พื้นที่สวนสีเขียวในเมืองหลวงปัจจุบันมักเป็นสิ่งที่เรามองหาได้ยากมากกว่าตึกสูงระฟ้า เพราะคงไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่นักที่จะมีใครคิดเปลี่ยนสินทรัพย์ที่ดินอันล้ำค่าให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้ แต่จะดีแค่ไหนกันหากเราได้มีพื้นที่สีเขียวไว้ให้ได้เดินเล่นพักผ่อน ได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติสวยๆ และสูดอากาศบริสุทธิ์จนชุ่มปอด
‘ป่าในกรุง’ เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวบนที่ดินว่างเปล่ารกร้างจำนวน 12 ไร่ 1 งาน 2 ตารางวา ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่บนถนนสุขาภิบาล 2 เขตประเวศ เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้การปลูกป่าเชิงนิเวศแบบยั่งยืนตามวิถี ปตท. โดยการสร้างป่าธรรมชาติซึ่งเป็นป่าดั้งเดิมของกรุงเทพฯ ในอดีต ด้วยการรวบรวมพันธุ์ไม้ดั้งเดิมและพันธุ์ไม้หายากกว่า 250 ชนิด ใช้แนวทางในการสร้างป่านิเวศทฤษฏีการฟื้นฟูป่าธรรมชาติ ผสมผสานทั้งกลุ่มพันธุ์ไม้โตเร็วที่จะช่วยสร้างร่มเงาและพันธุ์ไม้โตช้าหลากหลายชนิด ในลักษณะการปลูกแบบเลียนแบบป่าธรรมชาติประกอบไปด้วยไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และไม้พื้นล่าง อาทิ กรวยป่า กระเจียว ขันทองพยาบาท พระเจ้าห้า-พระองค์ แคแสด จันทน์ชะมด ชุมแสง ชำมะเรียง เต็งรัง ตะเคียนทอง มะกอกน้ำมะเม่า สะตือ นุ่น สมพง ยางนา เหียง ฉนวน จัน-อิน สมอไทย ทองพันช่าง เป็นต้น
การออกแบบประยุกต์ใช้ทฤษฎีการปลูกป่านิเวศของศาสตราจารย์ ดร.อาคิระ มิยาวากิ ร่วมกับองค์ความรู้การปลูกป่าของ ปตท. ให้เป็นปอดแห่งใหม่ของคนกรุงเทพฯ ซึ่งนับว่าเป็นป่าผืนแรกที่ ปตท. ต่อยอดความสำเร็จจากโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ 1 ล้านไร่ทั่วประเทศ เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี ซึ่งมีจุดเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2537 โดยได้รับพระราชทานชื่อว่า ‘โครงการป่าในกรุง’ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โครงการป่าในกรุงจัดสรรสัดส่วนพื้นที่เป็น 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ปลูกป่า 9 ไร่ หรือเทียบเท่า 75% พื้นที่น้ำ 1 ไร่ 10% และพื้นที่อาคารเพื่อการเรียนรู้ 2 ไร่ 15% ซึ่งอาคารนิทรรศการและสำนักงานนั้นใช้สำหรับการเยี่ยมชม ศึกษาเรียนรู้ ออกแบบโดยให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็นหลัก คือ กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม และต้นแบบของนวัตกรรมอาคารเขียว โดยการเน้นให้ตัวอาคารกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ด้วยรูปทรงอาคารที่คล้ายกับลำต้นของต้นไม้ หลังคาจัดสวนแบบ Roof Garden เมื่อมองจากมุมสูงจะพบว่าอาคารมีสีเขียวกลมกลืนกับธรรมชาติเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่า ผนังอาคารของใช้วัสดุจากดินธรรมชาติ หรือดินบดอัดซึ่งเป็นฉนวนกันความร้อนช่วยลดความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวอาคาร และลดภาระของเครื่องปรับอากาศ นอกเหนือจากความใส่ใจในการออกแบบตัวอาคารแล้วกระบวนการก่อสร้างและการคัดเลือกวัสดุต่างๆ ทางโครงการก็ยังใส่ใจไม่ใช่น้อย การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน ซึ่งวัสดุที่นำมาใช้ต้องผลิตภายในประเทศ มีการแปรรูปน้อย เพื่อลดการใช้พลังงานในการผลิตขนส่ง และใช้เทคโนโลยีสีเขียวในการก่อสร้าง ทั้งนี้ทางโครงการยังได้เข้าร่วมการประเมินอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม LEED ของหน่วยงาน USGBC ด้วยคะแนนระดับที่สูงที่สุด
อีกด้วย
ทั้งนี้เพื่อให้ป่ากับคนเมืองใกล้ชิดกันมากขึ้น ทางโครงการยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติโดยออกแบบเป็น Skywalk ทอดยาวไปตามพื้นที่ของป่า มีความสูงตั้งแต่ระดับพื้นดินถึงระดับความสูง 10.2 เมตร ระยะทาง 200 เมตร ซึ่งเป็นทางเดินเชื่อมไปยังหอชมวิวให้ทุกคนได้เรียนรู้ต้นไม้ชนิดต่างๆ ระหว่างทางเดิน เพลิดเพลินไปกับการชมผืนป่าของโครงการตลอดเส้นทาง พร้อมเรียนรู้พื้นที่ป่าในเขตเมืองโดยรอบด้วยกล้องส่องทางไกล ที่นับเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติระบบนิเวศป่าไม้ที่ให้มุมมองความแตกต่างที่น่าตื่นตาตื่นใจ สำหรับผู้ที่สนใจเยี่ยมชมโครงการสามารถจองวันและเวลาผ่านเว็บไซต์สถาบันปลูกป่า ปตท. www.pttreforestation.com ซึ่งทางโครงการจะมีวิทยากรนำชมตลอด90 นาที มีบริการ 4 รอบต่อวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-วันอาทิตย์ (หยุดทุกวันจันทร์)
Story บุษราภรณ์ หวานชอบ
Photographer กรวิชญ์ ศิริวิวัฒน์
Place โครงการป่าในกรุง