เมื่อพูดถึงซุ้มโค้งหลายท่านคงนึกถึงสถาปัตยกรรมของทางยุโรป ซึ่งเป็นที่มาของซุ้มโค้งตามอาคารบ้านเรือนในปัจจุบันนี้ เริ่มแรกสร้างขึ้นเพื่อขยายทางเข้าออกและรองรับน้ำหนักจากโครงสร้างด้านบน ต่อมาถูกนำไปประยุกต์ด้วยเทคนิคที่หลากหลายของชาวโรมัน ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติโครงสร้างอาคารและวิหาร ในปัจจุบันซุ้มได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ ตามสถานที่ต่างๆ รวมไปถึงนำมาใช้กับงานสวน โดยใช้ปูน อิฐ และโครงเหล็ก เป็นวัสดุหลักซึ่งซุ้มในสวนจะมีรูปแบบ รายละเอียดอย่างไรบ้างนั้น ติดตามได้จากเนื้อหาได้เลยค่ะ
จากท่อระบายน้ำ ซุ้มประตูทางเข้าในวิหาร หรือสุสานต่างๆ ชาวโรมันเป็นคนกลุ่มแรกในยุโรปที่นำซุ้มโค้งมาผสานเป็นต้นแบบในการก่อสร้าง เช่น สะพาน รางส่งน้ำ ประตู และนำมาปฎิวัติการออกแบบในรูปแบบใหม่ๆ เห็นได้จากในสถาปัตยกรรมหลากหลายที่ในยุคจักรวรรดิโรมัน จนกระทั่งชาวโรมันเห็นว่าซุ้มโค้งที่นำมาใช้นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบครึ่งวงกลมเพียงเท่านั้น จึงออกแบบให้มีรูปแบบแตกต่างมากขึ้น อย่างสะพาน Alconétar Bridge หรือ Ponte San Lorenzo และมหาวิหาร St. Peter’sBasilica แห่งในกรุงโรม นครรัฐวาติกัน นอกจากนี้ยังนำรูปแบบของซุ้มโค้งมาใช้ในอาคารที่อยู่อาศัยโดยดัดแปลงลวดลายและคิ้วบัวมาใช้ร่วมด้วยเพื่อให้ตัวอาคารมีความวิจิตรงดงามมากขึ้น
ในประเทศไทยไม่มีระบุแน่ชัดว่าเข้ามาในสมัยใด แต่ที่เห็นได้ชัดจะเป็นอาคารหรือสำนักงานที่สำคัญ อันได้แก่ พระที่นั่งอนันตสมาคม อาคารของกระทรวงกลาโหม เป็นต้น จากนั้นจึงถูกเผยแพร่ ประยุกต์ใช้ในรูปแบบต่างๆ โดยถอดรูปแบบมาเพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น การถอดเป็นซุ้มโค้งเดี่ยวๆ วางประดับพื้นที่กลางแจ้ง มีการดัดแปลงลวดลายของคิ้วบัว รูปลักษณ์ต่างๆ มาใช้ประดับบ้าน ซึ่งปัจจุบันอาจมีการถอดลวดลายของคิ้วบัวออกไปให้เหลือแค่ก่ออิฐที่เป็นซุ้มโค้งที่ดูเรียบง่าย มีการใช้วัสดุอื่นเข้ามาผสมนอกจากนี้ยังนำพรรณไม้มาปลูกประดับเพื่อเสริมความคลาสสิก อย่าง กุหลาบเลื้อยประดับ เพื่อให้บรรยากาศของสวนดูอ่อนโยนและนุ่มนวล เฉกเช่นเดียวกับสวนในฝั่งยุโรป
Story พิมพ์ชนก เกตุนวม
Photographer ฝ่ายภาพไลฟ์แอนด์โฮม
และ Wikipedia /eng