เทคโนโลยีที่เดินหน้าไปอย่างเร็วไว ในระเวลาเพียงไม่ถึง 20 ปี ที่โลกเริ่มรู้จักคอมพิวเตอร์ ก็สามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์ให้ต่างไปจากเดิม หลักใหญ่ก็เห็นจะเป็นด้านการติดต่อสื่อสาร การเดินทาง การเรียนรู้ โลกทัศน์ และที่อยู่อาศัย ซึ่งประเด็นสุดท้ายเห็นทีว่าจะเกี่ยวข้องกับเราโดยตรง เมื่อวันนี้ บ้าน ได้เปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิมเล่าย้อนไปสัก 30 ปีที่แล้ว ระบบการสร้างบ้านที่คุ้นเคยกันดีคือระบบก่อในที่ โดยฝีมือแรงงานมนุษย์ที่ลงมือก่อสร้างที่ละส่วนตามแบบพิมพ์เขียว ค่อยๆ บรรจงในทีละขั้นตอน ตั้งแต่เทคาน ก่ออิฐ ฉาบปูน เฉพาะงานโครงสร้างนั้นกินเวลาหลายเดือน และด้วยระยะเวลาในก่อสร้างที่ยาวนานนี้ทำให้เกิดนวัตกรรมก่อสร้างที่อยู่อาศัยหลายรูปแบบเพื่อร่นระยะเวลา ลดปัจจัยเสี่ยงจากการขนส่ง และลดบัดเจทไม่ให้บานปลาย รวมทั้งหมดก็เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายในการสร้างที่อยู่อาศัยนั่นเอง คอลัมน์ Ideas for Home ฉบับนี้จะพาไปรู้จักระบบของบ้านสมัยใหม่ที่จะช่วยให้เข้าใจและตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่า งานก่อสร้างแบบไหนที่เหมาะกับการใช้งานของคุณ
เป็นที่คุ้นหูคนไทยมานานสำหรับระบบก่อสร้างแบบ Knock down หรือบ้านสำเร็จรูป โดยส่วนใหญ่มักจะติดภาพ บ้านไม้ชั้นเดียว ขนาดเล็ก กะทัดรัด สร้างอยู่ทำเลที่เข้าถึงยาก และส่วนใหญ่มักจะสร้างเป็นรีสอร์ตซึ่งเป็นที่พักอาศัยชั่วคราว แต่ในปัจจุบัน รูปทรงของบ้านน็อคดาวน์ได้ต่างไปจากเดิมซึ่งผ่านการพัฒนารูปแบบให้ทันสมัย แข็งแรงคงทน และปรับเปลี่ยนวัสดุเป็นวัสดุสมัยใหม่ที่สามารถยืดอายุการใช้งานได้นานขึ้น โดยใช้ผนังรับแรงทำให้ไม่จำเป็นต้องมีเสาคานรับน้ำหนัก ง่ายต่อการขนย้าย บ้านน๊อคดาวน์จะเป็นบ้านที่ออกแบบทุกส่วนไว้เสร็จสรรพ ไม่สามารถปรับแบบเพิ่มเติมได้แต่ก็ง่ายในการก่อสร้าง ส่วนเรื่องของความแข็งแรงนั้นมั่นใจได้เป็นอย่างดี
Timeline : 2-4 week/unit
Highlight : ติดตั้งประกอบได้อย่างรวดเร็ว รื้อประกอบใหม่ได้
Limitation : ไม่เหมาะในการปรับแบบจากอาคารเดิม
เรียกได้ว่าเป็นน้องใหม่ไฟแรงในเมืองไทยเลยทีเดียวกับระบบก่อสร้างที่ชื่อ Modular หรือบ้านกึ่งสำเร็จรูปอีกรูปแบบซึ่งมีความแตกต่างจากบ้านน็อคดาวน์ในหลายจุด เล่าแบบง่ายๆ ให้เป็นภาพชัดๆ คือระบบนี้เสมือนตัวต่อเลโก้ที่นำชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบกัน สามารถขยายขนาดได้เรื่อยๆ โดยที่สามารถปรับรูปแบบฟังก์ชั่นภายในได้ตามที่ต้องการ ตัวอาคารจะถูกออกแบบในสเกลที่พอเหมาะเป็นขนาดมาตรฐานของวัสดุซึ่งช่วยลดขยะจากวัสดุก่อสร้างได้ ใช้ระยะเวลาน้อย ระบบโมดูล่าจำเป็นจะต้องมีการลงเสาเข็มเพื่อรากฐานที่มั่นคงในขณะที่ส่วนอื่นๆ สามารถถอดประกอบได้ใหม่ตามความต้องการ โดยชื่อที่คุ้นหูกันดีคือบ้าน SCG-Heim ซึ่งใช้ระบบภายในจากประเทศญี่ปุ่น และก่อสร้างด้วยระบบโมดูล่า
Timeline : 3 Month/unit
Highlight : ถูกออกแบบให้ใช้ประโยชน์ในทุกส่วนอย่างครบครัน
Limitation : ราคาค่อนข้างสูงกว่าระบบอื่นๆ
ถ้าไม่พูดถึงระบบ Prefab หรือ Prefabrication เลยก็คงไม่ได้ การก่อสร้างระบบนี้มีมาตั้งอดีตอย่างพีรามิดที่เมืองกีซ่า ประเทศอิยิปต์ก็ใช้ระบบนี้ก่อสร้าง Prefab คือการนำชิ้นส่วนที่ถูกออกแบบไว้แล้วไปประกอบกันที่หน้างาน โดยสิ่งก่อสร้างดังกล่าวมักจะมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะขนย้าย อย่างสะพานขนาดใหญ่ หรืออาคารสูงหลายสิบชั้น ซึ่งความสะดวกสบายดังกล่าวถูกนำมาใช้กับการก่อสร้างที่อยู่อาศัย อย่างบ้านจัดสรร โดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ๆ ในเมืองไทยอย่าง พร๊อพเพอร์ตี้เพอร์เฟค แลนด์แอนด์เฮ้าส์ แสนสิริ พฤกษา ต่างเปลี่ยนมาใช้ระบบก่อสร้างแบบ Prefabrication ทำให้การสร้างบ้านหนึ่งหลังสมบูรณ์อย่างรวดเร็ว
Timeline : 2-3 Month/unit
Highlight : ได้สเปซการใช้งานในบ้านที่กว้างไม่มีเสาหรือคานมาบดบัง
Limitation : การต่อเติม ทุบรื้อ ต้องอยู่ในการดูแลของวิศวกร
มาถึงเทรนด์ใหม่สำหรับคนไทยกับบ้านคอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนฟังก์ชั่นของตู้คอนเทนเนอร์เก่านำมาใช้ประโยชน์อย่างอื่น โดยส่วนมากนิยมสร้างเป็นพื้นที่สำหรับทำธุรกิจ อย่างคาเฟ่ โรงแรมรีสอร์ต ซึ่งการนำตู้คอนเทนเนอร์กลับมาใช้ใหม่จะต้องมีการปรับปรุงหลายขั้นตอน ตั้งแต่การจัดการเรื่องสนิม ติดตั้งฉนวนกันร้อนกันเสียง การเพิ่มช่องประตูหน้าต่าง และติดตั้งระบบปรับอากาศภายในรวมถึงระบบไฟฟ้าด้วย ขนาดมาตรฐานจะมี 2 ไซส์ด้วยกันคือ 20 ฟุต และ 40 ฟุต
Timeline : 7-14 day/unit
Highlight : ติดตั้งได้รวดเร็วขนย้ายได้คล่องตัวไม่ต้องมีงานโครงสร้างเสาเข็ม
Limitation : ปัญญาเรื่องเสียง ความร้อน และขนาดที่เป็นไซส์มาตรฐาน
Story : ยุภาวดี บุญภา
Photographer : ฝ่ายภาพไลฟ์แอนด์โฮม