ผืนดินทุกตารางนิ้ว ต้นไม้ทุกต้น ณ ที่แห่งนี้คือการตกผลึกจากการศึกษาเรื่อง ศาสตร์พระราชาอย่างเข้าใจ จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี ที่เหล่าต้นกล้าได้งอกงามจนเป็นผืนป่าตามพระราชดำริเรื่องการดูแลป่า ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานแนวทางไว้ แม้วันนี้พระองค์จะจากไปแต่เมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาที่พระองค์ทรงทิ้งไว้ ได้หยั่งรากลงบนแผ่นดินไทยแล้ว
นับเป็นเวลากว่า 30 ปี ที่คุณลุงสมศักดิ์ เครือวัลย์ ปราชญ์ดิน แห่งจังหวัดระยอง พัฒนาที่ดินกว่า 50 ไร่ของตนเอง ตามกลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระราชทานแนวทางไว้ ให้ปลูกต้นไม้ทดแทนควบคู่ไปกับการพัฒนาอาชีพที่เรียกว่า การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ทรงห่วงใยปัญหาป่าไม้ที่ถูกทำลายเพื่อการทำเกษตร ทำให้จากที่ดินว่างเปล่า 50 ไร่ พัฒนาเป็น สวนป่าสาธิตชื่อว่าศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึง ที่เปิดให้ความรู้ และสาธิตแก่ประชาชนที่มาศึกษาดูงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
การปลูกป่าที่เรียกว่าป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4เป็นการปลูกป่าเชิงผสมผสานที่คนปลูกเองสามารถใช้ประโยชน์จากป่าในการเลี้ยงชีพได้ เป็นทฤษฎีการอนุรักษ์ป่าไม้ ที่ เชื่อมโยงไปถึงเรื่องฟื้นฟูดินกับน้ำ พร้อมไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจในครัวเรือน ประชาชนจึงสามารถดำรงชีพ และฟื้นธรรมชาติได้ในเวลาเดียวกัน กล่าวคือเป็นการปลูกป่าแบบผสมในพื้นที่ของตัวเอง ป่าอย่างที่หนึ่งคือป่าไม้ใช้สอย(ไม้โตเร็ว) เช่น ไผ่ ประโยชน์เพื่อนำมาสร้างเครื่องมือทำการเกษตร เครื่องเรือน คอกสัตว์ ป่าอย่างที่สองคือป่าไม้กินได้ เช่น ทุเรียน มะม่วง มะขามป้อม ประโยชน์เพื่อนำมาบริโภคและเป็นยา ป่าอย่างสุดท้ายคือ ป่าเศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก พะยูง ประโยชน์เพื่อรายได้หมุนเวียนในครอบครัว จากการจำหน่าย เมื่อประชาชนเห็นว่าต้นไม้มีคุณประโยชน์มากกว่าแค่ให้ร่มเงา จึงเป็นเหมือนแรงจูงใจให้อยากปลูก และใช้ประโยชน์จากต้นไม้ในวิธีอื่นแทนการโค่นป่าทีเดียวทั้งผืน เพียงเพื่อทำเกษตรกรรม
“ ถ้าโค่นต้นไม้ กว่าจะโตอีกก็ 25 ปีนะ ถ้าต้นยางนามันออกลูก เก็บลูกยางนามาเพาะขายได้มากกว่าโค่นต้นไม้แล้วต้องรออีก 25 ปีอีกนะ ”
คุณลุงสมศักดิ์ พูดถึงสิ่งที่ได้ไม่คุ้มเสียจากการตัดต้นไม้
การจัดโครงสร้างในป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง เป็นการจัดให้ต้นไม้ในป่ามีความหลากหลาย เอื้อต่อความหลากหลายทางระบบนิเวศน์แบบป่าธรรมชาติ ใช้ต้นไม้ 5 ประเภทโดยแบ่งตามระดับความสูง ได้แก่ ไม้ระดับสูง เช่น ตะเคียน ยางนา ไม้ระดับกลาง เช่น กล้วย ทุเรียน ไม้พุ่มเตี้ย เช่น มันปู เหลียง มะเขือพวง ไม้เรี่ยดิน เช่น ย่านาง เถาวัลย์ และไม้หัวใต้ดิน เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ เผือก มัน
เมื่อปลูกป่าผสมด้วยไม้ 5 ระดับอย่างเป็นระบบในพื้นที่เดียวกันแล้วจะเกิดระบบนิเวศแบบธรรมชาติเกื้อกูลกัน ก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่โดยตัวมันเอง ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ทำให้เราทุ่นแรงในการดูแลรักษาได้อีกมาก รากไม้จะช่วยให้ดินชุ่มชื้นด้วยการดูดซับน้ำฝน เมื่อดินชุ่มชื้นก็จะทำให้รากไม้สามารถชอนไชลงสู่ดินได้ง่ายขึ้น ร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่ และพืชคลุมดินจะช่วยปกป้องหน้าดินจากแสงแดด เพื่อรักษาความชื้นไม่ให้หน้าดินถูกแดดเผา เมื่อหน้าดินไม่ถูกแดดเผาก็จะอุดมไปด้วยจุลินทรีย์ เป็นประโยชน์แก่การเติบโตของต้นไม้ต่อไป
“ ป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่างบางทีคนไปตีความยาก แล้วจะทำไม่ได้ ความหมายที่แท้จริงตามพระราชดำริของพระองค์ท่าน ก็คือ เป็นถ้าปลูกป่าสามอย่าง นอกจากประโยชน์ทั้งสามที่จะได้แล้ว จะเกิดประโยชน์อย่างที่สี่ด้วย นั่นก็คือการอนุรักษ์ระบบดิน และน้ำ ” คุณลุงสมศักดิ์กล่าว
นอกจากปลูกป่า 50 ไร่ของตัวเองแล้ว คุณลุงสมศักดิ์ยังมีหน้าที่ปกป้องผืนป่ารอยต่อบนแนวเขาหินตั้งกว่า 200 ไร่ ในฐานะประธานป่าชุมชน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกรมป่าไม้ หากสงสัยว่าชายวัยกลางคน ที่ไม่มีอาวุธ ปืน ผา หน้าไม้ จะสามารถปกป้อง และปลูกป่าบนพื้นที่ขนาดใหญ่แบบนั้นได้อย่างไร วิธีการนั้นแสนเรียบง่าย นั่นก็คือการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน ผู้ที่เป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ถึงประโยชน์ของป่าไม้ อธิบายให้ประชาชนเห็นว่าป่า และคนต้องอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน เมื่อจิตสำนึกได้งอกงามควบคู่กับต้นไม้ ก็จะเกิดความคิด หวงแหนและช่วยกันป้องกัน และผืนป่าจะสมบูรณ์ด้วยตัวของเค้าเอง ด้วยวัฏธรรมชาติ
“ ให้เขารู้ประโยชน์รู้โทษ ถ้าตัดป่า น้ำจะแห้ง ถ้าปลูกป่าเราจะมีน้ำ ท้ายที่สุดก็ไม่มีคนไปโค่นป่าไม่มีคนไปรบกวนป่า เพราะมันเป็นประโยชน์เขา ทั้งประโยชน์ส่วนตน ส่วนรวม เขารู้และเขาจะปกป้องป่าด้วยตัวเขาเอง เมื่อไม่มีคนขึ้นไปทำลาย ไม่ขึ้นไปเหยียบย่ำต้นกล้า สภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเติบโตของต้นไม้ ป่าเค้าสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ เป็นการ ปลูกแบบไม่ต้องปลูก ”
ท้ายที่สุดแล้ว การอนุรักษ์ผืนป่าไม่เพียงแต่เพาะกล้าลงผืนดิน เท่านั้น หากแต่การพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ต้องเพาะต้นกล้าบนหัวใจด้วย ให้เมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาที่พระองค์พระราชทานให้ไว้ ได้เติบโต และหยั่งรากลึกลงสู่จิตสำนึกของคน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตามรอยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงต้องการ ปลูกป่าในใจคน และเมื่อนั้น หัวใจของการพัฒนาตามศาสตร์พระราชา อันประกอบด้วย คน ดิน น้ำ และป่า ก็จะสมบูรณ์พร้อม
“ คนปลูกต้นไม้จะไม่โค่นต้นไม้ เพราะเขารักต้นไม้ ต้นไม้กว่าจะโตแต่ละวันมันสร้างความผูกพันเหมือนลูกเหมือนหลาน มันอยู่ด้วยกันทุกวัน เหมือนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต “คุณลุงสมศักดิ์ เครือวัลย์ ปราชญ์ดิน แห่งจังหวัดระยอง กล่าวทิ้งทาย