“ตั้งแต่เล็กยังเคยได้ถามแม่ว่าบนข้างฝาบ้านเรานั่นติดรูปใคร ที่แม่คอยบูชาประจำก่อนนอนทุกคืน จะต้องไหว้แม่ตอบว่าให้กราบรูปนั้นทุกวันท่านเป็นเทวดาที่มีลมหายใจ” บทเพลงเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้นที่พระองค์ทรงเจริญพระชนพรรษา 80 พรรษา เป็นอีกหนึ่งบทเพลงที่ทรงอิทธิพลติดตรึงอยู่ในทุกหัวใจ ทำนองทุกถ้อยคำที่เปล่งออกมาแสดงให้เห็นถึงพระบารมีของพ่อหลวงมีให้ปวงชนชาวไทยมาตลอดระยะเวลา 70 ปี และพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรไทยอย่างล้นพ้นจนหาที่สุดไม่ได้
คนไทยผูกพันอย่างเหนียวแน่นกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่อดีตกาล ชัดเจนในความรู้สึกคือทั่วทั่งแผ่นดินต่างกล่าวขานพระนามพระมหากษัตริย์ว่า “พ่อ” และประชาชนที่เปรียบเสมือน “ลูก” ตั้งแต่เล็กเราต่างคุ้นเคยกับภาพพระบรมฉายาลักษณ์ (รูปถ่าย) และพระบรมสาทิสลักษณ์ (รูปวาด) พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บนข้างฝาบ้าน บนหิ้งบูชา หรือแม้แต่บนตู้กับข้าวเองก็ตาม แต่ละภาพไม่เพียงแค่ความงดงามเท่านั้น แต่ยังบอกเล่าเรื่องราวให้เราได้ย้อนระลึกถึงพระราชกรณียกิจที่ทรงทำเพื่อคนไทย ตลอดจนพระอัจฉริยภาพในทุกด้าน
Ideas for Home ฉบับนี้จึงได้หยิบไอเดียการแขวนประดับด้วยบรมฉายาลักษณ์ และพระบรมสาทิสลักษณ์ ในแต่ละบ้านที่เคยถ่ายทอดลงในนิตยสารไลฟ์แอนด์โฮม ที่ไม่เพียงแค่ความงดงามยามเมื่อสายตาจ้องสัมผัสเท่านั้น แต่การจัดองค์ประกอบให้ภาพที่อยู่บนฝาผนังสมบูรณ์นั้นมีหลายสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นการเว้นช่องว่างที่เหมาะสม โทนสีของภาพ กระทั้งการวางตำแหน่งที่ใกล้ไกลที่ระยะสายตามองเห็นก็ตาม ยังเสริมให้ฝาผนังบ้านของเราราวเป็นงานศิลปะที่จับต้องได้ ที่นอกจากจะช่วยเติมเต็มผนังอันโล่งกว้างแล้ว ทุกครั้งที่มองภาพพระองค์ ท่านจะเป็นมากกว่าภาพเขียน มากกว่าภาพถ่าย เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจให้เราสร้างแต่คุณงามความดีต่อไป
-ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์บนผนังอิฐก่อสีขาว ที่เลือกแขวนประดับไว้ที่มุมด้านหนึ่งบนผนังของห้อง ด้วยกรอบภาพที่มีขนาดต่างกัน อาจเน้นด้านหนึ่งติดภาพใหญ่ และอีกด้านเน้นติดภาพเล็ก ก็แล้วแต่ความเหมาะสมและระยะในการวางด้วย
-อีกหนึ่งตัวอย่างห้องรับแขก ที่ยึดเอาคอนโซลวางทีวีเป็นหลักในการติดภาพ เพราะรูปแบบการวางโซฟา และเก้าอี้รับแขกไม่ได้ชิดติดกับผนัง ฉะนั้นการติดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ลักษณะดังกล่าว ไม่ว่าเจ้าของบ้านหรือแขกผู้มาเยือนเองก็ตามก็สามารถมองเห็นภาพที่ติดอยู่ที่ผนังได้อย่างชัดเจน
-ผนังปูนเปลือยที่ให้ความรู้สึกเก่าด้วยการฉาบทาสีสร้างลวดลายในโทนเข้ม ฉะนั้นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่ถูกนำมาประดับที่ผนังก็ถูกเลือกเป็นให้ภาพขาวดำ เพื่อให้บรรยากาศโดยรวมคลุมโทนไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้การติดภาพก็ได้วางระยะห่างลดหลั่นลงมาจากพระพุทธรูปได้อย่างลงตัวและเหมาะสม
-การวางเฟอร์นิเจอร์และการประดับด้วยภาพพระบรมฉายาลักษณ์ต้องมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน หากเฟอร์นิเจอร์ และรูปภาพหันออกคนละทิศทางละทาง ก็จะทำให้ความสวยงามขาดหายไปทันที อย่างในภาพเป็นการวางระยะขององค์ประกอบของทั้งสองสิ่งได้อย่างลงตัวเลยทีเดียว
-ผนังบ้านสีขาว หากกลัวร่องรอยที่จะทิ้งไว้ตามมา ก็สามารถเลือกวางโชว์บนตู้เก็บของ หรือบนตู้โชว์สูงๆ โดยอาจใช้สายตากะระยะเมือมองแล้วโดยรวมดูสมดุล คือให้เท่ากันทั้งซ้ายและขวาอย่างในภาพ เป็นต้น
-อีกหนึ่งห้องรับแขก ที่ยึดเอาโซฟาเป็นหลักในการติดภาพ ทั้งนี้ผู้อ่านก็ไม่จำเป็นต้องติดภาพจนทั่วผนัง เพราะจะทำให้แย่งจุดเด่นจากเฟอร์นิเจอร์ที่วางอยู่จนทั่ว โดยอาจเลือกเพียงแค่ภาพเดียวไว้กึ่งกลาง ซึ่งการประดับภาพลักษณะนี้อาจใช้กับบ้านที่ตกแต่งอย่างสวยงามหรูหราอย่างในภาพ
-หากผนังบ้านมีสีสดใสอย่างสีเหลืองมัสตาร์ด การเลือกกรอบภาพพระบรมฉายาลักษณ์ต้องไม่ดูเรียบจืดจนเกินไป อาจจัดใส่กรอบที่ชูให้ภาพดูเด่นชัดขึ้นเมื่อโชว์อยู่บนผนัง อย่างในภาพที่มีการใส่กรอบหลุยส์สีทองอัน ที่ลงตัวไปกับบรรยากาศโดยรวมเป็นอย่างดี
-หากภาพพระบรมฉายาลักษณ์มีขนาดเล็ก ก็สามารถติดหลายภาพในลักษณะเป็นกลุ่ม ให้โทนสีใกล้เคียงกัน เพื่อให้จุดสนใจมุ่งตรงไปที่ผนัง ทั้งนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเน้นความเป็นระเบียบ เพราะจริงๆ แล้วการติดภาพดังกล่าวก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว แล้วแต่ความเหมาะสมและความชอบของผู้อ่าน
-หากบ้านฉาบด้วยผนังปูนเปลือย เพื่อไม่ให้เกิดร่องรอย อีกกรณีหนึ่งการเจาะอาจทำให้พื้นผิวมีรอยแตกร้าว เป็นต้น ฉะนั้นอาจหาจุดวางโชว์ตามความต้องการของผู้เป็นเจ้าของ เพียงแค่ขอให้ดูตามความเหมาะสม
-.การติดภาพบรมฉายาลักษณ์ สามารถโชว์ได้ทุกห้องทั้งนี้ก็ต้องดูความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก ห้องนอน หรืออย่างในภาพที่ประดับที่ห้องอาหาร ซึ่งแขวนไว้ในระยะที่สามารถยืนมองได้ในระดับความสูงที่วัดจากพื้นถึงกึ่งกลางภาพประมาณ 150 ซม.
-เติมเต็มผนังอิฐก่อสีขาวในห้องนอนในสไตล์มินิมอลแสนเรียบง่าย ด้วยกรอบภาพพระบรมฉายาลักษณ์ โดยเน้นให้จุดสนใจของห้องอยู่เฉพาะจุดเดียว ซึ่งเลือกแขวนภาพฝั่งใดฝั่งหนึ่งระหว่างฟูกนอนและให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม มีช่องว่างพอดี ขณะเดียวกัน โทนสีของภาพยังมีส่วนช่วยให้ห้องดูสะดุดตายิ่งขึ้นด้วย
-หากกลัวผนังสวยๆ จะเป็นรอยเมื่อตอกตะปูเข้าไปที่ผนัง ซึ่งบางครั้งก็อาจเกิดรอยร้าว ฉะนั้นการทำชั้นบิลต์อินเล็กๆ ขึ้นมา เพื่อตั้งโชว์กรอบภาพพระบรมฉายาลักษณ์ อีกหนึ่งวิธีง่ายๆ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย
-หากผนังบ้านถูกวางแทนที่ด้วยเฟอร์นิเจอร์หลากชิ้น ผู้อ่านสามารถวางประดับภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ด้วยการใส่กรอบตั้งวางโชว์ไว้ตามมุมของห้อง หรืออาจตั้งวางไว้บนตู้ก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ยังเป็นการขับให้เฟอร์นิเจอร์ดูสวยงามและมีเรื่องราวขึ้นด้วย
-การติดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในห้องรับแขก ให้ยึดเอาเฟอร์นิเจอร์ที่วางอยู่กึ่งกลางเป็นหลักในการแขวนภาพ ฉะนั้นอย่างในภาพได้วางโซฟาอยู่ตรงกลาง จึงไม่ควรติดรูปต่ำเกินไป ควรเว้นระยะให้สูงกว่าระดับศีรษะขึ้นไป โดยสามารถติดภาพเป็นกลุ่มในโทนสีที่ใกล้เคียงกัน วางภาพใหญ่อยู่กึ่งกลาง เว้นระยะทั้งสองด้านให้สมดุลติดภาพขนาดลดหลั่นกันไป
-เติมจุดสนใจให้ผนังปูนเปลือยที่โล่งว่าง ด้วยการติดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ขนาดใหญ่เพียงภาพเดียว ในโทนสีที่ลงตัวและกลมกลืนไปกับผนัง เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งจุดสนใจ ทั้งนี้ก็สามารถเลือกภาพที่เป็นทั้งแนวตั้งและแนวนอนตามลักษณะของห้องเพื่อให้ห้องดูสูงโปร่งหรือดูกว้างได้ตามต้องการ
Story : ศิวนาถ เสนาประทุม
Photographer : ฝ่ายภาพนิตยสารไลฟ์แอนด์โฮม