Back to home
GARDEN, HOME, Living Garden

Eco farm HOUSE บ้านสวนเพียงพอในสวนพอเพียง

 

ลองหลับตาแล้วนึกถึงภาพบ้านในฝันของตนเองดูสิคะ ว่าหน้าตาของมันจะเป็นอย่างไร จะเป็นบ้านที่มีแต่สิ่งของต่างๆ ที่เราชอบ หรือเป็นสถานที่ที่สามารถส่งต่อความสุขให้กับผู้อื่นได้ Home garden ฉบับนี้ผู้เขียนพาท่านผู้อ่านมาเยี่ยมชมบ้านของคุณโก้ พชรพล ทรงศรี นักจัดสวนหนุ่มรุ่นใหญ่อารมณ์ดี ที่ออกแบบบ้านโดยใส่ตัวตนและความฝันของเขาเข้าไป และยังยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็นบ้านที่แสนเรียบง่าย และแฝงไปด้วยการแบ่งปันที่ไม่สิ้นสุด

คุณโก้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า “ซื้อที่ดินแปลงนี้มาตั้งแต่ปี 2554 เราซื้อที่นี้เพราะอยากขยับขยายที่อยู่ใหม่ อีกทั้งเราอยากได้สิ่งแวดล้อมที่ดี เราเจอที่ดินนี้จากการประกาศขาย และบังเอิญว่าที่นี้วิถีชีวิตของผู้คนไม่วุ่นวายมากนัก ยังคงสัญจรกันทางเรือ ผมพูดเล่นๆ กับภรรยาว่าถ้ามีต้นจามจุรีต้นใหญ่เราซื้อเลยนะ (หัวเราะ) ซึ่งที่นี้ก็ตอบสนองความต้องการของผมทั้งหมดเลย อยู่ริมน้ำด้วย เราเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ปลูกผัก เพื่อให้คนในครอบครัวและพนักงาน ถ้าเหลือเราก็แจกเพื่อนบ้านบ้าง หลายคนถามทำไมเป็นนักจัดสวนแล้วไม่จัดสวนที่บ้าน ผมว่านี้ก็จัดนะครับ จัดแบบสวนเกษตรในสไตล์ของผม”

รอบรั้วบ้านหลังนี้มีเนื้อที่กว่า 3 ไร่ ตั้งอยู่ที่อำเภอ สามโคก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งคุณโก้เป็นผู้ออกแบบเอง โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาผสมผสาน พร้อมแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ส่วนที่หนึ่งขุดสระกักเก็บน้ำ 30% ของพื้นที่ตั้งอยู่กลางบ้าน ส่วนที่สองปลูกข้าว 30% ส่วนที่สามปลูกผักสวนครัว พืชสวนพืชไร่ อย่างผักคะน้า ผักบุ้ง ข้าวโพด อีก 30 % และส่วนสุดท้าย จัดสรรให้เป็นทั้งที่อยู่อาศัย โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ อีกจำนวน 10%

เริ่มจากตัวบ้านที่คุณโก้ออกแบบผสมผสานจากวัสดุเก่าและใหม่ ผนังภายนอกกรุด้วยเมทัลชีทไม้เก่าและปูนขัดมันที่กรุรอบๆ ตัวอาคาร ด้านหน้าจัดวางโต๊ะยาวขนาดพอเหมาะ สำหรับนั่งรับชมบรรยากาศเย็นสบายจากร่มเงาของต้นจามจุรี ขณะที่อีกด้านคุณโก้ได้สร้างบ่อปลาคาร์บขนาดพอเหมาะ เสริมความชุ่มชื้นให้กับบ้าน ภายในบ้านแบ่งพื้นที่เป็นสามส่วน คือในส่วนของเคาน์เตอร์บาร์ที่อยู่ฝั่งซ้ายที่คุณโก้ตั้งใจให้เป็นร้านกาแฟในอนาคต และในส่วนฝั่งขวาจัดสรรเป็นมุมนั่งเล่นที่ดูโปร่งโล่งด้วยเพดานที่ยกสูงและสว่างด้วยแสงธรรมชาติที่ลอดผ่านบานหน้าตาเข้ามา เมื่อเปิดประตูไปยังด้านหลังจะพบกับมุมห้องครัวที่สร้างไว้เพื่อรองรับการเปิดร้านกาแฟเช่นเดียวกัน

เมื่อเดินขึ้นไปชั้นสองของบ้าน เป็นส่วนของห้องนอนที่คุณโก้ออกแบบใช้เฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น ไม่ว่าจะเป็น วัสดุเหลือใช้อย่างท่อพีวีซีที่ทำเป็นราวผ้าม่าน เสริมด้วยผ้าม่านจากอิเกียที่เรียบง่าย เป็นต้น เมื่อมองออกไปภายนอกจะพบกับระเบียงบ้านขนาดใหญ่ที่สามารถทอดสายตามองบริเวณของบ้านได้โดยรอบ อีกทั้งยังเป็นมุมโปรดของเจ้าของบ้านอีกด้วย

ด้านหลังบ้านแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นนาข้าว แปลงผักที่ปลูกผักชนิดต่างๆ อย่างกวางตุ้ง ผักบุ้ง และแปลงข้าวโพด รวมไปถึงผักกางมุ้ง ซึ่งปลูกหมุนเวียนตลอดทั้ง 45 วัน โดยแปลงผักทั้งหมดจะไม่ใช้ยาฆ่าแมลง สังเกตได้จากร่องรอยของเจ้าแมลงตัวร้ายที่ได้ฝากไว้ แต่จะใช้ปุ๋ยจากมูลสัตว์ที่หมักเองผสมกับใบไม้แห้ง ส่วนน้ำก็สูบขึ้นมาจากบ่อที่ขุดไว้กลางสวน ได้ประโยชน์หลายอย่างทั้งเลี้ยงปลา รดน้ำต้นไม้และไว้ให้เป็ดได้แหวกว่ายออกกำลัง สัตว์เลี้ยงของที่นี่มีทั้งเป็ด ไก่ ห่าน และแพะพันธุ์ไทยที่มีชื่อน่ารักน่าเอ็นดู คือโฟร์โมสต์ เมจิและไมโล ถ้าหากใครได้มาเยือนจะต้องมาเล่นกับเจ้าแพะสามตัวนี้อย่างแน่นอน

กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของบ้านหลังนี้ที่คุณโก้เลือกใช้วัสดุที่หาง่ายและใกล้ตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนอาจมองข้ามหรือทิ้งขวางแต่เขากลับเลือกที่จะนำมาตกแต่งให้กับบ้านของตน ซึ่งในอนาคตพื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นสถานที่เกษตรแห่งใหม่และยังมี café and farm ที่ให้บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาเรียนรู้และนำความรู้จากที่นี้ไปประยุกต์ใช้ต่อไป

ก่อนจากกันคุณโก้ ยังกล่าวอีกว่า “ผมอยากให้ที่นี้เป็นเหมือนสถานที่ที่ทุกคนมีกิจกรรมร่วมกันกับครอบครัว ในวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ มาใช้ชีวิตแบบไม่เร่งรีบ เป็นสิ่งที่ทุกๆ คนทำได้ไม่ยากเลย มาลองเยี่ยมชมกันดูครับเผื่อว่าจะนำไปเป็นไอเดียให้กับคนอื่นๆ ได้ ” นักจัดสวนหนุ่มกล่าวด้วยน้ำเสียงที่สดใส

สุดท้ายแล้วความสุขที่เราใฝ่หากันนั้น ผู้เขียนคิดว่าอาจไม่ใช่เพียงแค่การที่เราได้สร้างสิ่งตอบสนองความต้องการของเราฝ่ายเดียวเพียงเท่านั้น แต่อาจเป็นการสร้างพื้นที่ที่เราสามารถแบ่งปันให้กับคนรอบข้างได้มีความสุขได้เช่นเดียวกับเรา เหมือนกับบ้านหลังนี้ ที่ผู้เขียนหวังว่าท่านผู้อ่านคงจะได้รับสิ่งดีๆ จากการเปิดบ้านของคุณโก้ในครั้งนี้ไปไม่น้อยเช่นกันค่ะ

 

Story พิมพ์ชนก เกตุนวม
Photographer ชยพล ปาระชาติ
Host & gardener พชรพล ทรงศรี บ้าน 1000 ไม้ โทร. 09-1998-2466

Facebook Comments
By Oom, 30/06/2017
Leave a Reply
Change language:
Instagram API currently not available.
Instagram API currently not available.