เมื่อสถาปัตยกรรมในรูปแบบบ้านเรือนไทย ที่สะท้อนภาพวิถีของคนไทยแต่เดิมอันมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย แม้ลูกหลานเริ่มมีครอบครัวแล้วก็ตามแต่ไม่ได้แยกเรือนออกไป แนวคิดนี้ถูกนำมาประยุกต์เป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เพื่อให้ผสานกับบริบทโดยรอบ เกิดเป็นบ้านทรงกล่องสไตล์โมเดิร์นสีขาว ที่รองรับการใช้ชีวิตในครอบครัวใหญ่ตามวิถีของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเจ้าของคือครอบครัวกอบกุลสุวรรณ เจ้าของกิจการบริษัท ไทยสากล กรุ๊ป ผู้นำเข้าสินค้าเครื่องจักรอุตสาหกรรม
ด้วยไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านที่มีความเนี๊ยบ และมีความทันสมัย รูปลักษณ์ของอาคารจึงดีไซน์มาในรูปแบบ Public Scale ขนาดโอเวอร์ไซส์ด้วยฝ้าที่สูงโปร่ง เพื่อเชื่อมโยงและสื่อถึงบริษัทที่ใหญ่โตนั่นเอง คุณเบนซ์ ปณิธาน กอบกุลสุวรรณ ลูกชายคนโตของบ้านเล่าให้เราฟังว่า “เริ่มต้นมาจากบ้านเดิมของครอบครัวอาศัยอยู่ที่ซอยรางน้ำลักษณะเป็นโฮมออฟฟิศ จากนั้นเราก็มีความต้องการที่จะขยับขยายบริษัทฯ และปรับเปลี่ยนที่อยู่อาศัยใหม่ ก็มาได้ที่ดินผืนนี้ โดยคอนเซ็ปต์เดิมที่ตั้งใจไว้คืออยากให้บ้านและที่ทำงานอยู่ใกล้กัน จึงได้สร้างออฟฟิศให้ตั้งอยู่ด้านหน้า และสร้างบ้านไว้ด้านหลัง ซึ่งบ้านเก่าที่เราเคยอาศัยอยู่มีรูปแบบเป็นอาคารพาณิชย์ ซึ่งไม่มีพื้นที่สีเขียวและส่วนที่เป็นแลนด์สเคปเลย เมื่อมาลงตัวกับที่ดินตรงนี้เราก็เลยต้องการให้บ้านมีรูปแบบที่ไม่เหมือนเดิม คืออยากให้มีความโปร่งและมีพื้นที่สีเขียวเยอะๆเพราะว่าคุณแม่เป็นคนที่ชอบต้นไม้ จากนั้นก็ได้มีการคุยกับทางสถาปนิกซึ่งก็ได้คุณศราวุธ จันทรแสงอร่าม Managing Director จากบริษัท เดอซีนสตูดิโอ ผู้สานต่อโจทย์ความต้องการให้”
สถาปนิกผู้ออกแบบเล่าถึงโจทย์ที่ได้รับมาจากเจ้าของบ้านให้เราฟังว่า “ด้วยที่ดินขนาด 2 ไร่ครึ่ง เจ้าของบ้านต้องการให้สมาชิกในครอบครัวเกิดปฏิสัมพันธ์ร่วมกันไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของบ้านก็ตาม ผนังอาคารจึงใช้วัสดุที่เป็นกระจกใสเขียวเพื่อให้เกิดความโปร่งโล่ง และยังช่วยลดความร้อนที่เข้าสู่ตัวอาคารได้อีกด้วย กอปรกับนำสเปซของบ้านไทยในอดีตมาปรับใช้ตามวิถีครอบครัวขยาย โครงสร้างอาคารจึงเป็นงานโมเดิร์นสเปซไทย รูปทรงและแปลนบ้านเป็นลักษณะกึ่งตัวยู (U) เปิดคอร์ดสระว่ายน้ำยาวขนานไปกับตัวบ้านตรงกลาง และมีแมสยื่นออกมาจากอาคารชั้นสองคลุมระเบียงสู่บริเวณสระว่ายน้ำ เกิดเป็นมิติของเส้นสายและยังช่วยบังแสงแดดได้ส่วนหนึ่งเมื่อเดินผ่านโถงทางเข้าด้านหน้าแล้วทอดสายตาออกมาเบื้องหน้าก็จะเกิดความเย็นสบายทางสายตา และยังเป็นการสร้างคุณภาพของที่ว่างรับกับกิจกรรมในบ้านอย่างการออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำของทุกคนในครอบครัวนั่นเอง”
โครงสร้างอาคารสีขาว ซึ่งสามารถช่วยสะท้อนความร้อนออกไปได้ส่วนหนึ่ง ภายในและภายนอกยังคำนึงถึงทิศทางแสงและทิศทางลม โดยออกแบบให้แสงสว่างสามารถเข้าถึงได้ในแต่ละจุดเพื่อลดการใช้ไฟฟ้า พร้อมดีไซน์หน้าต่างให้คอนเนคถึงกันและหันทางทิศที่ลมธรรมชาติเข้าถึง ทั้งนี้ยังได้ความสูงของโถงจากพื้นจรดฝ้าที่มากถึง 6 เมตร จึงช่วยดักลมร้อน มีการระบายอากาศภายในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี นอกจากจะช่วยลดความร้อนแล้วยังลดการใช้เครื่องปรับอากาศอีกด้วย
สำหรับฟังก์ชั่นงานนั้น ส่วนแรกที่เราเดินเข้ามาจะพบกับโถงต้อนรับขนาดใหญ่ด้วยสเปซที่สูงและโปร่งตกแต่งอย่างเรียบหรู เจ้าของตั้งใจให้เป็นส่วนรับแขกที่อาจไม่ใช่เพื่อนสนิทหรือเป็นญาติ บรรยากาศที่ให้ความรู้สึกคล้ายเรือนรับรองริมน้ำ สามารถมองทะลุทางเดินของอาคารด้านหลัง เห็นน้ำตกคล้ายสายน้ำไหลผ่านตัวบ้านมายังสระว่ายน้ำ เมื่อมองผิวเผินก็ดูมีลูกเล่นคล้ายตัวอาคารลอยอยู่เหนือน้ำ จึงก็เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสายตาได้เป็นอย่างดี
ต่อเนื่องจะผ่านประตูบานหมุนเข้าสู่พื้นที่ส่วนกลางที่ถูกออกแบบให้สอดคล้องสัมพันธ์กัน เริ่มจากส่วนแพนทรีที่เป็นทั้งพื้นที่เตรียมอาหาร และนั่งรับประทานอาหารของคนในครอบครัว ตกแต่งด้วยไม้เป็นหลัก นอกจากจะดูเท่ด้วยเส้นสายแล้ว ยังทำให้มุมนี้ดูน่าสนใจยิ่งขึ้นด้วย ถัดมาเป็นห้องนั่งเล่นสูงโปร่งด้วยเพดานดับเบิ้ลสเปซ สร้างพื้นผิวและลวดลายด้วยกระเบื้องแกรนิตโต้บนผนัง ต่อเนื่องไปยังด้านในจัดสรรให้เป็นดั่งส่วนสันทนาการภายในครอบครัวและเพื่อนฝูงคนสนิท บริเวณนี้ยังได้ร่มเงาของไม้ใหญ่ พร้อมเสียงน้ำตกเป็นอีกมุมนั่งเล่นแสนสบายที่สร้างความชุ่มชื้นให้คนในครอบครัวไม่น้อย
จะสังเกตได้ว่าแม้ว่าบ้านจะหรูหราใหญ่โต แต่กลับมีบันไดทางขึ้นเพียงจุดเดียวคือส่วนกลางของบ้าน ซึ่งคุณเบนซ์ได้บอกกับเราว่า “เนื่องจากบ้านเดิมเมื่อทุกคนกลับมาจากธุระในชีวิตประจำวันก็ต่างคนต่างขึ้นห้องของตัวเอง ทำให้มีเวลาคุยกันน้อย ฉะนั้นการดีไซน์บันไดให้มาอยู่ส่วนนี้ ซึ่งเป็นส่วนกลางที่ครอบครัวจะมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ยังไงก็ตามทุกคนก็ต้องผ่านบริเวณนี้คือเราป้องกันการที่ต่างคนต่างมาแล้วก็ขึ้นห้องของตัวเอง เป็นกุศโลบายที่อยากให้ทุกคนได้มีเวลาร่วมกันมากขึ้น” ขึ้นสู่ชั้นสองฟังก์ชั่นถูกแยกเป็นพื้นที่ของสมาชิกแต่ละคนตามความชอบที่แตกต่างกัน ซึ่งมีทั้งหมด 4 ห้องนอนขนาดใหญ่ ภายในที่มาพร้อมส่วนทำงาน ส่วนนั่งเล่น และ Walk-in Closet ทั้งนี้เจ้าของบ้านยังได้อินทีเรียร์ที่ออกแบบให้ W Hotel ที่เกาะสมุย มาช่วยดูแลและแนะนำด้วย
เนื่องจากบริเวณรอบข้างตัวอาคารด้านนอก เต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้าง ฉะนั้นเจ้าของบ้านจึงอยากให้มีสวนและคอร์ตสระว่ายน้ำกลางบ้านเพื่อให้สามารถเทควิวด้านในได้อย่างชัดเจน นอกจากจะใช้เพื่อการออกกำลังกายแล้วยังช่วยสะท้อนแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายในอาคาร ช่วยให้ตัวบ้านเย็นขึ้นด้วย โดยวางเทอเรสรอบสระสำหรับรองรับการจัดปาร์ตี้ได้เป็นอย่างดี ความพิเศษของสระว่ายน้ำที่ใช้หินภูเขาไฟเป็นวัสดุหลัก เมื่ออยู่ในน้ำจะเปลี่ยนจากสีเทาเป็นสีเขียวเทอร์คอยซ์ ยิ่งเสริมความโรแมนติกให้บ้านมากขึ้น ยิ่งในช่วงเวลาพลบค่ำที่เปิดไฟยังสร้างมิติความมีชีวิตชีวาให้ตัวบ้านดูโดดเด่นขึ้นไม่น้อย
ความอบอุ่นในครอบครัว ส่วนหนึ่งมาจากตัวแปรสัมพันธภาพของสมาชิกแม้บ้านจะดูหรูหราใหญ่โตแค่ไหน หากแต่สมาชิกภายในครอบครัวขาดปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน บ้านก็คงไร้ซึ่งชีวิตชีวา เช่นเดียวกับบ้านหลังนี้ ที่แม้จะอยู่มุมไหนของบ้านก็ตาม แต่งานดีไซน์ที่ทำให้สเปซลื่นไหลต่อเนื่องกลับเชื่อมโยงให้ทุกส่วนไม่แยกจากกัน หากเปรียบก็คงเป็นความสัมพันธ์อันเหนี่ยวแน่นของทุกคนในครอบครัว
Story ศิวนาถ เสนาประทุม
Photographer ชยพล ปาระชาติ, กรวิชญ์ ศิริวิวัฒน์
Assist. Photo. สกลวัฒน์ แซ่ลี้
Host ครอบครัวกอบกุลสุวรรณ
Architecture บริษัท เดอซีน สตูดิโอ โทร. 08-1401-0135