ภายใต้สถาปัตยกรรมที่ขึ้นชื่อว่าเปลี่ยนแปลงแนวคิดครั้งสำคัญของโลก ด้วยการลดทอนรายละเอียดต่างๆ ให้เหลือเท่าที่จำเป็น จนเกิดเป็น “ความเรียบง่าย” อันเป็นโจทย์หลักในการออกแบบหน้าตาของบ้าน แต่แท้จริงแล้วอาคารสีขาวสไตล์โมเดิร์นกลับหยิบยก “บ้านสไตล์ล้านนา” มาเป็นแนวคิดในการออกแบบเพื่อตอบรับกับวิถีชีวิตเจ้าของบ้าน คือพญ. กิตติธร กิติธรากุล หรือ คุณหมอปลา ที่ต้องการให้บ้านหลังนี้เป็นศูนย์รวมสำหรับสมาชิกทุกคน
“บ้านหลังเดิมค่อนข้างคับแคบและทรุดโทรมไปตามกาลเวลาค่ะ ตัวเราเองก็มีที่ดินข้างๆ ที่ซื้อไว้นานแล้ว จึงตัดสินใจรื้อแล้วสร้างใหม่พร้อมกับขยายพื้นที่ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่และน้องชายอยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบาย โดยหมอจะกลับมาบ้านอาทิตย์ครั้ง เพราะปกติแล้วทำงานอยู่ที่ลำปาง เมื่อกลับมาบ้านที่เชียงใหม่ก็อยากได้บ้านอยู่สบาย เรียบง่ายและมีพื้นที่ให้ทุกคนมามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน”
จากความต้องการนั้นทีมสถาปนิกจาก Inly Studio ได้นำมาประยุกต์เข้ากับองค์ประกอบบ้านล้านนา โดยการดึงเติ๋น (เรือนไทย เรียกว่าชานบ้าน) มาเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้ทุกคนใช้ร่วมกัน ปลูกต้นปีบอาศัยกิ่งก้านสร้างร่มรื่น รวมทั้งมีบ่อน้ำตกเลี้ยงปลาคาร์บ ยกระดับความสดชื่น โดยมีอาคารทรงยู (U) ล้อมรอบไว้อีกทีหนึ่ง จึงทำให้ทุกมุมสามารถเชื่อมโยงและมองเห็นเติ๋นได้อย่างชัดเจน ผ่านช่องเปิดกว้างๆ แบบบ้านไทย ซึ่งใช้บานเฟี้ยมกรุกระจกใสมาทำหน้าที่แบ่งกั้น ทั้งยังทำให้บรรยากาศภายในบ้านดูโปร่งโล่งอีกด้วย
หนึ่งในทีมสถาปนิกเสริมว่า “เติ๋นที่เราออกแบบจะทำหน้าที่เป็นข่วงบ้านของเรือนล้านนา คือลานดินอเนกประสงค์ที่ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ ตากพืชผักทางการเกษตร โดยเรานำมาบอกเล่าในรูปแบบของชานบ้าน ให้มุมนี้สามารถนั่งเล่น อ่านหนังสือ รวมทั้งต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยือนได้ด้วย เพราะเชื่อมต่อกับทางเข้าหลัก ซึ่งเราดีไซน์เป็นประตูไม้ระแนง แบบไทยๆ เมื่อมองออกไปก็จะรู้ว่าใครไปใครมา ทั้งยังทำให้ชานไม่ดูทึบอึดอัดด้วย ในขณะเดียวกันก็ยกเสต็ปตัวบ้านให้สูงขึ้นจากชานอย่างพอเหมาะ ให้นั่งห้อยขาได้ ซึ่งก็อิงมาจากเรือนไทยที่มีช่องแมวลอด ช่องว่างระหว่างพื้นบ้านกับชานไว้ช่วยรีดลมข้างล่างขึ้นมาด้านบน จึงทำให้บริเวณนี้เย็นสบายนั่งได้ทั้งวัน”
สำหรับฟังก์ชั่นภายในบ้านยังคงเน้นไปที่พื้นที่ส่วนกลางให้ทุกคนมาใช้งานร่วมกัน มีครัวสไตล์โมเดิร์นสีดำเชื่อมต่อกับมุมรับประทานอาหาร ซึ่งได้แนวคิดมาจากครัวไฟของเรือนไทยสไตล์ล้านนา ที่อยู่รวมเป็นส่วนหนึ่งกับในบ้าน โดยมีห้องเอนเตอร์เทนแยกไว้เป็นสัดส่วนอีกห้องหนึ่ง ให้สมาชิกปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามสะดวก ก่อนจะใช้สเต็ปขั้นมาแบ่งแยกโซนพักผ่อนออกจากพื้นที่ส่วนรวม แทนการใช้ประตูเพื่อให้บ้านแลดูโปร่งตา มองเห็นทั่วถึงกัน
ไม่ใช่เพียงการจัดพื้นที่เท่านั้นค่ะ ที่ทำให้บ้านคุณหมอปลามีบรรยากาศปลอดโปร่งน่าอยู่ แต่ยังรวมถึงการใช้ “สีขาว” เป็นหลักในการตกแต่ง ซึ่งสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งความเรียบง่ายและความโปร่งโล่งที่เจ้าตัวต้องการได้ดี โดยสถาปนิกสอดแทรกวัสดุอย่าง “ไม้แท้” เข้ามาทำให้บ้านอบอุ่นขึ้น เน้นเป็นไม้เก่าเพื่อไม่ให้บิดงอง่าย อาทิ ไม้แดง ไม้เต็ง และไม้สัก ซึ่งล้วนแต่ไม้พื้นถิ่นหาได้ง่าย การตกแต่งภายในบ้านจึงมีกลิ่นอายคอนเทมโพรารี่เข้ามาผสมผสานด้วย
ความแตกต่างของรูปฟอร์มในงานสถาปัตยกรรมอาจเป็นสิ่งกำหนดหน้าตาของบ้านแต่สิ่งที่เชื่อมโยงบ้านไว้กับผู้เป็นเจ้าของ คือแนวคิดที่ทำให้พวกเขาอยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งบางครั้งก็ใกล้ตัวและเป็นองค์ประกอบที่เราคุ้นเคยกันดี อย่างภูมิปัญญาบ้านเรือนไทยที่ไม่เคยคร่ำครึและสามารถอยู่กับงานดีไซน์สมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน
Story สุคนธา ฉ่ำมิ่งขวัญ l
Photographer ชยพล ปาระชาติ
Host พญ. กิตติธร กิติธรากุล l Architect & Interior Designer INLY STUDIO โทร. 0-84046-3025