แม้ว่านวัตกรรมบนโลกนี้จะเดินหน้าไปไกล มนุษย์สามารถค้นพบจักรวาลอีกแห่งที่ห่างจากโลก 39 ปีแสง ซึ่งปัจจัยหลายอย่างบ่งชี้ให้เดาไปว่าจะดาวเคราะห์อีกดวง 3 ดวงที่ค้นพบนั้นจะสามารถเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ได้ แม้วันนี้เราสามารถเดินหน้าไปไกลถึงจักรวาลอีกแห่ง แต่นั้นก็เป็นเพียงบางส่วนที่ไม่ได้สะท้อนให้เราเห็นว่า มนุษย์ละเลยอารยะธรรมที่ถูกสร้างขึ้นจากอดีต ที่คิดเช่นนั้น เพราะได้พบเจอวัสดุก่อสร้างและตกแต่งบ้านชนิดหนึ่งที่เป็นของเก่ามานมนาน แต่หากถูกนำมาใช้ใหม่อย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นวัสดุที่เกิดจาก “ดิน” ไม่ว่าจะเป็นผนังอิฐก่อ (Brick wall) และ ผนังดินอัด (Rammed Earth) ซึ่งคอลัมน์ Ideas for Home ฉบับ “วัสดุ” ฉบับนี้ จะพาไปรู้จักต้นตำรับของวัสดุจาก “ดิน” ที่เปลี่ยนบ้านให้มีสไตล์ภายในพริบตา
ผนังดินอัด (Rammed Earth)
ไม่ใช่บ้านดินที่เคยเห็นทั่วไป แต่การใช้ผนังดินอัดหรือ Rammed Earth ฟื้นคืนชีพสู่วงการก่อสร้างอีกครั้งเมื่อ บริษัทสเปซไทม์ กา-ละ-เท-ศะ เลือกใช้เทคโนโลยี(โบราณ)สำหรับสร้างแลนด์มาร์คสำคัญในโครงการ ป่ากลางกรุง ภายใต้การดูแลของ ปตท. ผนังดินอัดนี้ไม่ได้ใช้แค่พื้นที่สาธารณะเท่านั้น แต่ยังถูกหยิบยกให้มาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านพักอาศัยที่ทาง สเปซไทม์ เป็นผู้ออกแบบ โดยใช้เพียงบางจุดในสัดส่วนที่พอเหมาะ เกิดเป็นรสนิยมที่แตกต่างซึ่งสะท้อนแนวคิดการเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี
ไปรู้จักกันให้มากยิ่งขึ้น Rammed Earth ไม่ใช่ศาสตร์ใหม่แต่อย่างใด หากแต่ถูกใช้มาตั้งราชวงศ์ฮั่น ของประเทศจีน ซึ่งปรากฏหลักฐานเป็นที่แรกๆ ในขณะที่มุมอื่นของโลกก็มีสถาปัตยกรรมที่บอกได้ว่ามีการใช้ Rammed Earth เป็นวัสดุก่อสร้างสำหรับพักอาศัย อาทิ The Castle of Paderne ที่ประเทศโปรตุเกส หรือจะเป็น The Church of the Holy Cross ที่เซาท์แคโรไลน่า สหรัฐอเมริกา ซึ่งว่ากันว่าผนังดินอัดนั้นกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลกเลยทีเดียวผนังดินอัดมีข้อดีที่ได้เปรียบผนังดินดิบหรือผนังดินปั้น คือลวดลายที่เกิดขึ้นจากขบวนการอัดดิน โดยจะเป็นชั้นดินที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน สีสันที่แตกต่างจะขึ้นตามโทนสีของดินธรรมชาติ Rammed Earth เกิดจากส่วนผสม 3 ส่วนด้วยกัน คือ ดิน ซีเมนต์ น้ำ โดยทั้งหมดจะถูกผสมจนได้เนื้อดินที่ข้นจากนั้นก็นำไปเทลงบล็อกที่สร้างไว้ก่อนใช้เครื่องอัดกระทุ้งให้เนื้อดินแน่นสนิท เกิดเป็นความงามที่แตกต่างในแต่ละจุด
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีงานวิจัยออกมารับรองอีกว่าการสร้างผนังดินอัดซึ่งเกิดจากการใช้ดินเป็นวัตถุดิบหลักสามารถควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารให้คงที่ เนื่องจากดินเป็นสารหน่วงความร้อนทำให้เกิดสภาวะอยู่สบาย ในขณะเดียวยังเป็นอีกหนึ่งงานดีไซน์ที่ยั่งยืนด้วยกรรมวิธีที่เรียบง่ายไม่มีขึ้นตอนยุ่งยาก ลดการใช้ทรัพยากรอื่นๆ โดยในต่างประเทศอย่างโซนยุโรปหรือเมริกายังเลือกใช้ดินที่เสื่อมสภาพ ไม่สามารถเพาะปลูกทำเกษตรได้มาเป็นวัตถุหลักในการสร้าง Rammed Earth อีกด้วย
ผนังอิฐก่อ (Brick wall)
ตามมาด้วยวัสดุสุดฮอตที่เกิดจากดินเช่นกัน นั่นคือ ผนังอิฐ นาทีนี้เรียกว่าไม่มีใครไม่ต้องการ ผนังอิฐก่อโชว์แนว สำหรับเป็นมุมตกแต่งบ้านอย่างแน่นอน ว่ากันไปว่าผนังอิฐก่อเป็นเสน่ห์ของสไตล์ลอฟต์และอินดัสเทรียลที่ขาดไม่ได้ พอๆ กับการเลือกใช้เหล็ก และปูนเปลือยในการตกแต่งสไตล์นี้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผนังอิฐก่อเพิ่มแจ้งเกิดบนโลก เพราะก้อนอิฐที่เราคุ้นเคยกันดีนั้น ถูกสร้างขึ้นมาอย่างยาวนานและมีในทุกอารยะสถาปัตย์ทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็น จีน อเมริกา ยุโรป และโซนอาเซียนที่เราคุ้นตากันดีกับสถูปเจดีย์สมัยอยุธยาที่ใช้อิฐเผาเป็นวัสดุก่อสร้าง
ในความเหมือนที่แตกต่างกันคือรูปทรงและโทนสี ตามแต่ชนิดของดินในท้องถิ่นนั้นๆ รวมถึงอุณหภูมิความร้อนที่ใช้เผาด้วย เปรียบให้เห็นได้ชัดอย่างผนังอิฐของอังกฤษที่จะออกโทนสีน้ำตาลไหม้ซึ่งเกิดจาก Brown Stone ในขณะที่อเมริกาจะได้โทนสีน้ำตาลแดงอันมาจาก Red Stone ส่วนอิฐที่โพรวองซ์ฝรั่งเศสก็จะมีสีน้ำตาลอมชมพูค่อนไปถึงสีส้มเซียน่าที่เราคุ้นตากับบ้านทัสคานี ในขณะที่เมืองไทยก็จะได้โทนสีส้มแดงซึ่งเกิดจากสีของดินเหนียวผสมทราย เราเรียกกันติดปากว่า อิฐมอญ
อย่างที่บอกว่าโทนสีที่แตกต่างเกิดจากชนิดของดิน หากเลือกแต่งบ้านแบบอเมริกันวินเทจก็ควรที่จะเปลี่ยนสีของอิฐก่อให้กลืนไปกับดีไซน์ด้วย แต่หากอยากได้สไตล์ British Industrial ก็ควรคลุมโทนสีน้ำตาลเข้มไว้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความชอบของเจ้าของบ้านด้วยว่าต้องการสื่อถึงอารมณ์ ซึ่งข้อจำกัดของอิฐเผาก็มีอยู่บ้างคือเป็นวัสดุที่ดูดซับความร้อน ทำให้อุณหภูมิรอบด้านคงที่ จึงเหมาะที่จะใช้เฉพาะจุดเท่านั้น
Story ยุภาวดี บุญภา
Photographer ฝ่ายภาพไลฟ์แอนด์โฮม