เบื้องหลังความวิจิตร ตระการตาของวัดร่องขุ่น คือบ้านหลังเล็กๆ เรียบง่าย สะท้อนตัวตน ผ่านคติทางธรรม และชีวิตทางโลกของผู้ชายที่ชื่อว่า ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ
เดิมทีนั้น บ้านหลังนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากเจตนาของ อ.เฉลิมชัย มาแต่แรก แต่จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงราย ทำให้ตัดสินใจสร้างบ้านหลังนี้ขึ้นมา จากคำขอของ คุณแจง กนกวัลย์ โฆษิตพิพัฒน์ ภรรยา ที่ขอให้สร้างบ้านหลังนี้เพื่อใช้เป็นบ้านหลังสุดท้าย จนเกิดเป็นบ้านบนผืนดิน 4 ไร่ และนาข้าวหอมมะลิอีก 2 ไร่ โดยมีบ่อปลากั้นระหว่างพื้นที่บ้านและนาข้าว คงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่า บ้านบนที่ดินผืนนี้เกิดจากความรักที่มีต่อภรรยาโดยแท้จริง
“ ป้าแจงบอกว่า …พี่ ก่อนตายขอมีบ้าน มีน้ำ มีนาข้าว มีพื้นที่กว้างๆ ได้ไหม เราก็บอกว่าได้สิ ถ้าเป็นความสุขของเขา ” อ.เฉลิมชัย พูดถึงจุดเริ่มต้นซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลในการสร้างบ้านบ้านถูกตั้งแบบ เรือนประธาน แยกเป็นสองหลัง บ้านหลังหนึ่งออกแบบโดย คุณแจง โดยเน้นความเรียบง่าย ขนาดพอเหมาะที่สามารถดูแลได้ทั่วถึง และกลมกลืนกับธรรมชาติ ทุกการออกแบบเน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นตัวตั้ง ผนังภายนอกเป็นปูนเปลือยขัดมัน เฟอร์นิเจอร์ เน้นงานไม้ ที่เรียบง่าย อยู่นาน และเข้าได้กับทุกสไตล์ โยกย้าย เปลี่ยนแปลงได้ สะท้อนถึงชีวิตของศิลปินที่ รักอิสระและไม่ยึดติดกับสิ่งเดิมๆ โดยแท้
Terrace ขนาดใหญ่ที่ยื่นออกมา ในทางทิศตะวันออก ช่วยรับสายลม และกลิ่นหอมจากท้องทุ้งได้เป็นอย่างดี นั่นทำให้ในตอนเย็น บริเวณนี้เย็นสบาย ไม่ร้อน เพราะแสงอาทิตย์ยามบ่ายตกมาไม่ถึง ที่สำคัญพื้นที่สวนสีเขียวที่รายล้อมไปด้วยต้นพะยอม หูกระจง และจิกน้ำ รอบบ้าน และลมจากทิศตะวันออกพัดผ่านบ่อน้ำเข้ามาในตัวบ้าน ทำให้บริเวณห้องนั่งเล่น เย็นสบายตลอดทั้งวัน
ทรงหลังคาของบ้าน ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก หลองข้าว(ยุ้งข้าว)ล้านนา ที่มีลักษณะเป็นจั่ว ชายคาลาดคลุมยาวลงมาจนถึงระเบียงบ้าน ช่วยลดความร้อนจากแสงแดด และยังป้องกันผนังบ้านจากฝน เหมาะกับสภาพอากาศร้อน ชื้นแบบเมืองไทยอย่างยิ่ง
“ เป็นสไตล์ตามใจฉัน ชอบอะไรก็สร้างแบบนั้น อยู่สบายๆ ชอบอยู่โล่งๆ ชอบบ้านหลังเล็กๆ แบบที่ดูแลได้เอง ไม่ต้องให้คนเข้ามาถู อะไรให้วุ่นวาย ไม่ชอบบ้านหลังใหญ่ เพราะบ้านคือที่ที่เข้ามาแล้ว สงบ สบายกาย สบายใจ ที่สุดแล้ว”คุณแจง บอกเหตุผลสำคัญที่ทำให้บ้านเธอมีขนาดกะทัดรัด
ขณะที่บ้านอีกหนึ่งหลัง ซึ่งประตูบ้านตรงกัน ออกแบบโดยอาจารย์เฉลิมชัย เป็นบ้านชั้นเดียว ขนาดย่อม เน้นความสมถะ เรียบง่าย มีผนังสูงกว่าบ้านทั่วไป ทั้งนี้เพื่อรองรับบานประตูขนาดใหญ่ ที่มีแนวคิดมาจากโบสถ์ของวัด สูงกว่า 3 เมตร และบันไดด้านหลังบ้านแยกทางลงเป็นสองฝั่ง ซ้าย ขวา ก็มาจากบันไดของเมรุเช่นกัน โดยตั้งใจแฝงนัยยะของสัจจะธรรมชีวิต เรื่องของการเจริญมรณะสติ ระลึกถึงความตายทุกชั่วลมหายใจ อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวพร้อมอารมณ์ขันว่า หากซินแสคนใดได้เข้ามาที่บ้านหลังนี้ คงต้องบอกให้รื้อทั้งหลังเป็นแน่
“ ประตูใหญ่ เหมือนประตูโบสถ์ อยากให้ตรงนี้เหมือนเมรุเผาผี บ้านก็เป็นแนวยาวเหมือนโลงศพ เพราะต้องการเจริญมรณะสติ คิดถึงความตาย สันดานพี่คือบ้าน ความรู้ในทางธรรมมะของพี่คือบ้าน การดำเนินชีวิตตรงไปตรงมา เปิดเผย ตรงไปตรงมาชัดเจน ความคิดทั้งทางโลก และทางธรรมสะท้อนอยู่ในบ้านหลังนี้หมด ไม่คิดถึงเรื่องฮวงจุ้ยผิดถูก เพราะพี่เชื่อในธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่จำเป็นต้องหวาดกลัว ภูตผี ปีศาจ หรือแม้กระทั่งความตาย มีบ้านไว้เขียนรูปเท่านั้นเอง และเป็นบ้านหลังสุดท้ายก่อนตาย ทุกอย่างเรียบง่าย ไม่ต้องการความงาม สำคัญอย่างเดียว ที่ที่มีความสุขที่สุด ”
โถงภายในบ้าน เป็นบรรยากาศของพื้นที่ทำงานโดยแท้จริง ทั้งกระดาษ ผืนผ้าใบ พู่กัน แท่งเกรยอง กล่องสี ต่างวางไว้ที่เดิมราวกับทุกอย่างถูกหยุดเวลาไว้ รวมถึงภาพวาดขนาดใหญ่ที่ อ.เฉลิมชัย จงใจไม่วาดให้เสร็จ เพื่อบอกเป็นนัยว่า ความตายสามารถพรากเราไปได้ทุกเมื่อ เมื่อช่วงเวลานั้นมาถึง การงานทั้งหลายก็จะเป็นอดีตที่หยุดอยู่แค่นั้น แม้จะยังไม่เสร็จก็ต้องทิ้งไว้แค่นั้น ก็ไม่มีสิทธิ์ต่อรอง ร้องขอเพื่อประวิงเวลาเพื่อสานต่อ ใดๆ ทั้งสิ้น โดยอาจารย์เฉลิมชัยตั้งใจให้บ้านหลังนี้เป็นอนุสรณ์ให้คนรุ่นหลัง เห็นถึงการทำงาน และเบื้องหลังวัดร่องขุ่นที่ตระการตา ถูกสร้างบนโต๊ะทำงานหลังเล็กๆ ภายในบ้านหลังนี้
บ้านหลังหนึ่งเปรียบดั่ง “กาย” เต็มไปด้วย ความสวยงาม ความรัก ความสุขของชีวิต ที่ชีวิตมนุษย์คนหนึ่งพึงมี บ้านอีกหลังเปรียบดั่ง “จิต” ที่เปี่ยมด้วยความเข้าใจต่อความเป็นไปของธรรมชาติ ความไม่เที่ยงของชีวิต กระทั่งสามารถละทุกอย่างเมื่อห้วงสุดท้ายของลมหายใจมาถึง ตามที่พุทธสาวกคนหนึ่งพึงกระทำ อยู่อย่างมีความสุข และตายอย่างเข้าใจ คือเข็มทิศทีใช้นำทางชีวิตของผู้ชายที่ชื่อ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
Story : ธนภัทร อีสา
Photographer : อรรถพงศ์ สมวงค์
Host & Architect & Interior Designer : ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย และคุณกนกวัลย์ โฆษิตพิพัฒน์