“อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง” คงเป็นอีกหนึ่งความฝันของใครหลายคน และก็มีอีกหลายต่อหลายคนเช่นกันค่ะที่ยังคงเป็นกังวลใจ และเกิดคำถามผุดขึ้นมาในหัวเต็มไปหมดไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี แม้จะทำงานเก็บเงินมาอย่างยาวนานก็ยังไม่มั่นใจว่าจะผ่านเกณฑ์การกู้ซื้อบ้านหรือไม่ และจะสามารถขอวงเงินได้สูงสุดได้แค่ไหน หรือแม้แต่การผ่อนชำระในแต่ละเดือนที่เราจะต้องจ่ายเองก็ตาม
ทั้งนี้ส่วนใหญ่ในแต่ละธนาคารก็มีรูปแบบในการให้สินเชื่อที่ให้ข้อเสนอแตกต่างกันออกไป โดยอาจมีหลักเกณฑ์ในการประเมินคุณสมบัติของผู้กู้ เช่นรายได้ของผู้กู้ เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับวงเงินที่ขอกู้ รวมไปถึงความสามารถในการผ่อนชำระตามที่ธนาคารกำหนดไว้ ซึ่งทุกคนที่ทำเรื่องสินเชื่อเพื่อบ้าน ก็ใช่ว่าจะสามารถกู้ได้หรือกู้เท่ากันทุกคน Ideas for Home จึงขอหยิบรายละเอียดของสินเชื่อบ้านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ตามพันธกิจหลัก “ทำให้คนไทยมีบ้าน” เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการตัดสินใจในกรณีที่ต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยบนที่ดินของตัวเอง พร้อมทั้งตารางประเมินความสามารถทางการเงินเบื้องต้นมาฝากกันด้วยค่ะ
วงเงินให้กู้
สำหรับผู้ที่ต้องการที่จะปลูกสร้างที่อยู่อาศัยบนที่ดินของตนเอง หรือบนที่ดินจัดสรรก็ตาม ทางธนาคารอาคารสงเคราะห์จะพิจารณาตามลักษณะที่อยู่อาศัย รวมไปถึงความสามารถในการผ่อนชำระคืนโดยประเมินจากอาชีพ รายได้ และมูลค่าของหลักประกัน รวมทั้งราคาประเมินของอาคาร และงบประมาณการปลูกสร้าง ธนาคารจะพิจารณาให้วงเงินสินเชื่อได้ไม่เกิน 85% ของราคาประเมินที่ดินและอาคารที่ปลูกสร้าง หรือไม่เกิน 100% ของอาคารที่ปลูกสร้าง วงเงินนั้นจะกู้ได้เงินงวดผ่อนชำระรายเดือนต้องไม่เกิน 1 ใน 3 ของรายได้สุทธิต่อเดือน หรือหากผู้กู้ใช้สิทธิสวัสดิการเงินงวดผ่อนชำระรายเดือนต้องไม่เกิน 80% ของเงินเดือนสุทธิ นอกจากนั้นก็ต้องเตรียมเอกสารหลักประกัน เช่น สำเนาโฉนดทีดิน แบบแปลนปลูกสร้าง สัญญาจ้างก่อสร้างอาคาร ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือคำขออนุญาต เป็นต้น โดยระยะเวลาในการกู้สูงสุดอยู่ที่ 30 ปี และอายุของผู้กู้รวมกับจำนวนปีที่ขอกู้จะต้องไม่เกิน 70 ปี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นไปตามประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคาร ซึ่งธนาคารมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษสำหรับให้เลือกใช้ได้หลากหลายแบบ
เอกสารประกอบการกู้ สิ่งสำคัญในการกู้ซื้อบ้านอันดับต้นๆ คือการจัดเตรียมเอกสารถูกต้องและครบถ้วนตามที่สถาบันการเงินกำหนดไว้จะช่วยให้การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเป็นไปอย่างรวดเร็วและไม่ต้องเสียเวลาในการส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ยุ่งยากภายหลัง โดยเอกสารที่ต้องเตรียมนั้นหลักๆ มีดังนี้
เอกสารแสดงรายได้ ประกอบด้วย หนังสือรับรองเงินเดือน หรือ หนังสือรับรองเงินเดือนแบบใช้สิทธิสวัสดิการของหน่วยงาน, สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 3 – 6 เดือน, สมุดบัญชีเงินเดือนย้อนหลัง 6 -12 เดือน กรณีมีอาชีพประจำ หากประกอบอาชีพอิสระ แสดงสำเนาทะเบียนการค้า หรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท, รายชื่อผู้ถือหุ้น, สำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี, หลักฐานการเสียภาษี เช่น ภ.พ. 30 เป็นต้น, รายการเดินบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 12 เดือน, รูปถ่ายกิจการ 4-5 ภาพ และแผนที่ตั้งกิจการโดยสังเขป
เอกสารแสดงข้อมูลส่วนตัว ประกอบด้วย บัตรประชาชน หรือบัตรข้าราชการ, ทะเบียนบ้านทุกหน้า, ทะเบียนสมรส / ทะเบียนหย่า / ใบแจ้งความการแยกกันอยู่, ใบเปลี่ยนชื่อ / นามสกุล
เอกสารหลักประกัน ไม่ว่าจะเป็น สำเนาโฉนดที่ดิน ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือคำขออนุญาต, แบบแปลนก่อสร้างอาคาร สัญญาจ้างก่อสร้างอาคาร, หลักฐานการเป็นเจ้าของอาคาร (หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินฉบับสำนักงานที่ดิน ท.ด.13 หรือใบแจ้งเลขหมายประจำบ้าน)
* ทั้งนี้หากมีผู้กู้ร่วม จะต้องให้ผู้กู้ร่วมมายื่นคำขอกู้พร้อมหลักฐานแสดงรายได้และเอกสาร ส่วนตัวของแต่ละท่านด้วย
วงเงินการผ่อนชำระ และวงเงินกู้สูงสุด
เบื้องต้นการขอกู้ซื้อบ้านนั้นอาชีพที่ค่อนข้างได้เปรียบคือพนักประงานประจำ ด้วยรายได้ที่มีความมั่นคงแน่นอน สามารถตรวจสอบง่ายๆ จากสมุดบัญชีเงินเดือนย้อนหลัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้กู้จะได้วงเงินมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับเงินงวดผ่อนชำระสูงสุดที่ผู้กู้สามารถผ่อนได้ต่อเดือน โดยธนาคารจะประเมินจากรายได้และหนี้สินที่อยู่ในระหว่างการผ่อนชำระของผู้กู้ควบคู่ไปด้วย
การจะมีบ้านสักหลังนั้นคงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องไตร่ตรองกันอยู่นาน ผู้เขียนหวังว่าข้อมูลสินเชื่อบ้านธนาคารอาคารสงเคราะห์ คงเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจได้ไม่น้อยนะคะ
Story : ศิวนาถ เสนาประทุม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สินเชื่อบ้านธนาคารอาคารสงเคราะห์