือเขื่อนสิริกิติ์ ที่ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ 50-60 ปีก่อน ถามว่าเขื่อนภูมิพลมีประโยชน์เฉพาะคนจังหวัดตากหรือเปล่า ไม่ใช่ การสร้างเขื่อนภูมิพลมีประโยชน์กับคนกรุงเทพฯ และประชาชนอีก 22 จังหวัดที่อยู่ใกล้ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับเพาะปลูกทำการเกษตร รวมถึงอุปโภค และบริโภค หลายจังหวัดได้รับประโยชน์ในภาพรวม
“ผมถึงบอกว่าเราต้องหาจุดลงตัวให้ได้ว่า ทำไมเราถึงปฏิรูป ที่ปฏิรูปก็เพราะเรามีสิ่งจำเป็นที่ต้องพัฒนา ในส่วนของเรื่องทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ทั้งทางบก ทางทะเล รวมถึงทรัพยากรน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ เราต้องคำถามว่าทำอย่างไรเราจึงอนุรักษ์ไว้เพื่อสร้างความสมดุล การปฏิรูปทั้งองค์กร กฎหมาย แนวทาง และวิธีการปฏิบัติ เพื่อให้สิ่งที่เราคิดยั่งยืนจำเป็นมากน้อยแค่ไหน”อดีตอธิบดีกรมชลประทานกล่าว แบบประสบการณ์ตกผลึกมากว่า 30 ปี และในฐานะหมวกใบใหม่ คือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
วันนี้เมื่อรัฐบาลหยิบปัญหาเรื่องการพัฒนาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขขึ้นมาอีกครั้ง คุณสัญชัย เกตุวรชัย จึงถูกแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 5 ปีตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้กระบวนการการจัดสรรทรัพยากรยั่งยืน โดยการปฏิรูปทั้งองค์กร และกฎหมาย ไปพร้อมๆกัน
“ พูดให้ง่ายก็คือ ป่าก็มี น้ำก็มี คนก็อยู่ได้กับป่า ทรัพยากรน้ำก็ไม่ขาดแคลน หรือไม่ท่วมจนสร้างความเสียหาย ภายใต้การบริหารจัดการที่ดีครับ”
คุณสัญชัย เกตุวรชัย สรุปบทบาทงานปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมให้ฟัง พร้อมบอกว่า “สำหรับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่มีความจำเป็นในการปฏิรูปอย่างเร่งด่วนนั้นมีหลายเรื่อง เช่นทรัพยากรทางบก ได้แก่เรื่องป่าไม้ การบุกรุก การรักษา หรือจัดตั้ง ทางทะเล ได้แก่ปัญหาป่าชายเลน การปักปันเขตแนวทะเล ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงยุทธศาสตร์น้ำ หรือยุทธศาสตร์ชาติ ที่ว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำ ให้ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนน้อยที่สุดในช่วงฤดูน้ำหลาก และมีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอต่อการทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง เช่นความสำเร็จที่เคยเกิดในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ สมัยก่อนเราเห็นภาพข่าวน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2531 และปี 2543 แต่หลังจากที่เราเข้าไปบริหารจัดการ โดยมีการขุดคลองระบายน้ำอ้อมเมือง น้ำก็ไม่ท่วม ถึงท่วมก็ไม่มาก จากที่เคยท่วม 3 วัน ก็ท่วมแค่ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้นเอง
“ทุกบทบาทหน้าที่ทำ ผมยึดแนวทางพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 คือทำให้เกิดประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ ปัญหานั้นในการทำงานนั้นมีแน่นอน แต่ก็ไม่ยากเกินความมุ่งมั่น และความตั้งใจ ผมมองว่าไม่มีปัญหาอะไรที่แก้ไม่ได้ เพียงแต่ละเรื่องอาจแก้ไม่เหมือนกัน ที่สำคัญเป้าหมายของแต่ละเรื่องก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นสำหรับผมทุกปัญหาแก้ได้หมด ขอเพียงมีความรู้พื้นฐาน ประสบการณ์ เราถึงจะมีกระบวนการในการตัดสินใจ “ทุกครั้งที่รู้สึกท้อ ผมเลือกที่จะยืนดูพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และถามตัวเองในใจว่า ถ้าคิดว่าสิ่งที่เราทำถวายพระองค์ท่านเหนื่อย พระองค์ท่านเหนื่อยกว่าเรามากมาย เราเหนื่อยไม่เท่าพระองค์ท่านหรอก ตรงนี้ทำให้ผมมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้นครับ” คุณสัญชัย เกตุวรชัย ทิ้งประโยคไว้ให้คนที่กำลังมุ่งมั่นทำงานขบคิดก่อนจะขอตัวไปทำงานว่า “ปัญหาอาจไหลมาเรื่อยๆเหมือนสายน้ำ อาจจะมีเหนื่อยบ้าง แต่ก็ไม่คิดหยุด หรือทิ้งงาน เพราะงาน คือภาระหน้าที่ คือสิ่งที่ทุกคนต้องทำให้เกิดผลสำเร็จให้ได้ ถ้าเรามองว่างานเฉยๆโดยไม่มองเป้าของความสำเร็จ นั่นไม่ใช่งาน ผมเรียกมันว่าปัญหา”
4 เคล็ดลับการแก้ปัญหาให้สำเร็จ
1.มุ่งมั่นทุ่มเท
2.รู้จักขนาดของปัญหา เพราะบางปัญหาต้องอาศัยกำลังผู้บังคับบัญชาแก้ไข
3.เพื่อนร่วมงาน คือกำลังสำคัญ
4.ผู้ใต้บังคับบัญชามีไว้ปรึกษา
4 เรื่องสำคัญที่ผู้บริหารต้องทำถ้าไม่อยากสร้างความเสียหายให้องค์กร นี่คือ 4 เรื่องสำคัญที่ผู้บริหารต้องทำ
1.งานนโยบาย
2.งานประจำ
3. ถามตัวเองว่าองค์กรได้อะไรจากการมาเป็นผู้บริหารของเรา หรือเราจะพัฒนาองค์ให้มีชื่อเสียงได้อย่างไร
4.ทำอย่างไรให้คนในองค์กรมีความสุขในการทำงาน และเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน