การก่อสร้างพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ในครั้งนี้ ทุกฝ่ายต่างลงแรงกำลัง แรงใจ และความสามารถทั้งหมดที่มี เพื่อสร้างพระเมรุมาศให้ยิ่งใหญ่ออกมาสมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย เฉกเช่น ‘ดร.พรธรรม ธรรมวิมล’ ภูมิสถาปนิกผู้ดูแลการวางผังพระเมรุมาศ ที่ทุ่มเทด้วยหัวใจทั้งหมดที่เขามี
เราเริ่มต้นเปิดเบื้องหลังของการสร้าง “ภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ ในหลวงรัชกาลที่ ๙” กับ “ดร.พรธรรม ธรรมวิมล” ภูมิสถาปนิก จากสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ผู้ร่วมดูแลการวางผังพระเมรุมาศในครั้งนี้ ด้วยความรู้สึกในวินาทีแรก เมื่อรู้ว่าได้รับหน้าที่เป็นผู้ร่วมวางผังภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ รัชกาลที่ ๙
“จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของความโศกเศร้าของคนทั้งประเทศ เมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ สวรรคต ผมก็ได้รับการติดต่อจากสำนักสถาปัตยกรรมให้มาร่วมทีมในการออกแบบพระเมรุมาศ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีความเศร้าโศก เพราะเป็นช่วงที่เพิ่งมีข่าวการสูญเสียของคนไทยทั้งชาติ แต่ด้วยหน้าที่ ผมรู้สึกว่ามันเป็นเกียรติยศของชั่วชีวิตการเป็นข้าราชการ และเป็นเกียรติยศของหน้าที่ภูมิสถาปนิกที่ได้ร่ำเรียนมา จึงนำความรู้ทั้งหมดที่มีมาถวายงานครั้งสุดท้ายให้ดีที่สุด ทำให้เต็มที่ที่สุดในชีวิต เพื่อน้อมส่งเสด็จพระองค์ท่านสู่สวรรคาลัยอย่างสมพระเกียรติ”
ไม่ใช่การร่วมออกแบบพระเมรุมาศครั้งแรก
การออกแบบพระเมรุมาศของ ดร.พรธรรม ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เขายังเคยเป็นผู้ร่วมออกแบบพระเมรุมาศเมื่อครั้งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนาราธิวาสราชยครินทร์ และเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี มาแล้ว หากแต่ครั้งนี้ การออกแบบยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้ง ต้องทำให้สมพระเกียรติที่สุด จึงกำหนดตำแหน่งของพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ให้เชื่อมโยงกับศาสนสถานที่สำคัญรอบเกาะรัตนโกสินทร์ อันเป็นจุดกำเนิดของกรุงเทพ โดยคิดเรื่องแกน ๒ แกนทอดตัวตัดกัน เกิดเป็นจุดตัดที่ตั้งของพระเมรุมาศ สื่อถึงความสัมพันธ์ของพระเมรุมาศกับสถานที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ และมีความหมายสำคัญยิ่งทางผังเมือง
การร่วมออกแบบและการวางผังมี ๒ ระดับ
การวางผังภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศในครั้งนี้มี ๒ ระดับ คือ ๑.การวางผังงานภูมิสถาปัตยกรรม (Side planning) เพื่อกำหนดตำแหน่งอาคารต่างๆ ในพื้นที่ประกอบราชพิธี และ ๒.การวางผังภูมิทัศน์ บริเวณรอบฐานพระเมรุมาศและด้านหน้าทางเข้ามณฑลพิธีด้านทิศเหนือ
๑. การวางผังงานภูมิสถาปัตยกรรม
“ผมมองว่าในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นเหมือนกับพระโพธิสัตว์ ทั้งที่ท่านเป็นถึงพระราชา แต่กลับยอมลำบากมาช่วยเหลือคนธรรมดาอย่างเรา เปรียบเสมือนพระโพธิสัตว์ ที่มาบำเพ็ญเพียรบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป”
จากแนวคิดเชื่อมโยงพระเมรุมาศเข้ากับศาสนสถานโบราณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อสร้างพลังและความหมายที่ยิ่งใหญ่ ดร.พรธรรมจึงคิดเรื่องจุดตัด ๒ แกนขึ้น โดยกำหนดที่ประดิษฐานของบุษบกองค์ประธาน ที่ตั้งของพระจิตตกาธาน สำหรับถวายพระเพลิง พระบรมศพฯ จากจุดตัดของเส้นทิศเหนือ – ใต้ ที่ลากจากยอดพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับเส้นทิศตะวันออก – ตะวันตก ที่ลากจากเขตพุทธาวาส วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ซึ่งสื่อถึงความสัมพันธ์ของพระเมรุมาศกับศาสนสถานโบราณโดยรอบ ส่งผลให้เมื่อเรามองพระเมรุมาศจากกึ่งกลางของทางเข้าทิศเหนือ (หันหน้าเข้าพระบรมราชวัง) จะมองเห็นยอดพระศรีรัตนเจดีย์ของวัดพระแก้วซ้อนอยู่ในบุษบกองค์ประธาน สร้างความประทับใจในความงดงามและความอลังการ สมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ อันเป็นที่รักยิ่ง
นอกจากนี้ ยังมีการวางผังอาคารประกอบที่สำคัญในพื้นที่ประกอบราชพิธี คือ พระที่นั่งทรงธรรม พลับพายก ศาลาลูกขุน และทิมทับเกษตร
๒. การวางผังภูมิทัศน์
ในการวางผังภูมิทัศน์ของพระเมรุมาศ รัชกาลที่ ๙ ดร.พรธรรม ได้แบ่งการทำงานออกเป็น ๒ ส่วน ประกอบไปด้วยบริเวณรอบฐานพระเมรุมาศ และด้านหน้าทางเข้ามณฑลพิธีด้านทิศเหนือ
การวางผังภูมิทัศน์รอบฐานพระเมรุมาศ ดร.พรธรรมวางให้สื่อถึงภาพของสรวงสวรรค์ ตามการตีความของแผนภูมิจักรวาล โดยเปรียบให้พระเมรุมาศเป็นเสมือนเขาพระสุเมร และบริเวณรอบๆ เป็นจักรวาลประกอบด้วยสัตตบริภัณฑ์คีรีมหาสุมทร ทวีปทั้ง ๔ ได้แก่
อุตตรกุรุทวีป ทางทิศเหนือ
ปุพพวิเทหทวีป ทางทิศตะวันออก
อปรโคยานทวีป ทางทิศตะวันตก
ชมพูทวีป ทางทิศใต้
นอกจากนี้ การตีความผังตามลักษณะของแผนภูมิจักรวาล ยังรวมไปถึงการออกแบบลวดลายงาน Hard Scape สื่อถึงลักษณะของภูมิจักรวาล ซึ่งแทนด้วยสัญลักษณ์ของการปูพื้น ด้วยสีที่ต่างจากสีของลานปกติ
“ผมวางคอนเซปต์ฐานพระเมรุ เป็นสวรรค์ รวมกับภาพจิตกรรมฝาผนังที่วัดสุทัศน์ จึงออกแบบพิเศษมากกว่าทุกครั้ง โดยดึงเรื่องน้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะพระองค์มีพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับน้ำ จึงนำ สระอโนดาต สระน้ำที่อยู่ในป่าหิมพานต์ ซึ่งไม่เคยมีครั้งไหนที่ทำเป็นบ่อน้ำ นับเป็นครั้งแรกตามประวัติศาสตร์”
ความพิเศษสุดของการออกแบบพระเมรุมาศ รัชกาลที่ ๙ ยังมีให้เห็นตรงฐานพระเมรุมาศ ที่มีการนำ ‘น้ำ’ อันสื่อถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ผ่าน ‘สระอโนดาต’ สระน้ำที่อยู่ในป่าหิมพานต์ ซึ่งตีความมาจากคัมภีร์โบราณและภาพจิตกรรมฝาผนัง รอบด้านจึงตกแต่งด้วยโขดหิน ไม้ดัด และสัตว์หิมพานต์ประจำทิศ โดยสัตว์ประจำทิศเหนือ คือ ช้าง สัตว์ประจำทิศตะวันตก คือ ม้า สัตว์ประจำทิศใต้ คือ โค และสัตว์ประจำทิศตะวันอก คือ สิงห์ พร้อมใช้เทคนิกการพ่นหมอกควันรอบสระ เปรียบเสมือนพระเมรุมาศลอยอยู่บนสรวงสวรรค์
“ตรงนี้จะเป็นอีกแนวความคิดหนึ่ง เป็นเรื่องราวของพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เป็นบ้านของพระองค์จริงๆ ผมเลยอยากนำเสนอตัวตนที่แท้จริงของพระองค์ คือ โครงการที่พระองค์ช่วยเหลือต่างๆ จึงนำเอาองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับพระองค์มานำเสนอ เช่น กังหันชัยพัฒนา ฝายน้ำล้น ขุดแก้มลิง ข้าวพันธุ์ต่างๆ ยางนา มะม่วงมหาชนก เป็นอีกภาพหนึ่งเหมือนกับช่วงที่พระองค์ยังมีพระชนมาชีพอยู่ ผมจึงนำสิ่งที่พ่อออกแบบมาจัดเรียงให้กลมกลืนกัน กับพระเมรุมาศข้างใน”
ด้านหน้าทางเข้ามณฑลพิธีด้านทิศเหนือ ทางเข้าหลักสำหรับขบวนเสด็จพระบรมศพจากวัดโพธิ์ ดร.พรธรรม วางแนวคิดบริเวณนี้ให้เป็นเรื่องราวพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เปรียบเสมือนบ้านของพระองค์ที่สื่อสะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพและมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่พ่อหลวงทรงมอบให้ไทยทั้งผอง โดยคัดเลือก ๕ โครงการพระราชดำริ คือ พันธุ์ข้าวพระราชทาน กังหันชัยพัฒนา ฝายน้ำล้น แก้มลิง และหญ้าแฝก รายล้อมด้วยพรรณไม้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพระราชดำริ มาจัดเรียงในองค์ประกอบที่สอดคล้องกับพระเมรุมาศด้านใน
บริเวณนี้โดดเด่นด้วยการออกแบบคันนาให้เป็นเลข ๙ ใช้เส้นสายที่ตรงไปตรงมาผสมกับสถาปัตยกรรมย่อมุมของไทย เพื่อสะท้อนถึงความพอเพียง และความเรียบง่าย ดั่งคำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ สอน
ด้วยเรื่องราวและความรู้สึกที่ ดร.พรรธรรม ธรรมวิมล ได้บอกเล่าผ่านน้ำเสียงหนักแน่น หากแต่มีบางช่วงที่สั่นเครือไปด้วยความคะนึงระลึกถึง ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความตั้งใจจริง ความทุ่มเทแรงกาย และแรงใจ เพื่อสรรสร้างการวางผังภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศในครั้งนี้ให้ดีที่สุด กลั่นออกมาจากความรู้และประสบการณ์ของการเป็นภูมิสถาปัตย์ที่มีมาทั้งชีวิต และเป็นธรรมดาที่อาการเหนื่อยล้า และปัญหาจะเข้ามาพานพบ หากแต่ ดร.พรรธรรม ธรรมวิมล ก็ฝ่าฟันช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้เพราะ…
“ผมเห็นพระองค์ท่านทำงานมาตลอด ซึ่งเป็นงานที่ทำเพื่อประชาชนทั้งสิ้น พระองค์ไม่เคยย่อท้อ ผมจึงนำหลักความไม่ย่อท้อ ความเพียร แบบที่พระองค์ท่านทรงมีและได้ตรัส ได้สอนกับคนไทยทุกคน มาแก้ปัญหาต่างๆ ให้ลุลวง และเป็นแรงผลักดันในการวางผังภูมิสถาปัตยกรรม “พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙” ให้ออกมางดงามสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ”
“เขาฝ่าฟันช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้เพราะ
‘รักพระองค์สุดหัวใจ’ ”
Story เรื่อง สิริลักษณ์ สุขสวัสดิ์
Photographer ชยพล ปาระชาติ, อรรถพงศ์ สมวงค์
Architect ดร.พรธรรม ธรรมวิมล