Back to home
OTHERS, Somewhere

A NEW NAVIGATOR TCDC

 

ไม่ว่าใครก็เป็นนักออกแบบได้ เพราะการออกแบบที่ดีคือการแก้ปัญหา แนวคิดนี้เป็นแคมเปญแรกเมื่อครั้งก่อตั้ง TCDC เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ด้วยจุดประสงค์เพื่อสร้างให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในทุกๆ แขนง ตั้งอยู่ ณ ห้างสรรพสินค้าเอ็มโพเรี่ยม แต่ถึงวาระที่ต้องเปลี่ยน อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก หนึ่งในอาคารประวัติศาสตร์ของไทย จึงถูกตั้งให้เป็นเป้าหมายหลักในการโยกย้าย ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งจังหวะเวลาซึ่งอยู่ในแผนงานตั้งแต่ก่อตั้ง ความเหมาะสมในแง่ดีไซน์ ร่วมถึงจุดมุ่งหมายของหน่วยงานที่ต้องการฟื้นคืนชีพให้ย่านเจริญกรุง อันมีบริบทรอบด้านเป็นแหล่งเมืองเก่าและเคยเจริญรุ่งเรืองในอดีตช่วงหนึ่ง ก่อนจะเงียบลงตามสภาวะของสังคม

อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก เคยเป็นที่ทำการไปรษณีย์ของกงสุลอังกฤษ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นที่ทำการไปรษณีย์กลางออกแบบโดยสถาปนิกชาวไทยคือนายหมิว อภัยวงศ์ และพระยาสาโรช รัตน์นิมมานก์ เป็นอาคารที่สร้างขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งปีนี้มีอายุครบ 77 ปีพอดี ตัวอาคารที่มีดีไซน์โดดเด่นมากในยุคนั้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นตามแนวคิดในยุค Classicalism ซึ่งเก่าก่อนนั้นจะนิยมความโอ่อ่าแบบสไตล์คลาสสิกเป็นส่วนใหญ่ แต่ดีไซน์ของอาคารหลังนี้ถูกตัดทอนเป็นรูปทรงที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา แต่ซ่อนพลังไว้ในสถาปัตยกรรมตัวอาคารมีทั้งหมด 4 ชั้นและชั้นใต้ดิน 1 ชั้นโครงสร้างทำจากคอนกรีตเสริมเหล็กหลังคาแบน ตึกทรงตัว T มีมุขด้านหน้าอยู่ตรงกลางเป็นจุดเซ็นเตอร์ที่ใหญ่สุด รับกับงานปูนปั้นรูปครุฑบนยอดตึกซึ่งปั้นโดย อ.ศิลป์ พีระศรี ตกแต่งตัวมุมบนอาคารทั้งสองด้านและ TCDC อยู่ในพื้นที่ปีกขวาของอาคารอาคารนี้นับว่าเป็นผลงานมาสเตอร์พีชของนายหมิวเลยทีเดียว

คุณนพดล วีรกิตติ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์ TCDC เล่าว่า ช่วงเวลาที่ TCDC มองหาที่ตั้งแห่งใหม่นั้น เป็นจังหวะที่อาคารแห่งนี้กำลังรีโนเวตพอดี บวกกับทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ในย่านเจริญกรุง ซึ่งเคยรุ่งเรืองมาก่อน และเป็นย่านที่มีประวัติศาสตร์ในทุกๆ ด้าน จึงเป็นจุดมุ่งหมายอันดีหาก TCDC จะเข้ามาเพื่อสร้างการตื่นตัวและเปลี่ยนเมืองเก่าให้กลับมามีสีสันด้วยความคิดครีเอทีพ โดยดึงคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาสัมผัสย่านนี้ มาสัมผัสวิถีชีวิต อาหาร วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ที่อยู่คู่กรุงเทพฯ มานาน ในขณะที่คนรุ่นเก่าที่ยังดำรงชีวิตตามวิถีเดิมอันเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของเจริญกรุง

“ขณะที่ไปรษณีย์กำลังรีโนเวตอาคาร เราก็ตกลงกันว่าให้ปล่อยพื้นที่ภายในไว้ดังเดิมก่อนทีมสถาปนิกจาก Department of Architecture ซึ่งชนะการประกวดแบบจะเข้ารีโนเวตพื้นที่ข้างในใหม่ แต่ก่อนจะสรุปสไตล์รูปแบบภายในนั้น เราได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมซึ่งเขาแนะนำว่ามีอยู่ 2 เลือก คือ เลือกสไตล์ที่เหมือนกับอาคาร ให้มีความกลมกลืนกันสถาปัตยกรรมด้านนอก อีกทางเลือกคือออกแบบให้แตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิงเพื่อให้คนได้เห็นถึงสิ่งเก่า สิ่งใหม่ ซึ่งเราเลือกอย่างหลัง”

เป็นโจทย์ที่ยากสำหรับการเปลี่ยนพื้นที่ภายในให้ตอบฟังก์ชั่นที่ครบถ้วนบนพื้นที่ใช้สอยเกือบ 9000 ตารางเมตร ใหญ่กว่าที่เดิมถึงหนึ่งเท่าตัว แต่เลย์เอ้าท์ของแต่ละชั้นไม่ได้มีความต่อเนื่องกัน หากออกแบบไม่ดีจะทำให้ความโฟลว์ของอาคารหายไปทันที สถาปนิกแก้ปัญหาโดยออกแบบให้พื้นที่ Public Space อย่างโซน Creative Space ให้สูงโปร่งด้วยเพดาน High Ceiling ใช้เส้นตรงนำสายให้มีลูกเล่นพร้อมฟังก์ชั่นเป็นแสงไฟให้แสงสว่าง โอบล้อมด้านข้างด้วยเชลฟ์หนังสือหลายหมื่นเล่ม เรียกว่ามุมนี้เป็นจุดไฮไลท์ที่ทุกคนต้องจำได้ว่านี่คือ TCDC แห่งใหม่

การเปลี่ยนแปลงไม่ได้มีแค่ด้านงานดีไซน์อาคารเท่านั้น แต่ยังมีโจทย์ใหม่ที่ขยายขอบเขตของ TCDC ให้เป็นมากกว่าแหล่งเรียนรู้ ซึ่งได้ต่อยอดขบวนการคิดให้เป็น คิด ผลิต ขาย สัดส่วนของพื้นที่จึงแตกต่างไปจากที่เดิม โดยมีพื้นที่สำหรับการผลิต TCDC ได้จับมือกับ Feb Café สร้างสตูดิโอแนะนำการผลิตสินค้าประเภทต่างๆ ให้สมาชิกได้เข้ามาเรียนรู้ขบวนการทำ หรือจะเป็นโซนแมททีเรียลที่มีวัสดุใหม่ๆ เข้ามาหมุนเวียนเปลี่ยนให้ได้สัมผัสกันจริงๆ หลังจากขบวนการผลิตต่อยอดไปยังขบวนการขายในโซน Business Consulting ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบขึ้นให้สามารถสร้างเป็นธุรกิจได้

หัวใจหลักของ TCDC ยังคงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งการเปลี่ยนอาคารเก่าครั้งนี้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า สิ่งใหม่และของเก่านั้นสามารถเชื่อมกันได้ด้วยคำว่าดีไซน์ ซึ่งดีไซน์ที่ดีคงหนีไม่พ้นการแก้ปัญหานั่นเอง

Facebook Comments
By Oom, 02/06/2017
Leave a Reply
Change language:
Instagram API currently not available.
Instagram API currently not available.